ในแง่การใช้งาน ตึกปูนได้รับการออกแบบให้อยู่ชิดกับ ตึกแถวเก่า ของเพื่อนบ้านประกอบด้วยที่จอดรถ โถงบันได ครัวพื้นที่ซักล้าง และห้องนอน ในขณะที่ตึกไม้ถูกวางชิดอยู่ตรงฝั่งหัวมุมถนน จากทิศทางที่ตั้งจึงบังคับให้ต้องเปิดบ้านรับกับถนนทั้งสองฝั่งเพื่อทำการค้า โดยชั้นล่างจัดให้เป็นพื้นที่รองรับร้านข้าวสตู ส่วนชั้นเหล่าเต๊งจัดให้เป็นห้องพระและห้องพักผ่อนบรรยากาศเปิดโล่ง รับแสงและอากาศภายนอกตามลักษณะเดิมของเหล่าเต๊งที่เคยเป็นมา ส่วนพื้นที่ระหว่างตึกไม้กับตึกปูนถูกเชื่อมต่อกันด้วยโถงทางเดินภายในที่สอดประสานการใช้งานทั้งหมดไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
บ้านเกียดฟั่งหลังนี้ได้รับรางวัล “ASAEmerging Architecture Silver MedalAward 2017” จากสมาคมสถาปนิกสยามฯด้วยการเป็นอาคารเกิดใหม่ที่สร้างปรากฏ-การณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งให้กับเมืองเก่าสงขลา ภายใต้บริบทของการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางการค้าและเมืองท่าในอดีต สะท้อนเรื่องราวส่วนหนึ่งผ่านรูปแบบของตัวอาคารซึ่งยังมีผู้พักอาศัยและทำการค้า มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตกันอย่างคึกคักเกิดภาพการผสมผสานวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ให้เข้ากับอาคารโบราณที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามกาลเวลาโดยไม่ทิ้งรากเดิมแต่อย่างใด
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ธนวัฒน์ สร้อยนิติรัตน์
ออกแบบ: คุณปกรณ์ เนมิตรมานสุข และคุณแสงธรรม พรมเล็ก (Pakorn Architect)