แม้จะเป็นสตูดิโอออกแบบที่ก่อตั้งได้เพียง 3 ปี แต่ผลงานหลาย ๆ ชิ้นของ PHTAA นั้น กลับเต็มไปด้วยความโดดเด่น ด้วยแนวคิดการออกแบบที่เรียบง่าย พลิกแพลงจากสิ่งที่เห็น จนได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่เกินคาด สามารถขยายไปสู่งานออกแบบที่เป็นภาคต่อหลาย ๆ งานได้อย่างน่าสนใจ เช่น พาวิเลียนในงาน Design Week Chiang Mai, Camp Silom Complex, โชว์รูม Jim Thompson, Keaton Tailor, คาเฟ่ Yardbird ฯลฯ วันนี้ room มีโอกาสได้มาพูดคุยกับ 3 ผู้ก่อตั้ง ทั้งเรื่องไอเดียการออกแบบ การทำงานตามสไตล์ของคนรุ่นใหม่ และผลงานที่พวกเขาประทับใจ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design
PHTAA เป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน ก่อตั้งโดย 3 นักออกแบบคือ คุณวิท-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, คุณพลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และคุณโต๋-ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ สตูดิโอของพวกเขาตั้งอยู่กลางซอยประดิพัทธ์ 17 มีลักษณะเป็นตึกแถวยาวสีขาวที่แบ่งซอยออกเป็นห้องให้เช่า ส่วนที่ใช้เป็นสำนักงานออกแบบตั้งอยู่บนชั้น 2 เปิดรับแสงสว่างและวิวธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ ขณะที่เราเริ่มต้นบทสนทนากับดีไซเนอร์ทั้งสามอย่างเป็นกันเอง
room : อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมารวมตัวกันครั้งนี้
Ponwit Rattanatanatevilai : “ผมกับพลอยเริ่มทำโปรเจ็กต์ด้วยกันมาก่อน เป็นรีสอร์ทเล็ก ๆ ที่จ.เลย ตอนนั้นเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ อยากมีตัวตนจึงลองหาอะไรทำ พอทำไปสักพักพลอยก็ชวนโต๋มาร่วมด้วย เพราะเขาทำงานอยู่ที่ P49 มาด้วยกัน งานแรกที่พวกเราร่วมกันทำคือโรงแรมที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นทุกคนยังกระจัดกระจายกันอยู่เลย”
Harisadhi Leelayuwapan : “ตอนที่ทำโปรเจ็กต์กับวิทสมัยแรก ๆ เหมือนเป็นการรับงานส่วนตัว แล้วพบปัญหาว่าเราควบคุมบางอย่างไม่ค่อยได้ ก็เลยเป็นเหตุผลให้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาด้วยกัน และตอนนั้นเป็นช่วงที่พลอยเรียนจบจาก Domus พอดี”
Ponwit Rattanatanatevilai : “ตอนนั้นเราคุยกับลูกค้ายากมาก ถ้าไม่ได้อยู่ในรูปแบบของบริษัท รวมถึงเรื่องของอายุอาจทำให้เขาคิดว่าเรายังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ซึ่งจริง ๆ เราอยากให้เขามองกันที่ผลงาน หรือสิ่งที่เราทำมากกว่า ช่วงเเรก ๆ จึงต้องใช้พลังในการโน้มน้าวลูกค้าเยอะมาก”
Room : เมื่อมารวมตัวกันในชื่อของ PHTAA พวกคุณทำงานกันอย่างไรบ้าง
Ponwit Rattanatanatevilai : “เราเน้นวิธีการเค้นไอเดียจากแต่ละคน และน้อง ๆ ในทีม เช่น ถ้าคุณทำโปรเจ็กต์หนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำคนเดียว ทุกคนต้องมีส่วนในการคอมเม้นท์ หรือจู่ ๆ คุณอาจจะโพล่งไอเดียสักอันหนึ่งขึ้นมา คนที่ทำโปรเจ็กต์นั้นอยู่ อาจจะรู้สึกไม่ดี แต่พอผ่านไป เขาจะรู้ว่าคอมเม้นท์นั้นมีประโยชน์”
Thanawat Patchimasiri : “ออฟฟิศเราไม่เหมือนการทำงานในออฟฟิศขนาดใหญ่ที่จะต้องมีกระบวนการชัดเจน เราทำงานเเบบประยุกต์ไปตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะโปรเจ็กต์เล็กหรือใหญ่ บางทีเราก็ให้สถาปนิกมาทำอินทีเรียร์ หรือให้อินทีเรียร์ไปทำงาน Space Planning บ้าง พยายามทำหลาย ๆ อย่างเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ให้รู้สึกว่ามีสิ่งท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาให้เราจัดการ นอกเหนือจากสิ่งที่เราคุ้นเคย”
Ponwit Rattanatanatevilai : “การทำงานแบบนี้มันดีนะ งานดีเทลเล็ก ๆ บางอันเราก็ให้สถาปนิกคิด แล้วมันเกิดอะไรบางอย่างที่เราไม่ได้คาดไว้ตั้งแต่แรก เป็นตรรกะคนละแบบ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ สเกล ออกมาค่อนข้างโอเคเลยทีเดียว”
PHTAA มีแนวคิดในการออกแบบ 3 ข้อ คือ Sculptural สิ่งที่คิดขึ้นมาอาจไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์มากนัก เพียงแค่ความสวยงามก็ถือว่าเป็น Sculpture ที่มีประโยชน์ในตัวแล้ว Autonomous คือ อิสระ พลวิทย์เล่าถึงงานพาวิเลียนในงาน Design Week Chiang Mai 2016 ว่าเป็นตัวอย่างของ Autonomous ที่แท้จริง ผลงานชิ้นนี้ เป็นการนำบัวที่ปกติใช้ตกแต่งผนังมาตัดเป็นท่อน ๆ แล้วประกอบขึ้นใหม่ จนกลายเป็นดีเทลแปลกตาในรูปแบบที่ไม่เคยเห็น
“เราไม่ได้คิดว่าบัวจะต้องทำอะไรได้อย่างเดียว แต่อาจนำไปทำเป็นตู้ หรือชั้นวางของก็ได้ จากหนึ่งดีเทลเราสามารถสร้างสรรค์ไอเดียกลายเป็นผลงานชิ้นใหม่ ๆ ได้หลากหลาย”
สุดท้ายคือ Ambiguous หมายถึง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็นความแปลกใหม่ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าแปลกอย่างไร มีความตะขิดตะขวงใจอยู่ลึก ๆ คล้ายมีภาพจำบางอย่างในหัว แล้วจู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมา
“ยกตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งของ Frank Lloyd Wright ชื่อ Ennis House ในภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner ภาคเก่า มีฉากหนึ่งที่แฮริสัน ฟอร์ดอยู่ในบ้านหลังนั้น แล้วทุกอย่างดูเป็น Cyber Punk คือมีความเป็นบ้านเเต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งมันพร้อมที่จะโผล่ออกมาเมื่อไหร่ก็ได้เเบบไม่ให้รู้ตัว เช่นเดียวกันกับขณะทำงานบางทีก็อาจมีดีเทลอะไรไม่รู้โผล่ขึ้นมา แล้วสามารถนำมาต่อยอดได้จนสำเร็จ” พลวิทย์ อธิบาย
room : เวลาตัดสินว่างานชิ้นใดผ่าน ตรงตามเเนวคิดพื้นฐานทั้ง 3 ข้อหรือไม่ คุณตัดสินอย่างไร
Ponwit Rattanatanatevilai : “ถ้าของคนไหนนำเสนอแล้วไอเดียดี เราก็นำไอเดียนั้นไปพัฒนาต่อ บางทีความคิดของเด็กอาจจะชนะ เราก็ต้องยอม เพราะไอเดียของเขาดีกว่าจริง ๆ ผมไม่ใช่คนที่จะบอกว่าไอเดียนี้ดูเป็นคุณจัง ไม่เป็นผมเลย ไม่เป็นออฟฟิศเราเลย มันเป็นความคิดที่ค่อนข้างแคบเกินไป และถ้าทำแบบนั้นเราก็จะได้แต่งานเดิม ๆ”
Harisadhi Leelayuwapan : “อาจจะพูดได้ว่าเราไม่ได้มีสไตล์ที่ถูกกำหนดไว้แต่แรก ดังนั้นเราจึงเปิดโอกาสให้ทุกความคิดเห็นอย่างเต็มที่”
room : งานของ PHTAA ดูมีเส้นสายที่คลีน สะอาดสะอ้าน นั่นเป็นคาแร็คเตอร์ของพวกคุณหรือเปล่า
Ponwit Rattanatanatevilai : “จริง ๆ ผมเป็นคนทำงานที่มีเส้นสายเยอะ ๆ มาก่อนเพราะเคยทำที่ Vaslab รวมทั้งได้แรงบันดาลใจมาจากพาร์ตเนอร์อย่างคุณโต๋ ซึ่งเขาทำงานได้เรียบร้อยและคลีนมาก ๆ เรียบแต่ดีเทลแน่น ส่วนพลอยเป็นคนที่รู้ว่าแค่ไหนถึงจะพอ พอเราได้มามาทำงานร่วมกันจึงกลายเป็นว่างานของเราทั้ง 3 คน มีความเรียบ แต่มีรายละเอียด”
room : แต่ละคนมีโปรเจ็กต์ที่ชอบเป็นพิเศษบ้างไหม
Thanawat Patchimasiri : “ผมชอบโชว์รูม Jim Thompson เพราะเขาให้โอกาสเราได้คิดเต็มที่ ตอนแรกถ้าใครมอง Jim Thompson จะเข้าใจว่าเป็นไหมไทยเต็มไปด้วยความหรูรา ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจเข้าไม่ถึง เราจึงพลิกเเพลงไอเดียจากฝาบ้านไทย 4 ตอนที่ทำจากไม้ เปลี่ยนมาเป็นแผ่นหินอ่อนซ้อนกันเเทน พอคนเห็นก็เข้าใจได้ว่ามีความเป็นไทยพร้อมกับดูหรูหราไปในตัว นอกจากนี้เรายังทุบผนังและเจาะพื้นใหม่ทั้งหมด ด้วยความที่ทำงานสถาปัตย์และอินทีเรียร์ผสมกัน เลยมองสเปซเป็นอย่างแรก วัสดุก็เปลี่ยนใหม่ ส่วนที่เป็นคาเฟ่บริเวณชั้น 1-2 ทุกอย่างเป็นไม้ทั้งหมด เเต่พอขึ้นไปชั้น 3-5 จะเริ่มมีการผสมผสานวัสดุที่ให้ความรู้สึกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นปูน คอนกรีต เหล็ก และไม้ “
Harisadhi Leelayuwapan : “พลอยชอบความเป็นซีรี่ส์ที่เป็นภาคต่อจากพาวิเลียน ศาลาบัวขาว ที่ Chiang Mai Design Week ตอนแรกที่ทำ นึกถึง Architecture Elements ในมุมมองใหม่ เพราะบัวปกติแล้วจะใช้เป็นเชิงผนังกับพื้น ฟังก์ชันมีแค่ 2 อย่างนี้ แต่พาวิเลียนเป็นโปรเจ็กต์ทดลองที่เราได้ลองใช้บัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งถ้าไม่พูดก็อาจจะไม่รู้เลยว่านั่นคือบัว เชื่อมต่อไอเดียมาสู่โปรเจ็กต์รีเทลร้าน Camp Silom Complex ซึ่งเรานำบัวมาซ้อนกันทั้งผนัง ส่วนซีรี่ส์ถัดมาคือเก้าอี้ ซึ่งใช้บัวเหมือนกันทั้ง 2 ตัว เเต่ต่างกันตรงวัสดุที่เลือกใช้ โดยตัวหนึ่งทำมาจากบัวพอลิคาร์บอเนตสีขาว ส่วนอีกตัวหนึ่งทำจากบัวไม้สีธรรมชาติ เป็นการเปรียบเทียบกันเชิงวัสดุ ที่บอกเล่าเรื่องราวองค์ประกอบของงานสถาปัตย์ฯ กับเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ให้เกิดทางเลือกวัสดุรูปแบบใหม่ ๆ”
Ponwit Rattanatanatevilai : “ผมชอบ Keaton Tailor เป็นร้านสูทที่ดูวินเทจ ตอนแรกลูกค้าอยากได้กระจกทั้งหมด ผมบอกเขาว่าถ้าคุณจะเป็น Secret Tailor หรือต้องการให้ดูน่าสนใจ คนเข้ามาน่าค้นหา ไม่ควรจะเปิดหมดทุกอย่าง แต่เราต้องหาเหตุผลหรืออะไรบางอย่างเพื่อโน้มน้าวเขา ตอนนั้นเราอยากจะหาวิธีใหม่ ๆ จึงได้หยิบยกไดอะแกรมที่เกิดจากการทอผ้าแบบโบราณ ถอดเเบบออกมาเป็นฟาซาด โปรเจ็กต์นี้พอทำเสร็จทุกคนแฮปปี้มาก และได้รับความสนใจจากสื่อในการนำเสนอค่อนข้างเยอะ”
room : เรียกได้ว่า PHTAA มีการทดลองเพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
Ponwit Rattanatanatevilai : “เราทำเพื่อตอบสนองสิ่งที่เราออกแบบ หลัก ๆ คือสถาปัตยกรรมกับอินทีเรียร์ดีไซน์ ทั้งหมดนั้นจะมาพร้อมโปรเจ็กต์ และมันก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของการโน้มน้าวลูกค้าที่เราทำขึ้นมา เราต้องใช้พลังอย่างมากในการพูดคุยว่าทำได้จริง ๆ นะ บางทีก็เหนื่อยแต่ก็สนุกดีครับ ผมว่ามันคือการก้าวออกจากเซฟโซน ซึ่งสถาปนิกต่างก็มีเซฟโซนของเขาอยู่เเล้ว เเต่ต่างจากเราที่พยายามจะก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นไปให้ได้ ตามรูปแบบการทำงานของเราเอง”
// ก่อนหน้าที่ทั้ง 3 คนจะมารวมตัวกันในนามของ PHTAA นั้น คุณวิทเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ที่บริษัทในประเทศฮ่องกงอยู่ 1 ปี คุณพลอยเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำงานที่ P49 ได้ 2 ปีก่อนจะออกไปเรียนต่อที่ Domus Academy ประเทศอิตาลี ส่วนส่วนคุณโต๋ เรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานที่ P49 ประมาณ 5 ปี จนกระทั่งลาออกเพื่อมาร่วมกันก่อตั้งบริษัทในชื่อ PHTAA (พี เอช ที เอ เอ) ซึ่งย่อมาจากตัวอักษรนำหน้าชื่อของแต่ละคน คือ P พลวิทย์ H หฤษฎี และ T ธนวรรธน์ ส่วน AA ย่อมาจาก and associate //
เรื่อง: วีณา บารมี และสมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ