ธนา อุทัยภัตรากูร กับหลักสูตรสถาปัตยกรรมคู่กับธรรมชาติ สถาบันอาศรมศิลป์

ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่ธรรมชาติ สถาบันอาศรมศิลป์

คุยกับ ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่กับธรรมชาติ คณะสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์


ประหยัด แข็งแรง ยืดหยุ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สารพัดคุณสมบัติของ “ไม้ไผ่” วัสดุที่เรารู้จักกันดีซึ่งถูกนำมาใช้สร้างที่อยู่อาศัยมาแต่โบราณ ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีส่วนช่วยให้ไม้ไผ่ยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในแวดวงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จากแต่เดิมที่มักถูกใช้เป็นเพียงส่วนประดับตกแต่งหรือเป็นศาลาขนาดย่อมๆ นำมาสู่ผลงานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ซึ่งแสดงการผสมผสานไม้ไผ่เข้ากับเทคโนโลยีและวัสดุใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมไม้ไผ่สมัยใหม่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกของช่าง และสถาปนิก  ในขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมไม้ไผ่อย่างจริงจังในไทยนั้นก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ความรู้อยู่ในที่ไกลกับช่างท้องถิ่นที่เข้าถึงได้ยาก หรืออาจเป็นเพียงส่วนประกอบของรายวิชาหนึ่งๆ และยังไม่เป็นหลักการเทียบเท่ากับเหล็กและคอนกรีตที่เรียนรู้กันเป็นหลักสูตรมาตรฐานมาเนิ่นนานกว่า

จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่วัสดุซึ่งมีมากมายรายล้อมเรากลับยังไม่ถูกศึกษาให้ลึกซึ้ง

คุณโจ้ – ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นผู้หนึ่งที่มีเห็นความสำคัญของวัสดุธรรมชาติชนิดนี้ และเป็นผู้ร่วมผลักดันหลักสูตรการเรียนรู้วัสดุและสถาปัตยกรรมธรรมชาติในสถาบันอาศรมศิลป์เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยจุดประสงค์คือการหวนให้ผู้เรียนรู้จักภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหาย และชวนให้ทำความเข้าใจวัสดุท้องถิ่น ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่าวัตดุอุตสาหกรรม

ไม่แต่เฉพาะไม้ไผ่ วัสดุธรรมชาติอื่นใดที่จะมีศักยภาพทดแทนวัสดุสมัยใหม่ได้ ก็เป็นจุดประสงค์ที่ทั้งเขาและสถาบันต่างให้ความสำคัญ

และมากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คุณค่าที่แฝงอยู่ในวัสดุประกอบสถาปัตยกรรมเหล่านี้ อาจชวนให้เรากลับมาทบทวนสิ่งที่ประกอบเป็นเราได้ลึกซึ้งกว่าที่คิดก็เป็นได้

ธนา อุทัยภัตรากูร
บรรยากาศในที่เรียน ของสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์

แตกกอจากดิน

“ก่อนหน้าที่ผมจะทำงานที่สถาบันอาศรมศิลป์ ผมทำโครงการบ้านดินมาก่อนตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ.2545 ทำแบบเต็มตัวอยู่ประมาณ 7 ปี เขียนหนังสือ เป็นวิทยากร ทำเว็บไซต์ สร้างเครือข่าย จัดอบรมทั่วประเทศ แต่สุดท้ายแล้วโครงการต้องหยุดลงเนื่องจากไม่มีเงินทุน สิ่งที่ผมได้จากการทำบ้านดินคือ ความมั่นใจว่าเราทุกคนมีศักยภาพในการสร้างบ้านเองได้ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่  บนฐานความเข้าใจธรรมชาติของวัสดุ และการอยู่อย่างเรียบง่าย

“สถาบันอาศรมศิลป์เอง ก็เน้นการออกแบบที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการถอดรหัสภูมิปัญญาในการออกแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม มาใช้ในการออกแบบอาคารสมัยใหม่ ซึ่งไม้ไผ่ก็ถือเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่แสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โครงการหอศิลป์ไม้ไผ่ เริ่มขึ้นใน ปีพ.ศ.2552 จากการเป็นฐานในการเรียนของนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งตอนนั้นคิดว่าอาคารไม้ไผ่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นน่าจะหาความรู้ได้ง่ายกว่าบ้านดิน แต่ปรากฏว่า คนรู้เรื่องนี้มีน้อย งานวิจัยต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ตเองช่วยให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่ทำให้เราสร้างได้จริง  จากการรวบรวมความรู้จาก อยู่ 4 ปี ได้สร้างในปี 2556 โดยได้ความรู้จากช่างที่มีประสบการณ์ ซึ่งสุดท้ายโครงการนี้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของผม เป็นการบันทึกความรู้เรื่องไม้ไผ่ที่ได้จากการทำโครงการนี้

“การสร้างอาคารไม้ไผ่หลังนี้ ก็เป็นการทำให้คนเห็นศักยภาพของไม้ไผ่ในการก่อสร้างมากขึ้น เห็นความสำคัญของความรู้จากประสบการณ์ของช่างเทียบเท่ากับความรู้ในทางทฤษฏี การเผยแพร่ข้อมูลก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้รอบทั้งหมด แต่อยากให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราพอจะรู้นำไปต่อยอด ให้ผู้ที่สนใจที่อาจสนใจประเด็นอื่น ได้ไปศึกษาในขอบเขตที่เขาสามารถทำได้ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน”

ธนา อุทัยภัตรากูร
“โครงการหอศิลป์ไม้ไผ่” ศาลาไม้ไผ่หลังโตหลังนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาไม้ไผ่ของคุณโจ้อย่างเป็นทางการ

อุปสรรคของการเติบโต

“การสร้างอาคารด้วยไม้ไผ่มีความท้าทายหลายเรื่อง เช่นความเป็นธรรมชาติที่ไม่สม่ำเสมอ โคนหนาปลายเรียว และลำที่มีลักษณะเป็นปล้อง ทำให้เมื่อไปเจอกับวัสดุอุตสาหกรรมที่ตรงและฉาก เช่น กระจก รวมทั้งวิธีการออกแบบเพื่อปิดช่องว่างระหว่างลำไม้ไผ่ถ้าต้องการกันแมลงหรือติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาและเป็นความท้าทายในเรื่องการออกแบบรายละเอียด”

“สองก็คือเรื่องในทางวิศวกรรม แม้ว่าจะมีงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับไม้ไผ่ในเยอรมันตั้งแต่ประมาณปี 1980 เนื่องจากเขาได้มาเห็นศักยภาพของไม้ไผ่ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในประเทศไทยการศึกษาวิศวกรรมในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี เพื่อสร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับวัสดุธรรมชาติยังมีไม่มากนัก เนื่องจากถูกประทับตราว่าไม่คงทนแข็งแรง จึงไม่มีใครสนใจ แม้จะมีช่วงประมาณปี พ.ศ.2520-2528 ที่มีความสนใจศึกษาไม้ไผ่เพื่อสร้างบ้านราคาประหยัด แต่สุดท้ายแล้วก็ค่อย ๆ เงียบหายไป”

ธนา อุทัยภัตรากูร
อาคารเอนกประสงค์ในโรงเรียนรุ่งอรุณ หนึ่งในผลงานการใช้ไม้ไผ่มาผสมผสานกับฟังก์ชันสมัยใหม่และวัสดุอุตสาหกรรมอื่นในการออกแบบและก่อสร้าง

ตั้งต้นเป็นองค์ความรู้

ผมได้มีโอกาสสร้างบ้านดินร่วมกับลูกชายของ “พะติจอนิ” ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวปะกาเกอะญอ ตั้งใจว่าจะใช้เงินให้น้อยที่สุด จึงตัดสินใจใช้ฐานรากหินจึงตระเวนหาจากแม่น้ำต่าง ๆ แต่ก็หาหินก้อนใหญ่ ๆ ได้ยาก จนลูกพะติจอนิแกก็เปรยขึ้นมาว่า “เออเนี่ย เสียดายเนอะที่หินเนี่ยมันปลูกไม่ได้” ผมก็ถามว่าทำไม เขาก็บอกว่า “ถ้าปลูกได้นะ เขาเอาหินไปฝังหลังบ้าน รดน้ำทุกวันให้มันเป็นต้น จะได้เก็บหินมาทำบ้านได้” ผมก็คิดว่า เออ! จริง วัสดุทุกชนิดที่เอามาสร้างบ้าน ไม่มีอะไร “ปลูก” ได้เลย ถ้าเราถอยออกมามองอีกนิด ไม้นี่แหละเป็นวัสดุก่อสร้างอย่างเดียวที่ปลูกได้ทันกับอายุการใช้งานของมัน ไม้จึงเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก ปัญหาคือ มันไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนเท่านั้นเอง ถ้าเรามีพื้นที่ปลูกเพียงพอ เราใช้อย่างเต็มศักยภาพ ตัดอย่างเป็นระบบ เราก็จะมีไม้ใช้อย่างยั่งยืน ไม้ไผ่ก็ดีกว่าในแง่ที่มันสามารถตัดมาใช้ได้เร็วกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดของมันในบางด้าน ถ้าเรามาศึกษาแล้วพัฒนามันขึ้นไปอีกได้ไหม เราจะได้ลดการใช้วัสดุอื่นที่ ปลูกไม่ได้

“เพราะไม้ไผ่มีทั้งศักยภาพและข้อจำกัด ทำอย่างไรที่เราจะศึกษาและพัฒนาเพื่อใช้ศักยภาพให้เต็มที่ และลดข้อจำกัด ปัจจุบันมีการพัฒนาทำเป็นลามิเนต อัดให้แข็งแรง ซึ่งทำให้คุณสมบัติดีกว่าไม้ เพียงแต่การทำลามิเนตนั้น ต้องอาศัยเครื่องจักรอุตสาหกรรม และพลังงานมาก ทำให้มีราคาแพง ในขณะเดียวกันเราน่าจะพัฒนาเพื่อให้ชาวบ้าน หรือคนทั่วไปที่เข้าถึงไม้ไผ่ สามารถที่จะมีบ้านที่ราคาประหยัด โดยมีความรู้สนับสนุนให้เขาสร้างได้อย่างมั่นใจ”

“ซึ่งการเรียนรู้และสร้างอาคารไม้ไผ่ในสถาบันอาศรมศิลป์ ก็เป็นการขับเคลื่อนแนวคิดพวกนี้ไปด้วย ทั้งการสร้างอาคารทั้งหลังด้วยไม้ไผ่ ทำให้เห็นว่ามันทำได้จริง และการนำไปใช้ผสมผสานกับวัสดุอุตสาหกรรม โดยในโอกาสที่เราได้อยู่ในกระบวนการก่อสร้าง ได้เห็นปัญหาก็บันทึก สรุปเป็นความรู้ หรือถ้ายังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้บอกคนอื่นว่า มันมีปัญหาแบบนี้ จะได้ร่วมกันคิดต่อยอดต่อไปในวงกว้าง”

“ล่าสุด เราได้สร้างบ้านไม้ไผ่ต้นแบบที่ผสมผสานระหว่างไม้ไผ่กับวัสดุอุตสาหกรรม ให้เป็นบ้านที่ราคาประหยัดและอยู่ได้จริง โดยได้เริ่มเข้าอยู่อาศัยแล้ว และหวังว่าจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ได้แวะเวียนเข้ามาดูและแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้เกิดการนำไปใช้ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป”

ธนา อุทัยภัตรากูร
บ้านไม้ไผ่ราคาประหยัด ซึ่งคุณโจ้สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้ศึกษาศักยภาพของไม้ไผ่ ประกอบเป็นบ้านต้นแบบโดยคำนึงถึงความประหยัด และเอาตัวเองเข้าไปทดลองใช้อยู่อาศัยเป็นบ้านของเขาเอง

ผลิใบจากรุ่นสู่รุ่น

“วิชา “หัตถกรรมการสร้าง” ของอาศรมศิลป์ เน้นการได้สร้างด้วยมือของตัวเอง ซึ่งการได้มีโอกาสสร้างเองทำให้เรารู้ว่าเรามีศักยภาพเกินกว่าที่เราคิด เพราะบางทีเราคิดว่ามันยาก ตอนปีแรกช่วงออกแบบนักศึกษาก็คิดอยู่ในหัวตลอดเวลาว่า เดี๋ยวจะมีช่างมาช่วยสร้าง แต่สุดท้ายพอเขาได้ทำมันเสร็จด้วยตัวเขาเอง เขาก็รู้ว่าเขาทำได้

“ในส่วนของหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตของสถาบันอาศรมศิลป์ มองว่าการผ่านกระบวนการตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงก่อสร้าง จะทำให้นักศึกษาได้เห็นกระบวนการทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสร้างเสร็จ และเชื่อมโยงความรู้ในวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันแบบบูรณาการ มากไปกว่านั้นเขาจะได้เห็นคุณค่าของความเป็นช่าง แล้วเขาก็รู้ว่าช่างทำให้เราเขาก็ไม่ได้สบายๆ เขาก็เหนื่อย เพราะจริงๆ ช่างก็เป็นคนสำคัญที่ทำให้งานของเราประสบความสำเร็จด้วย รวมทั้งได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การเรียนรู้แบบนี้มันสำคัญ เพราะเราก็จะรู้ว่า สถาปนิกไม่สามารถอยู่โดดๆ ได้ ในส่วนตัวผมนั้นเลือกใช้ไม้ไผ่ให้นักศึกษาเรียนรู้ เพราะสามารถทำได้เร็ว และไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก”

“ในกระบวนการเรียนนอกเหนือจากการเรียนเนื้อหา ก็จะได้เรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น โดยการพูดคุยถึงความรู้สึกในช่วงต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนได้รับโจทย์ ตอนได้เริ่มก่อสร้างจริง ๆ และหลังจากสร้างเสร็จ ทำไมตอนแรกเขากังวล ทำไมตอนนี้เขารู้สึกมั่นใจในตัวเอง มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งจะพบว่ามีทั้งส่วนที่เกิดจากความรู้ที่มากขึ้น ทักษะที่เชี่ยวชาญขึ้น ไปจนถึงทัศนคติต่อการเรียนรู้และต่อตัวเอง ซึ่งทุกวิชาของอาศรมศิลป์ก็จะเน้นการรู้จักตนเองผ่านการทำงาน และการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“ผมรู้ว่าคนที่ได้ทำเองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกคน คือเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน เขาจะได้เห็นศักยภาพของตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง เขาจะรู้ว่าถ้าพยายามลงมือทำจริง ๆ ผลงานก็จะแล้วเสร็จได้สมดังความตั้งใจ”

ธนา อุทัยภัตรากูร
ศาลาไม้ไผ่หลังแรกโดยฝีมือนักศึกษา ภายใต้หัวข้อวิชา “หัตถกรรมการสร้าง” ของคณะสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์

และใต้ไม้ใหญ่ในบริเวณของคณะสถาปัตย์ ศาลาไม้ไผ่จากฝีมือของนักศึกษาปี 1 รุ่นแรกของหลักสูตร ยังคงตั้งสงบเงียบเคียงแม่น้ำ แม้จะผุพังไปบ้างตามกาลเวลา

แต่ความตั้งใจและพลังจากสองมือนักศึกษา ยังคงเด่นชัดไม่บุบสลายลงแต่อย่างใด


เรื่อง: กรกฎา

ภาพ: นันทิยา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เสียงของความคิด ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio ที่ดังขึ้นจากมุมหนึ่งในบ้านหลังใหม่เอี่ยม

 

JAIBAAN STUDIO หัวใจของคราฟต์คือ “ชุมชน”

 

Sumphat Gallery สตูดิโอออกแบบทำงานส่งเสริมงานฝีมือจากชุมชน