ละครเรื่องแรกจากทั้งหมด 9 การแสดงในเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest 2018 อาจเริ่มต้นแสดงไปแล้วหนึ่งเรื่อง เมื่อคุณได้อ่านบทความชิ้นนี้อยู่ (เพราะงานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-27 พฤษภาคม 2561) หากแต่ยังพอมีเวลาเหลือสำหรับเรื่องอื่น ๆ โดยสามารถดูโปรแกรมทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
9 การแสดงที่ว่านั้นเดินทางมาจาก 7 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เบลเยียม สกอตแลนด์ และอินโดนีเซีย ทั้งหมดล้วนผ่านสายตาของทีมเบื้องหลังที่เลือกแล้วว่าเหมาะกับผู้ชมทุกช่วงวัย หรือ “เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี” ซึ่งเป็นนิยามของเทศกาลนี้ที่เน้นย้ำว่าไม่จำกัดอายุผู้ชมแต่อย่างใด
room มาที่ Shanghai Mansion Bangkok ย่านเยาวราช เพื่อพูดคุยกับกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ ที่คราวนี้พวกเขาร่วมมือกันทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ในเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ Bich Fest 2018 ซึ่งนำโดย คุณอุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง Festival Director, คุณเอ๋-ภาวิณี สมรรคบุตร โปรดิวเซอร์ ร่วมด้วยคุณปอ-อาภาวี ภู่ระหงษ์ เศตะพราหมณ์ นักการละครเพลงอิสระที่นำพลังดนตรีมาช่วยขับเคลื่อนเทศกาลนี้อีกหนึ่งแรง และคุณพี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงาน Freeform Festival ที่ได้มาร่วมแจมในเทศกาลครั้งนี้ด้วย
ละครเด็กนั้นสำคัญไฉน ละครเด็กให้อะไรกับสังคมได้มากกว่าที่เรารู้เพียงใด คำตอบของพวกเธอน่าจะพอไขความสงสัยเหล่านี้ให้กระจ่างได้
“การทำละครเพื่อเด็กโดยเฉพาะนั้นต้องมีเนื้อหาที่เข้มข้นมากขึ้น
เพราะเราตั้งใจอยากให้เด็ก ๆ เกิดการรับรู้ที่จะช่วยบ่มเพาะพวกเขา
ให้มีคุณภาพซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย”
– อัจจิมา ณ พัทลุง –
room: ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นและวัตถุประสงค์การเข้ามาทำงานเกี่ยวกับเด็กให้ฟังหน่อย
Adjjima Na Pattalung: “หลังจากเรียนจบที่อังกฤษก็ได้มีโอกาสได้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับคณะละครชื่อ Young Vic ซึ่งเป็นคณะละครที่เราเลือกจะเชิญมาเป็นคณะแรก เพราะเป็นคณะละครที่ทำงานได้วิเศษมาก เขาใช้สเปซในสเกลใหญ่ มีการจัดการที่เข้มข้น ล้ำลึกกว่าละครผู้ใหญ่บางงานเสียอีก จากเมื่อก่อนที่เราไม่ได้สนใจละครเด็กเลย แต่พอได้มาเรียนรู้กลับช่วยเปลี่ยนความคิดของเรา หรือจะบอกว่าละครเด็กมีความซับซ้อนกว่าก็ได้ เพราะการที่จะทำละครให้เด็กสามารถดูได้นั้นต้องคิดถึงความเหมาะสม สามารถสร้างการรับรู้ที่มากกว่าสอนให้เด็กเป็นเด็กดี จริง ๆ ละครที่เราเคยดูก็มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว หรือความตายกันอยู่แล้ว แต่เขามีวิธีการเล่าที่ทำให้ละครมีชีวิต เข้าใจง่าย เหมือนเป็นการปลูกฝังเด็กให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพราะเด็กสามารถรับรู้สิ่งที่เรากำลังจะเล่าให้เขาฟังได้”
Pavinee Samakkabutr: “ตอนทำ Democrazy Theatre Studio เราทำงานคอนเทมโพรารีกับกลุ่มคนดูที่เป็นผู้ใหญ่ พอพี่อุ๊ชวนมาทำเทศกาลนี้ด้วยกันก็เลยต้องเริ่มศึกษาใหม่ เราอาจไม่ได้เห็นการแสดงสำหรับเด็กมากนัก แต่พอเริ่มทำจึงรู้ว่าการแสดงที่ทำเพื่อเด็กนั้นมันกว้างและมีอะไรเยอะกว่าที่เราคิด”
Arpawee Seatapram: “ปอเริ่มจากการเป็นครูสอนดนตรีตั้งแต่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งการสอนเปียโนเด็กเล็กแบบกลุ่ม ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 3-6 ขวบ และการสอนดนตรีแบบเดี่ยว พอเรียนจบก็เลยมาเรียนต่อด้านละคร เริ่มทำละครเด็ก ละครเพลง จนกระทั่งมีรายการ The Voice Kids Thailand โทรติดต่อเข้ามาให้เป็นโค้ชในรายการ จึงเริ่มได้ทำงานเกี่ยวกับเด็กอย่างจริงจังและเยอะขึ้น”
room: การทำงานกับเด็กยากไหม
Arpawee Seatapram: “การทำงานร่วมกับเด็กไม่ยากเลย เพราะธรรมชาติของเด็กจะไม่มีความกลัว เด็กไม่มีกรอบ แต่ความยากคือผู้ใหญ่ที่มากับเด็ก เพราะผู้ใหญ่จะใส่กรอบมาให้เขาแล้ว จึงยากตรงการสื่อสารกับผู้ใหญ่ที่มาด้วยมากกว่า”
room: ละครและกิจกรรมที่เลือกมาในปีนี้มีการกำหนดให้เหมาะกับเด็กช่วงวัยไหนเป็นพิเศษ
Adjjima Na Pattalung: “เรากำหนดเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกับเด็กตั้งแต่ 0-13 ปี เราโฟกัสกับเด็กในวัยนี้ก่อนที่จะเป็นวัยรุ่น ไม่ใช่เพราะเราไม่สนใจวัยรุ่นนะ แต่วัยรุ่นเป็นวัยที่เรายังไม่ได้ศึกษาดีพอ แต่งานที่เราคัดเลือกมาสามารถดูได้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยพ่อแม่สามารถรับรู้เรื่องราวไปพร้อมกับลูก ๆ ได้ เราพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ดูละครเด็กว่ามันไม่ใช่อะไรที่หน่อมแน้ม บางครั้งคุณภาพของงานเทียบเท่ากับงานที่ทำให้ผู้ใหญ่ดูหรือดีกว่าด้วยซ้ำ
“เราอยากให้มันสะท้อนบางอย่างกลับไปสู่สังคม เพราะละครเด็กสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้หลายคน จึงอยากให้กลุ่มที่เป็นครอบครัวเข้ามาดูแล้วสนุกไปด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามที่จะพัฒนางานละครในประเทศไทยที่ไม่ใช่แค่งานละครเพื่อเด็ก แต่เป็นงานละครเพื่อผู้ใหญ่ด้วย เทศกาลนี้จึงเป็นโอกาสให้ศิลปินทั้งบ้านเราและต่างประเทศได้มาพบเจอกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อช่วยให้มีมุมมองการทำงานที่กว้างขึ้น และหวังว่าเทศกาลครั้งนี้ก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลให้แก่เราด้วยเช่นเดียวกัน”
room: คนดูที่มีช่วงวัยหลากหลายแตกต่างกันมีผลต่อการทำงานหรือไม่
Adjjima Na Pattalung: “มันเป็นเรื่องของกระบวนการผลิต และความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มละครแต่ละกลุ่ม เราจะเห็นว่าพวกเขาใช้ฝีมือกันอย่างเต็มที่ บางรายใช้เวลาผลิตผลงานนานกว่า 3 เดือน หรือบางกลุ่มใช้เวลาข้ามปี เพื่อให้ได้ผลงานที่มีมาตรฐาน ตรงกับแนวคิดที่อยากนำเสนอมากที่สุด
“สิ่งที่เราเน้นคือความคิดสร้างสรรค์ เราไม่ได้ปิดกั้นการไปดูดิสนีย์ เพราะดิสนีย์ก็ให้แรงบันดาลใจแก่เด็กหลาย ๆ คนเช่นกัน แต่เราแค่อยากจะบอกว่ายังมีคนที่ทำงานแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งคุณไม่ต้องไปหาจากโรงหนังและการ์ตูน จึงอยากบอกว่าโลกนี้มันกว้างไกล มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ จึงอยากให้ลองเปิดกว้างรับรู้เรื่องราวของศิลปะกันมากขึ้น”
room: คาดหวังว่าคนที่ได้มาชมหรือรับรู้สารนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเหมือนกับคุณบ้างไหม
Adjjima Na Pattalung: “ถ้าเรายังได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐบาลน้อย การพัฒนามันก็อาจเป็นไปได้ยาก การทำงานเพื่อเด็กมันค่อนข้างยากนะ แม้จะมีการปูพื้นฐานด้านการละครมาแล้ว 30-40 ปี ไม่ว่าจะเป็นละครร่วมสมัย การบรรจุเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่มีการสอนโดยบุคลากรมืออาชีพอย่างครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน แต่กลับน่าแปลกใจที่งานด้านนี้กลับมีจำนวนที่ยังน้อยอยู่ ผู้ที่เรียบจบด้านนี้หลายคนหันไปทำงานด้านอื่น แต่เราก็ยังแอบหวังว่าเทศกาลละครต่าง ๆ รวมถึงเทศกาลของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจและเกิดการรับรู้มากขึ้น เมื่อเกิดการยอมรับก็จะช่วยให้รัฐบาลเล็งเห็นศักยภาพและช่วยกันสนับสนุน เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของศิลปะแขนงนี้”
room: ยกตัวอย่างประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนละครสำหรับเด็กและเยาวชน
Adjjima Na Pattalung: “ในแถบยุโรปอย่างสแกนดิเนเวีย หรือในสกอตแลนด์เขามีรัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นองค์กรที่ทำงานกันทั้งปี ทุกคนทำงานเป็นพนังงานประจำเต็มเวลาเพื่อจะพัฒนาละครสำหรับเด็ก แต่ในบ้านเรายังไม่สามารถเห็นภาพแบบนั้นได้ เพราะเราไม่ได้รับการซัพพอร์ตแบบนั้น ถ้าเราได้รับการซัพพอร์ตที่ดีก็อาจจะทำแบบนั้นได้เช่นกัน
“หรืออย่างตอนที่ได้ไปเกาหลีจะเห็นได้ว่ากว่าสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลของเขาให้เงินซัพพอร์ตตรงนี้เยอะมาก จนทำให้งานละครของเขาแผ่ขยายไปทั่วโลก ในด้านของการแสดงและคุณภาพของเขาก็อยู่ในมาตรฐานที่ดีมาก หรืออย่างในประเทศอังกฤษก็จะมีองค์กรที่ดูแลงานศิลปะและวัฒนธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ ต่างกับไทยที่สนับสนุนสิ่งที่ขายได้ แต่ไม่มีการพัฒนา เราทำงานละครเด็กเพราะเราอยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่มีการสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่มีความต้องการอะไรต่าง ๆ ที่มากกว่าแค่การช็อปปิ้ง บางคนที่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราทำ ก็อยากเข้ามาซัพพอร์ตเรา ซึ่งเสียงจากคนดูนี่แหละที่จะช่วยซัพพอร์ตเราได้ดีที่สุด พอเรามีเสียงซัพพอร์ตที่แข็งแรงมากพอ ก็จะสามารถพูดกับรัฐบาลได้ว่า ดูสิ มีคนสนใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ในขณะที่บุคคลที่เข้ามาซัพพอร์ตเราส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แต่ทำไมรัฐบาลไทยกลับไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ทั้งที่รัฐบาลชูประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญกับเด็ก แต่กลับเน้นเรื่องของวิชาการ อย่างคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มากกว่าศิลปะที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็ก ๆ ได้ดีกว่า”
room: หมายความว่ากิจกรรมแบบนี้ควรจะมีในสังคมมากขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งช่องทางที่จะช่วยพัฒนาสังคม
Pavinee Samakkabutr: “มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยมาก่อน แต่ที่อื่นมีอะไรแบบนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เราคาดหวังว่าจะสามารถจัดเป็นงานในระดับเมือง หรือเมืองเป็นคนจัดงานนี้ขึ้นมา แม้ในเชิงเศรษฐกิจมันจะให้ผลตอบแทนได้ไม่มากนัก แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยซัพพอร์ตการเติบโตของประเทศทางด้านความคิด ด้านตรีเอทีฟ ซึ่งจะสะท้อนภาพของพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งปลูกสร้างมันไม่ใช่ปัจจัยเดียว มันต้องมีสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนด้วย เหมือนเวลาเรามีบ้าน แล้วต้องการตกแต่งบ้าน เราต้องเลือกสิ่งที่อยู่แล้วเราอยู่ได้ และมีความสุข”
room: มีการเลือกหรือทำละครเพื่อให้เด็กสามารถจดจ่ออยู่กับมัน และผู้ใหญ่สามารถดูได้โดยไม่เบื่ออย่างไร
Pavinee Samakkabutr: “ละครที่คัดเลือกมาไม่เบื่อแน่นอนค่ะ ด้วยความที่มีละครให้ดูหลากหลายเรื่อง พร้อมกับระบุช่วงอายุที่เหมาะสมกับเด็กวัยนั้น ๆ มาแล้วว่าเหมาะกับธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัย ว่าเขาจะจดจ่ออยู่กับอะไร และอะไรเป็นสิ่งที่สร้างความดึงดูดใจให้แก่เขาเป็นพิเศษ จึงรับรองว่าไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เขาจะได้ชมละครที่เต็มไปด้วยความสนุกแน่นอน ”
room: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำเทศกาลนี้ครั้งแรกคืออะไร และได้นำมาปรับปรุงและพัฒนากับเทศกาลครั้งนี้อย่างไรบ้าง
Pavinee Samakkabutr: “เราเริ่มรู้จักกลุ่มคนดูมากขึ้น เราเริ่มพูดคุยกับกลุ่มที่เป็นครอบครัวมากขึ้น งานมันไม่ได้โฟกัสที่เด็กและครอบครัวอย่างเดียว แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้เวลาร่วมกันได้ สิ่งที่พยายามเพิ่มมากขึ้นก็คือการคัดสรรละครที่เข้ากับกลุ่มคนได้ในวงกว้างและหลากหลายขึ้น”
room: คุณปอเข้ามามีส่วนร่วมในเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนครั้งนี้อย่างไรบ้าง
Arpawee Seatapram: “ปอเป็นคนช่วยประชาสัมพันธ์ จัดกลุ่มกิจกรรมทั้งดนตรีและละคร แต่จะเน้นดนตรีเป็นหลักนอกจากนี้ยังจัดโชว์และจับกลุ่มเด็ก ๆ ที่มีความสามารถแต่ละด้าน พร้อมกับสังเกตว่าเขามีความสนใจศิลปะแขนงไหนเป็นพิเศษ บางครั้งอาจจะเห็นว่ามีกิจกรรมเยอะมาก ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่จะได้กลับไปคือเราจะได้รู้ว่าเด็กคนนั้นมีความสามารถเหมาะกับอะไร และควรสนับสนุนเขาไปในทิศทางไหนได้บ้าง
“เวลาปอแนะนำครอบครัวให้เข้ามาดู ปอจะบอกตั้งแต่แรกเลยว่าโชว์นี้จะทำให้ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และเด็กได้สารไม่เหมือนกันตามประสบการณ์ของชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้คือการนำคำถามปลายเปิดไปพูดคุยกับลูก เพราะแต่ละโชว์มันไม่มีสรุปว่าอะไรขาว อะไรดำ ต้องกลับไปคุยกันเองในครอบครัวว่าโชว์นี้มีความคิดเห็นอย่างไร”
room: Freeform เข้ามามีส่วนร่วมกับเทศกาลนี้อย่างไร
Ruamporn Thavornathiwas: “ตอนที่เราทำ Freeform Festival 2017 เราได้นำงานศิลปะหลากหลายแขนงให้มาอยู่รวมกัน และสิ่งหนึ่งที่ที่อื่นไม่มีก็คือเราได้รวมละครขนาดเล็กโดยใช้ห้องเรียนทำเป็นเธียเตอร์ 2 โรง เพราะอยากให้เด็กและครอบครัวได้มาชมละครในแบบที่ไม่เคยดูมาก่อน เพราะอยากให้คนทั่วไปได้รู้จักละครแบบนี้ ดังนั้นด้วยมุมมองที่ตรงกัน Freeform จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ โดยรับหน้าที่ช่วยสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ส่งเสริมให้การชมละครสนุกขึ้น โดยทำเป็นกิจกรรมเวิร์กชอป และช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งยังช่วยหาทุน และสถานที่ที่เรามีคอนเน็กชั่นอยู่ด้วย”
room: เทศกาลนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์หรือแนวคิดของคนที่ไม่เคยดูหรือรู้ว่าละครเด็กสำคัญอย่างไรได้บ้าง
Ruamporn Thavornathiwas: “คำว่าละครในมุมมองของคนทั่วไป เขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าละครมันคืออะไร แบ่งเป็นอะไรบ้าง อย่างแรกเราอยากให้เขาได้รู้จักก่อนว่าละครนั้นมีหลายประเภท รวมถึงมีศิลปะแขนงต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เด็ก ๆ หลายคนไม่มีโอกาสได้ไปต่างประเทศ หรือได้เห็นว่าที่จริงแล้วละครเป็นศาสตร์สากลที่ทั่วโลกเขามีกัน ในขณะที่ประเทศไทยยังมีทางเลือกให้รับชมน้อยเหลือเกิน ความสำคัญของเทศกาลครั้งนี้จึงอยู่ที่การช่วยเปิดโลกแห่งศิลปะผ่านงานละคร ซึ่งสามารถสื่อสารกับเด็กได้ทุกช่วงวัย”
room: สุดท้ายพวกคุณคาดหวังสิ่งใดจากเทศกาลนี้
Pavinee Samakkabutr: “การรับรู้แบบเดียวกันที่เราอยากให้คนอื่นรับรู้ก็คือการแสดงเพื่อเด็กมีขอบเขตที่กว้างกว่าที่เราคิด มันมีการทำงานที่ละเอียดทั้งเรื่องจิตวิทยา หรือแม้แต่อาร์ทิสติกของการแสดงที่ทำขึ้นมาแบบจริง ๆ จัง ๆ เพื่อเด็ก โดยเฉพาะ”
Ruamporn Thavornathiwas: “เด็กคืออนาคตของประเทศเราในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เด็กคือคนที่จะมาขับเคลื่อนโลกนี้ต่อไป เราจึงอยากรีบให้ความสำคัญกับเด็กตั้งแต่ตอนนี้ อย่าไปคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่อง อย่าคิดว่าเด็กไม่สามารถรับรู้อะไรได้ มีผลงานวิจัยออกมามากมายว่าเขาสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์อะไรต่าง ๆ จากเราได้ แล้วการทำงานกับเด็กได้ให้อะไรกับผู้ใหญ่มากมาย บางทีผู้ใหญ่อาจลืมบางสิ่งไปแล้ว แต่เด็กสามารถเตือนเราได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่การทำงานศิลปะ หรือแวดวงสร้างสรรค์ทั่วไป แต่ยังมีเรื่องราวของการใช้ชีวิต เรื่องกำลังใจ ฯลฯ ทำให้คิดได้ว่าเราควรมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มากกว่านี้
“ในความคาดหวังของเราคืออยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศให้ความสำคัญเรื่องเด็กและเยาวชน เราเคยบูมเรื่องนี้กันมาตลอดตั้งแต่สมัยยังเด็ก ๆ ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ วันเด็กเคยเป็นวันที่สนุกมากเลย เมื่อก่อนรัฐบาลมีการให้ความสำคัญกับการศึกษามาก แต่ตอนนี้มันหายไปไหนก็ไม่รู้ เรื่องบันเทิงหรืองานศิลปะมันกลายเป็นคอมเมอร์เชียลไปหมด การศึกษาหรือการเล่นการพูดคุยกับเด็กถูกให้ความสำคัญน้อยลง หรือสื่อสำหรับเด็กในปัจจุบันก็แทบไม่ค่อยมีแล้ว เหมือนกับว่าประเทศไทยต้องรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศ ซึ่งมันก็ดี แต่ในประเทศไทยยังมีอะไรอีกมากมายที่เด็กต้องรู้ เขาจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตในปัจจุบัน จากจุดเล็ก ๆ ที่เราทำอยู่ขณะนี้ หวังว่ามันจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้
“ในฐานะของคนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในแวดวงละครก็รู้สึกว่าตื่นเต้นมากที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามนำการแสดงที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาให้เด็กไทยได้ดู อย่าไปคิดว่ามันคือละครเด็ก ด้วยชื่อเทศกาลเราอยากจะเน้นเด็ก แต่จริง ๆ แล้วโชว์มันปลายเปิดกว่านั้น มันคือศิลปะแขนงหนึ่งที่คนทุกเพศทุกวัยดูได้ พร้อมกับการตีความและตั้งคำถามตามแต่ละประสบการณ์ของแต่ละคนได้อย่างหลากหลาย”
BICT Fest
เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2559 BICT Fest เป็นเทศกาลสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ที่นำเสนอการแสดงจากหลากชาติหลายวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อความสนุกสนานสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว นำเสนอการแสดงระดับรางวัลคุณภาพ ทั้งกายกรรม การเต้นร่วมสมัย ละครหุ่น ศิลปะจัดวาง และละครใบ้ เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผู้ใหญ่และเด็กสามารถทำร่วมกันได้ อาทิ เวิร์กชอปทักษะเฉพาะทางสำหรับศิลปิน ครู และผู้ที่ทำงานร่วมกับเยาวชนหรือมีความสนใจในด้านนี้ และการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นศิลปะสำหรับเด็กและเยาวชน โดยวิทยากรทั้งจากไทยและต่างประเทศ (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก)
เรื่อง : Nawapat D.
ภาพ : ธนกฤตติ์ คำอ่อน