“ที่อยุธยา ทุกครั้งที่ผมมองไปที่เศษอิฐ เศษปูน มันไม่ใช่เป็นแค่ซาก แต่จริงๆ มันคืออนาคตของพวกเราทุกคน”
Studio Visit ของเราในครั้งนี้ คุณจก – ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาเราออกมาพูดคุยกันที่อยุธยา ไม่ใช่เพราะความฮิตของละครบุพเพสันนิวาสแต่อย่างใด แต่ที่นี่เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณจกในการทำงานซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอยุธยาในหลายๆ โครงการ
room : ก่อนอื่น ทำไมคุณถึงได้เลือกวัดธรรมิกราช จ.อยุธยา ในการสัมภาษณ์ครับ
Boonserm Premthada : “(หัวเราะ) ผมไม่ได้ทำงานในสตูดิโอ ไม่ได้ทำงานในห้องที่ติดแอร์ ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศที่สวยงาม แต่ผมทำงานในทุกๆ ที่ อาจจะนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ที่ผมทำแล้วผมมีความสุข ทุกครั้งที่ผมมาที่นี่ผมก็มีความสุขกับการนั่งตรงนี้ แล้วก็นั่งคิดงาน คิดอะไรไปต่างๆ จริงๆ แล้วที่อยุธยาก็เป็นเหมือนสตูดิโอที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งแรงบันดาลใจของผม รวมทั้งให้กำลังใจด้วย ทุกครั้งที่ผมมองไปที่เศษอิฐ เศษปูน มันไม่ใช่เป็นแค่ซาก แต่จริงๆ มันคืออนาคตของพวกเราทุกคน ฉะนั้นสตูดิโอออกแบบในความเห็นของผมคือมันควรจะเปิดกว้าง ทุกคนสามารถจะย้ายไปได้ทุกที่ สถาปนิกควรจะย้ายไปทุกที่ ชีวิตเราอยู่กลางแจ้ง มากกว่าอยู่ในร่ม”
เชื่อว่าหลายๆ คนที่เคยไปอยุธยา อาจได้เคยแวะเวียนไปยัง The Wine Ayutthaya ร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยามากันบ้าง โดยปัจจุบันร้านอาหารซึ่งคุณจกได้ออกแบบไว้แห่งนี้ ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ในการมาเยือนเมืองเก่าที่วันนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แนวคิดในการออกแบบเป็นการให้ความเคารพต่อทำเลสถานที่ที่ตัวสถาปัตยกรรมไปตั้งอยู่ โดยมีความเป็นศาลามากกว่าสิ่งก่อสร้างซึ่งบดบังทัศนียภาพของริมแม่น้ำ
room : ลักษณะการทำงานของคุณเป็นอย่างไรครับ
Boonserm Premthada : “แนวทางของเราเรียกว่า Totality Design ก็คือการออกแบบที่หลอมรวมทุกอย่าง คือเราไม่ได้แยก แบบอันไหนคือสถาปัตย์ อันไหนคืออินทีเรียร์ อันไหนคือการทำโปรดักท์ หรือกราฟิก หรืออันไหนเป็นแลนด์สเคป อันไหนเป็น Urban Design คือบางสิ่งบางอย่างมันอาจจะไม่เริ่มขึ้นจากสถาปัตยกรรมก็ได้
“โดยส่วนใหญ่แล้วผมจะเริ่มต้นจากโปรแกรมก่อน โดยโปรแกรมที่เราได้มาก็จะมาจากการวิจัยข้อมูล ซึ่งเราทำออกมาก่อน การเห็นโปรแกรมทั้งหมดก็จะทำให้เรารู้ว่า เราจะทำอะไรก่อนหรือหลัง แล้วมันก็จะเริ่มไปตามขบวนการของมันในแต่ละขั้นตอน”
room : แนวคิดในการออกแบบ The Wine Ayutthaya เป็นอย่างไรครับ
Boonserm Premthada : “The Wine มีแนวคิดที่ว่า Respect to the site เราพยายามทำงานที่เคารพสถานที่ เนื่องจากสถานที่นั้นเป็นสถานที่ที่อยูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำอย่างไรให้คนได้สามารถเข้าไปสัมผัสเส้นขอบฟ้า หรือภูมิทัศน์ดั้งเดิมซึ่งเป็นภูมิทัศน์ของชาวริมน้ำอยุธยา เราก็เลยทำอาคารให้มันเหมือนศาลา มากกว่าที่จะเน้นไปทำตัวอาคารสถาปัตยกรรม ฉะนั้นคนที่เข้าไปก็จะรู้สึกว่าตัว The Wine ไม่ได้ไปบังแม่น้ำ หรือวัดที่อยู่ตรงข้าม”
อ่านต่อ: The Wine Ayutthaya – จิบไวน์เคล้างานดีไซน์ในกรุงเก่า
room : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม
Boonserm Premthada : “ผมคิดว่ามันเป็นวิวัฒนาการและมันก็เป็นประวัติศาสตร์ มันบอกเล่าเรื่องราวและที่มา ไม่ใช่แค่บอกเล่าแต่เฉพาะเรื่องวิธีการก่อสร้าง หรือศิลปะ หรือความงาม แต่บอกถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อของคนในยุคนั้นๆ ซึ่งถ้าจะมาอยู่ในยุคปัจจุบัน มันก็อาจจะไม่ใช่ อาจจะไม่เหมาะ เพราะถ้าเราทำแบบนั้นเราจะกลับกลายเป็นว่าไปลอกเลียนของเดิม แต่สิ่งที่คนปัจจุบันควรจะมองเห็นคือมันมีคุณค่า แต่เราจะสืบสานคุณค่าอย่างนั้นต่อไปอย่างไร ให้มันเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
“อย่างที่เรามาที่นี่ ผมแค่รู้สึกว่าที่นี่สงบ และสวยงาม ผมไม่ได้มองในส่วนสถาปัตยกรรม สิ่งที่เราเห็นมองไปรอบๆ แบบนี้มันคือบรรยากาศ ในตัวดั้งเดิมของอาคาร แน่นอนเราจะไม่ได้เห็นอิฐที่เป็นผิวเปลือยแบบนี้ แต่สิ่งที่เราเห็น ณ ตอนนี้คือเวลา กาลเวลา และอดีต”
// ก่อนที่ผมจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี
ผมต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนก่อน //
room : คุณสอนอะไรให้แก่เด็กรุ่นใหม่ๆ บ้าง
Boonserm Premthada : “ผมมักจะยกคำพูดของท่าน ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า คุณต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนที่จะเรียนศิลปะ คือผมคิดว่ามันเป็นคำที่เป็นอมตะ และเป็นคำที่ดี ผมก็มักจะยกคำนี้ขึ้นมาสอน และผมก็จะสอนตัวผมเองด้วยเสมอ ว่าในการที่ผมจะออกแบบอะไรก็ตาม ก่อนที่ผมจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ผมต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนก่อน สถาปัตยกรรมมันไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ สถาปัตยกรรมเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความเป็นมนุษย์ ในการสร้างอาคารจริง มันก็เป็นการสอนคนอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งโลกได้มาเรียนรู้ การเรียนการสอนจึงไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเสมอไป”
เรื่อง สมัชชา วิราพร
ภาพ อนุพงษ์, ศุภกร, Bangkok Project Studio
คุยกับสถาปนิกชุมชน ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio ในบ้านหลังใหม่เอี่ยม
ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกและอาจารย์ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่ธรรมชาติ สถาบันอาศรมศิลป์