สัญญาณบ่งบอกถึงการตื่นตัวของผู้ผลิตและนำเข้า รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตอนนี้
เป็นที่ทราบกันว่า มลพิษ (Pollution) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นกำเนิดมาจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็หนีไม่พ้นเขม่าควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
ปัจจุบันหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มมีการออกมาตรการเข้มข้นเพื่อลดจำนวนการปล่อยก๊าซเหล่านี้ลงอย่างต่อเนื่อง ในบทความเรื่อง Four major cities move to ban diesel vehicles by 2025 ในหมวด Science & Environment ของ www.bbc.com ที่เขียนโดย Matt McGrath ระบุว่า 4 เมืองใหญ่อย่าง เม็กซิโก ซิตี้, มาดริด, ปารีส และเอเธนส์ ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่าหลังจากปี 2025 เป็นต้นไป พวกเขาจะห้ามไม่ให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเมืองอีกต่อไป ตามข้อตกลง C40 จากการประชุมสหประชาชาติ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาเร่งให้การพัฒนาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศ มีการตื่นตัวและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเสียที
และนั่งเองทำให้บริษัทผู้พัฒนาด้านระบบการคมนาคมขนส่งและยนตกรรมในปีนี้ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยนตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีโดยไม่ใช้น้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเราได้เห็น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ถือกำเนิดขึ้นมาและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับในประเทศไทยเองก็มีการตื่นตัวไม่แพ้ประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกา ดังจะเห็นได้จากหลายค่ายที่นำเข้ารถยนต์รวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์ของไทยเองได้มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกภายในบูธ งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 หรือ Bangkok International Motor Show 2018 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. ศกนี้
FOMM One รถยนต์ไฟฟ้าลอยน้ำสำหรับคนเมือง
ถ้าหากเรื่องใกล้ตัวอันแสนตลกร้ายของคนกรุงเทพฯ คือการเผชิญปัญหาน้ำรอการระบายในวันที่ฟ้ารั่ว เกิดฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก FOMM One รถยนต์ไฟฟ้าคันจิ๋วสัญชาติญี่ปุ่นจากค่าย FOMM ที่มีน้ำหนักเพียง 445 กิโลกรัม (ไม่นับรวมแบตเตอรีและอุปกรณ์เสริม) คันนี้ น่าจะช่วยเยียวยาหรือแก้ปัญหาโรคกลัวน้ำในรถยนต์ทั่วไปได้อยู่ไม่น้อย
ด้วยเทคโนโลยีที่มาพร้อมตัวรถ อาทิ การติดตั้งด้วยแบตเตอรี่ Li-ion ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ พร้อมรองรับด้วยระบบ Battery Cloud ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำงานของแบตเตอรี่ด้วยสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ความพิเศษของ FOMM One คือการออกแบบโครงสร้างของรถยนต์ที่ช่วยป้องกันน้ำเข้าภายในตัวรถ ถึงแม้ไม่ใช่รถยนต์สะเทินสะเทินบกแต่ด้วยวงล้อที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขัง ตัวรถก็ยังคงสามารถเคลื่อนที่บนน้ำได้ในอัตราความเร็ว 2 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Compact EV Car รุ่นนี้มีความยาว 2,585 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,295 มิลลิเมตร และความสูง 1,560 มิลลิเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 4 ที่นั่ง FOMM One จึงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกระทัดรัดที่เหมาะสำหรับการใช้งานในระยะทางไม่ไกลมากนัก ซึ่งภายในงานนี้ก็ได้มีการเปิดให้จองกันไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ 2 พันคันแรกในราคาพิเศษจากปกติสนนราคาอยู่ที่ราว 6.6 แสนบาท
BYD e6 รถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ
BYD เป็นอีกหนึ่งค่ายที่เพิ่งจะเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยได้ไม่นาน หลังจากก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 1995 และนำรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นมาจัดแสดงครั้งแรกในงานนี้
BYD หรือ Build Your Dream ซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่จากประเทศจีน เพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้พัฒนาต่อยอดมาสู่ธุรกิจผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% โดยมุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งในระบบสาธารณะเป็นหลัก โดยเฉพาะรุ่น BYD e6 รถยนต์ไฟฟ้าแบบ EV SUV ที่สามารถปรับโหมดการขับขี่ได้ทั้งแบบอีโค่ และแบบสปอร์ตเพื่อให้เหมาะต่อการใช้งานของผู้ขับขี่
BYD e6 นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาวจีนนิยมนำมาใช้เป็นรถแท็กซี่ ผ่านการทดสอบสมรรถนะความทนทานต่อการใช้งานยาวนานกว่า 7 ปี โดยสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 1 ล้านกิโลเมตร เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ lithium iron phosphate ขนาด 80 kWh ซึ่งมีความทนทานและรับประกันการใช้งานเต็มประสิทธิภาพนานกว่า 10 ปี โดยในการใช้งานจริง BYD e6 สามารถวิ่งได้นานกว่า 350 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยเครื่องชาร์จขนาด 40 กิโลวัตต์ โดยที่ใช้เวลาในการชาร์จราว 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือถ้าเป็นเครื่องชาร์จขนาด 7 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ จะใช้ระยะเวลาในการชาร์จจนเต็มนานกว่า 11 ชั่วโมง
รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย โดยฝีมือคนไทย MINE Mobility
ในงานนี้นับเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่มีการเปิดตัวรถต้นแบบของค่ายรถยนต์สัญชาติไทยน้องใหม่ MINE Mobility ที่มีคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ว่า Mission No Emission ซึ่งมุ่งเน้นการลดมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ทั้งประหยัดและปลอดภัย
MINE Mobility อยู่ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทแม่ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B100 อย่าง บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) ซึ่งมีกลุ่มบริษัทย่อยในธุรกิจอื่นๆ รองลงมาอีก เช่น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน, ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ และธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
คุณธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ซีอีโอแห่ง MINE Mobility Research ให้สัมภาษณ์กับ room ว่า “เราเริ่มเข้ามาสัมผัสธุรกิจนี้ได้ประมาณปีกว่าๆ ผมมองว่าจากธุรกิจสถานีชาร์จฯ ทำให้คนเริ่มตื่นตัวในแง่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังจะมา ประกอบกับ Road map ของแต่ละประเทศมีทิศทางชัดเจน บ้านเราเองตอนนี้นโยบายของภาครัฐอย่าง Thailand 4.0 ก็มีส่วนช่วยในเรื่องการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่มาที่เรามุ่งมั่นตั้งใจทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยเกิดขึ้น และการนำมาโชว์ในงานนี้ก็ได้กระแสตอบรับดีเกินคาด ข่าวที่ออกไปก็เป็นไปในแง่บวก ช่วยทำให้มุมมองของคนเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่เราภาคภูมิใจคือทีมงานที่เรามีทั้งหมดเป็นคนไทยได้แสดงความสามารถออกมาเต็มที่
“ด้านราคาอย่างรุ่น City EV Concept เราพยายามกำหนดราคาไม่ให้เกิน 6 แสนบาท เพราะว่าสิ่งหนึ่งคือเราอยากให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และราคาเป็นมิตรภาพ ซึ่งปัจจัยที่เราขายได้ถูกกว่าคือเรามีโรงงานของตัวเอง และแบตเตอรี่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งเรามีแนวร่วมที่เป็นคนไทยที่พร้อมก้าวไปด้วยกัน สามารถพูดได้ว่านี่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยคันแรกได้เต็มปาก มีหลายคนที่คิดจะทำแต่ไม่มีโอกาส แต่เรามายืนอยู่ในที่ที่มีโอกาส ส่วนหนึ่งผมมองว่าทีมงานเราน่าจะภาคภูมิใจ เพราะเราทำด้วยใจ และอยากเห็นรถของคนไทยวิ่งอยู่บนท้องถนนแล้วออกไปสู่ตลาดโลก”
ในการก้าวเข้ามาสู่ตลาดรถยนต์ครั้งนี้ MINE Mobility มีการใช้ทีมวิจัยและพัฒนาในกลุ่มบริษัทย่อยจาก MINE Mobility Research Co., Ltd. ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมดผลิตและพัฒนารถยนต์ต้นแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบเจ้าแรกของไทยออกสู่ตลาด จำนวน 3 รุ่นด้วยกัน ประกอบด้วย รุ่น City EV Concept ดีไซน์เรียบโก้สำหรับคนเมือง, รุ่น Sport EV Concept ดีไซน์โฉบเฉี่ยวสำหรับคนชอบความทันสมัยสไตล์สปอร์ต และรุ่น MPV EV- Concept รถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์คันใหญ่สำหรับครอบครัว
นอกจากนี้แล้ว EA ยังเป็นผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ซึ่งตอนนี้มีอยู่ราว 100 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย EA ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดสถานีบริการเพิ่มขึ้นให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้
นอกจาก 3 แบรนด์ที่กล่าวไปแล้ว ภายในงานนี้ยังมี Nissan ที่เตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ออกสู่ตลาด EV ในเร็วๆ นี้ และมีการนำรถออกมาอวดโฉมให้ชมกันก่อนในงานนี้ด้วย โดยมีสนนราคาเริ่มต้นอยู่ที่เฉียดๆ 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับอีกหนึ่งค่ายยักษ์จากเกาหลีใต้ KIA Motors ที่ถึงแม้จะไม่ได้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงในงานนี้แต่ก็มีแผนเตรียมผลักดันรถยนต์ KIA Soul EV บุกตลาดเมืองไทย ออกจำหน่ายในราคา 2 ล้านต้นๆ ตบท้ายด้วย BMW ที่คลอดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกะทัดรัดรุ่นแรกอย่าง BMW i3 และ i3s ออกมาก่อนหน้านี้จนมียอดสั่งจองถล่มทลายก็มีสนนราคาอยู่ที่ 1.4 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละค่าย ที่บ่งบอกได้ถึงการตื่นตัวของผู้ผลิตและนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น รวมถึงเป็นสัญญาณบ่งบอกทิศทางของตลาดยานยนต์ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะก้าวมาเป็นทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสมบูรณ์
เรื่อง : Nawapat D”
ภาพ : ศุภวรรณ