ถึงแม้ว่าเช้าวันนี้อากาศของกรุงเทพฯ จะขมุกขมัวสักหน่อย แต่เมื่อเรามาถึงบ้านของ ครอบครัวพงษ์ภาวศุทธิ์ กลับรู้สึกสบาย และไม่อบอ้าวอย่างที่คิด เพราะบริเวณรอบ แบบบ้านสไตล์โมเดิร์น อินดัสเทรียล หลังนี้ร่มรื่นไปด้วยสวนสวยฝีมือการจัดตกแต่งของคุณแม่เอง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Alkhemist Architects
ก่อนจะพบกับบ้าน 3 หลังสําหรับสมาชิกแต่ละคน หลังแรก คือบ้านของคุณพ่อคุณแม่ และอีก 2 หลังที่เราขอเข้ามาเยี่ยมชมคือหลังกลางของ คุณตั้ว – สุทธิพงษ์ ผู้เป็นน้องชาย และหลังท้ายสุดของ คุณโต้ง – กิตติวัฒน์ พี่ชายคนโต ท้ั้งหมดเกิดจากฝีมือการออกแบบของ Alkhemist Architects ที่นําโดย คุณดอน – ไกรพล ชัยเนตร
เพราะต้องแบ่งให้ด้านหนึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อบ้านแต่ละหลังเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ บ้านทรงกล่องสามหลังจึงต้องเรียงตัวเป็นแถวหน้ากระดานไปโดยปริยาย ออกแบบตกแต่งตามคอนเซ็ปต์ บ้านโมเดิร์น อินดัสเทรียล ที่เจ้าของบ้านอยากได้ แต่มากกว่าคําว่าลอฟต์ คุณดอนได้เพิ่มเติมรายละเอียดการดีไซน์ให้ดูน่าสนใจ ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมไปจนถึงดีเทลเล็กน้อยภายใน เพื่อให้บรรยากาศของบ้านทั้งสามหลังยังคงสัมพันธภาพที่อบอุ่นของทุกคนในครอบครัวไว้เช่นเดิม
“การวางสเปซเราได้คิดถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ส่วนรวมไล่เข้าไปหาพื้นที่ส่วนตัว ผมมองว่า โต้งกับตั้วสนิทกัน เลยเริ่มออกแบบจากส่วนนั่งเล่นที่เปิดเข้าหากันเหมือนให้ ทั้งสองคนนั่งหันหน้าคุยกันอยู่ผ่านบานเลื่อนกระจก โดยมีบันไดขนาบปิดด้านนอกสองด้าน เป็นโชคดีที่พอสร้างจริงบ้านมีการเปลี่ยนระดับโดยฝั่งบ้านคุณตั้วจะสูงขึ้น นั่นกลายเป็นข้อดีที่เจ้าของบ้านได้รับความรู้สึกเป็นส่วนตัวขณะนั่งเล่น แต่ถ้ายืนขึ้นก็จะมองเห็นบ้านอีกหลังได้ ช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างกัน ถัดเข้ามาคือส่วนรับประทานอาหาร จัดให้อยู่ถัดเข้ามาจากโถงดับเบิ้ลวอลุ่ม ส่วนกลางท่ีให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวขึ้นมาอีกนิด”
อีกสิ่งที่อดกล่าวถึงไม่ได้คือ สถาปนิกลงรายละเอียดในงานออกแบบบ้านแต่ละหลังตามคาแร็คเตอร์ของเจ้าของบ้าน โดยเลือกใช้วัสดุและสีสันเป็นตัวบ่งบอก คุณดอนเล่าถึงการทํางานนี้ว่า
“เพราะคุณแม่ชอบอิฐมอญมาก เราจึงใช้อิฐมอญเป็นกิมมิกลิงค์บ้านทั้งสามหลังให้สอดคล้องเข้าหากัน ซึ่งตรงกับสไตล์ลอฟต์อย่างที่ลูกๆ ชอบพอดี แล้วดึงความเป็น Mexican Modern แบบ Luis Barragán ใส่สีสันความสนุกแบบเม็กซิกันลงไปในงานโมเดิร์น ด้วยบุคลิกของทั้งสองพี่น้องเป็นคนสบาย ๆ เราจึงหยิบตัวตนของทั้งคู่มานําเสนอผ่านสีสัน ฝั่งคุณโต้งเขาจะนิ่ง ๆ จึงเลือกใช้สีน้ําเงิน ให้ความรู้สึกลึกลับแต่ก็มีชีวิตชีวา ส่วนคุณตั้วจะดูแมน ๆ และเขาก็มีโจทย์ในใจว่าอยากได้สีดํา แต่ผมกลัวว่าจะมืดเกินไปจึงนําสีน้ําตาลเข้มมาใช้แทน”
แต่ทั้งนี้ตัวบ้านก็ไม่ได้เป็นแบบ Mexican Modern หมดเสียทีเดียว คุณดอนยังคงคํานึงถึงสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชี้นของเมืองไทย จึงผสมเข้ากับโครงสร้างแบบ Tropical Modern ของ Kevin Low อย่างการใช้หลังคาเพิงหมาแหงนซ้อนเหนือหลังคาแฟลตสแล็บเพื่อระบายอากาศให้บ้านเย็นสบาย อีกเรื่องสําคัญที่คุณดอนเติมเต็มให้งานออกแบบของเขาคอื การสร้างมิติการรับรู้ในความงาม ทั้งในดีเทลของงานโครงสร้าง และการสร้างอารมณ์จากแสงเงาที่ลอดผ่านเข้ามาทางช่องแสงที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี
“งานดีไซน์นี้ยังคงดูโมเดิร์น แต่ในความเรียบนั้นจริงๆ มีการวางแนวผนังเหลื่อมกันนิด ๆ ราว 20 – 30 เซนติเมตร ลึกจากแนวกําแพงบนคานย่อยที่หลุดออกจากแนวเสาหลัก เกิดช่องว่างเล็กๆซอยแยกย่อยกับระนาบของประตู มีมิติที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ซึ่งได้ไอเดียมาจากงานของ Carlo Scarpa ที่ดูเหมือนไม่เนี้ยบกริบ แต่เป็นสเปซที่ลื่นไหล”
“ส่วนเรื่องการเปิดช่องแสง จากความพยายามที่อยากให้บ้านทั้ง 2 หลังให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกัน ฝั่งบ้านคุณตั้วจึงต้องรับแสงจากทิศใต้ซึ่งมีแดดแรงตลอดวัน จึงออกแบบช่องแสงบนผนังที่ปิดบังบันไดให้มีแสงเท่ๆ แสดงอารมณ์ตื่นเต้นของการเปลี่ยนผ่านจากส่วนห้องนั่งเล่นไปสู่ส่วน ห้องนอนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ส่วนชั้นล่างก็เป็นกระจกทั้งหมด ต่อให้มืดก็ยังไม่รู้สึกอึดอัด ในขณะเดียวกัน ช่องแสงนี้ก็กลายเป็นส่วนระบายอากาศไปในตัว”
แอบมีเรื่องตลกของการเรียกหน้าบ้านกับหลังบ้าน เหตุเพราะเป็นที่ดินของโครงการบ้านจัดสรรทางเข้าของหน้าบ้านจึงถูกกําหนดไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อสร้างจริงกลับกลายเป็นว่า ส่วนที่ต้องการให้เป็นหลังบ้านกลับมาเป็นส่วนที่ติดถนนแทน ส่วนฟาซาดหน้าบ้านกลายเป็นพื้นท่ีสวนมีต้นไม้ใหญ่ช่วยบดบังสร้างความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อดีให้บ้านหลังนี้กลายเป็นสถานที่หลบหนีความวุ่นวายของครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์