แม้จะดูเป็นนามธรรม แต่อีกนัยหนึ่งก็หมายถึงการนำบริบทของสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบอย่างตรงไปตรงมานั่นเอง จากโจทย์ความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้านทำให้การออกแบบโครงการนี้มีปัจจัยเรื่องมุมมองเป็นสำคัญ ผนังแต่ละด้านของบ้านจึงได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านมุมมองจากอาคารที่อยู่รอบ ๆ ส่วนวิธีการที่จะปรุงที่ว่างหรือสเปซภายในผนังทั้ง 4 ด้าน ออกมาให้เหมาะกับการใช้งานอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของสถาปนิกซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น “วาทยากร”
จากถนนทางเข้าทางทิศใต้จะเจอกับผนังที่ถือเป็นไฮไลท์ หรือผนังเสริมรูปตัวแอล (L) ซึ่งดูราวกับถูกยกลอยออกมาจากตัวบ้านบนชั้น 2 ให้ประโยชน์แก่บ้านได้อย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่นั่งเล่นชั้นล่างที่เชื่อมต่อกับส่วนรับประทานอาหาร ในการช่วยบังแดดทางทิศตะวันตก เปรียบให้เห็นภาพผนังนี้ก็เหมือนเรากำลังยกมือขึ้นบังแดด โดยยังสามารถมองออกไปเห็นสวนสีเขียวโล่งกว้างด้านอกได้ในระดับสายตา ในทางกลับกันก็ช่วยบังสายตาจากบ้านหลังอื่น ๆ และบังความร้อนไม่ให้เข้าสู่บ้านโดยตรง นอกจากนี้สถาปนิกยังกระเถิบผนังส่วนนี้ออกอีก 2 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้ แล้วกรุผนังกระจกสูงขึ้นไปจนถึงชั้น 2 หรือราว 6 เมตร เมื่อมองผ่านกระจกออกไปจะเห็นเงาของแสงแดดไล้ไปกับผนังด้านในเกิดแสงเงาที่มีมิติสวยงาม รับรู้ได้ถึงความรู้สึกโปร่งโล่ง
ส่วนการแบ่งฟังก์ชันพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ในบ้าน ได้รับการออกแบบให้กระจายอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสบายขณะใช้งานเป็นสำคัญ นอกจากชั้นล่างจะมีห้องนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหารที่เปิดรับวิวสวนสีเขียวได้รอบทิศทางทั้ง 4 ด้านแล้ว ยังมีห้องนอนแขกที่จัดไว้อย่างเป็นสัดส่วน ถัดมาที่ชั้น 2 ก็มีเพียงห้องนอนหลักของเจ้าของบ้าน กับห้องนอนอีก 1 ห้อง เผื่อไว้สำหรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวในอนาคต ความโดดเด่นของบ้านนี้จึงอยู่ที่การจัดวางฟังก์ชันเล็ก ๆ สำหรับครอบครัวเล็ก ๆ ของคนรุ่นใหม่ โดยเติมเต็มฟังก์ชันนั้นให้สมบูรณ์ด้วยวิธีการออกแบบที่ไม่ลืมที่จะผสานสิ่งแวดล้อมเข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างลงตัวสูงสุด ดังที่สถาปนิกทิ้งท้ายไว้ว่า
“การออกแบบหลัก ๆ ของการออกแบบบ้านหลังนี้คือเรื่องวิธีการบังแดดและการวางคอร์ต ถ้าเรามองจากแปลนก็จะเห็นว่าบ้านนี้มีลักษณะปลอดโปร่งทะลุถึงกันได้ทุกทิศทาง คือมีทั้งคอร์ตด้านนอกและด้านใน ผนังที่ใช้บังแดดด้านบนดูเหมือนเราใส่หมวแก๊ปให้บ้าน โดยยังสามารถมองออกไปเห็นวิวโล่ง ๆ ในระดับสายตาได้ แถมยังบังแสงจ้าจากพระอาทิตย์”
“บ้านนี้เต็มไปด้วย Passive Design หรือการออกแบบโดยใช้ระบบธรรมชาติเพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย แต่ก็ยังออกมาในสไตล์ที่เราชอบ ที่เจ้าของต้องการ เป็นการผสมผสานหลาย ๆ เรื่องเข้าด้วยกัน”
DID YOU KNOW?
ผนังบังสายตา
เนื่องจากต้องการความเป็นส่วนตัวอย่างสูง บ้านหลังนี้จึงใช้การทำผนังบังสายตาเป็นผนังทึบขนาดใหญ่ในจุดต่าง ๆ แล้วใช้เทคนิคการออกแบบมาช่วยไม่ให้บ้านทึบตัน เพื่อซ่อนสายตาจากเพื่อนบ้าน
แต่หากไม่ต้องการใช้ผนังทึบอย่างบ้านหลังนี้ ยังมีวิธีการอื่นที่ช่วยบังสายตาจากภายนอก แถมช่วยให้บ้านไม่ร้อนได้เช่นกัน เช่น การออกแบบผนังแบบระแนงกันแดด ซึ่งสามารถออกแบบได้หลากหลาย สำหรับวิธีที่จะแนะนำคือการทำเป็นผนังแบบ Double Skin หรือการทำผนังชั้นที่ 2 ให้บ้าน แทนที่จะมีผนังกรุกระจกหรือผนังปูนเพียงชั้นเดียว การทำผนังแบบระแนงอีกชั้นหนึ่งไว้ด้านนอก แล้วเว้นระยะห่างออกจากผนังบ้านจริงเล็กน้อยจะสามารถช่วยลดแสงและบังสายตาได้เป็นอย่างดี และเมื่อแสงส่องผ่านยังช่วยให้เกิดเงาตกกระทบลงบนพื้นผิวต่าง ๆ ของบ้าน สร้างมิติและลวดลายที่ชวนมองแตกต่างกันไปตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้คุณยังสามารถออกแบบผนังบังตาแบบเปิดได้ มีหลักการไม่ต่างจากผนังระแนง เพียงแต่นำไอเดียเรื่องการระบายลมมาใช้ร่วมด้วย โดยนิยมออกแบบให้ผนังที่ว่านี้อยู่ตรงกับทิศทางลม เมื่อเปิดประตูลมจะสามารถพัดผ่านเข้าออกได้อย่างทั่วถึงทั้งบ้าน ช่วยเรื่องการระบายอากาศและสุขภาวะที่ดี
ผนังอีกแบบที่คล้ายกับแบบบานประตูธรรมดาคือผนังบานเฟี้ยม ต่างกันตรงที่บานเฟี้ยมจะเป็นประตูพับที่เปิดออกได้จนสุด จึงนิยมใช้บานเฟี้ยมในส่วนที่ต้องการขยายพื้นที่ให้โปร่งโล่ง และเชื่อมส่วนใช้งานต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นระหว่างภายในกับภายใน หรือภายในกับภายนอก
หลักการของผนังบังสายตานั้นมีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องมีปัจจัยเรื่องแดด ลม ฝน เข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ตามสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เราเรียกการออกแบบนี้ว่า Tropical Design หรือ Tropical Architecture เน้นแนวคิดการออกแบบให้สอดรับกับสภาพแวดล้อม ความท้าทายจึงเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับงานออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้ลงตัวกับพื้นที่ตั้งและผู้ใช้งาน ภายใต้โจทย์เดียวกันคือการอยู่กับสิ่งแวดล้อมให้สบายสูงสุดนั่นเอง
ออกแบบ : IDIN Architects
อ่านต่อ งานออกแบบของ IDIN Architects
OUR SECOND HOME บ้านกล่องไม้กลางทิวเขา
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: Ketsiree Wongwan