เป็นประจำทุก ๆ ปี ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จะมีการจัดงานเสวนา Craft Innovation GURU Panel ขึ้นเพื่อหาแนวทางการทำงานและวางนโยบายส่งเสริมงานหัตถกรรมระหว่างประเทศ
งานเสวนา Craft Innovation GURU Panel “Today Life’s Craft” ประจำปี 2561 ครั้งนี้จัดขึ้นที่ช่างชุ่ย โดยมีคุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นโมเดอร์เรเตอร์ ซึ่งยังคงอัดแน่นไปด้วยสาระ วาทะ และทรรศนะที่เข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
สำหรับกูรูทั้ง 8 ท่าน ที่มารวมตัวกันที่ช่างชุ่ย ประกอบด้วย คุณดุลยพล ศรีจันทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PDM, คุณวุฒิชัย หาญพานิช ผู้ก่อตั้งแบรนด์ HARNN, คุณธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกเจ้าของบริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด, คุณศรัณย์ เย็นปัญญา ผู้ก่อตั้ง 56th Studio, คุณวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Asiatides paris, คุณพิษณุ นำศิริโยธิน ครูไม้สถาบันอาศรมศิลป์, คุณสมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Flynow และคุณกิตติภัต ลลิตโรจน์วงศ์ Creative Agency ที่ปรึกษาแบรนด์ให้ SACICT
room ถอดรหัสใจความสำคัญจากวงเสวนาครั้งนี้มาให้อ่านกัน ซึ่งแนวคิดจากกูรูทั้ง 8 ท่านนั้นพอที่จะสะท้อนทิศทางของงานหัตถศิลป์ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวโน้มของงานหัตถศิลป์ในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย
อ่านต่อ : 4 เทรนด์น่าจับตาจากสัมมนา Guru Panel 2561
Tropical Dream จากสิ่งแวดล้อมในความฝัน สู่การจำลองบรรยากาศเสมือนได้เข้าใกล้ธรรมชาติในอีกก้าว
ด้วยความเป็นไปของโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสของเทคโนโลยี การหลบหนีความวุ่นวายและหาโอกาสพาตัวเองไปอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงเป็นเหมือนค่านิยมสะท้อนถึงการมีคุณภาพที่ดีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงต้องมีวิถีชีวิตภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ใจปรารถนา การนำความเป็นธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้วยการจำลองบรรยากาศความเขียวไว้ในบ้าน หรือที่ทำงาน รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเติมความสดชื่นให้กับจิตวิญญาณของคนเมือง แม้ว่าจะเป็นสัมผัสจากธรรมชาติในรูปแบบเสมือนก็ตาม
คุณวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์: “สำหรับผมถ้าพูดถึงเรื่องนี้ (แนวโน้มของงานคราฟต์กับธรรมชาติ) มันน่าจะมาจากวัสดุธรรมชาติด้วยนะครับ ที่ผ่านมาในแง่ของ Asiatides เราซื้อหัตถกรรมที่ทำจากธรรมชาติค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่หรืออื่น ๆ สำหรับในเรื่องการขาย product นั้นเราควรจะมีตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขาย ตัวกลางนี้จะได้เข้ามาช่วยเหลือ เพราะผู้ซื้อกับผู้ผลิต ถ้าไม่มีคนอื่นช่วยนี่เป็นไปไม่ได้เลยครับ การจัดวางการนำเสนอมันช่วยได้ คราฟต์ของไทยมีสวยเยอะมาก แต่เราจะหาผู้ซื้อที่ได้เห็นของชิ้นนั้นได้ยังไงเท่านั้น”
คุณสมชัย ส่งวัฒนา: “บทบาทของ designer หรือ craftsman คือการเอาทักษะความรู้มาเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ตรงหน้า designer ที่เก่งจะเป็นคนที่สร้างเทรนด์เป็นตัวของตัวเขาเอง แล้วคนเห็นจะ appreciated เพราะงานเขามันสวย มีมูลค่า เขาถึงยอมซื้อ งานคราฟต์เป็นงานทำมือซึ่งใน Industrial มันต้องแพง เพราะฉะนั้น designer หรือ craftsman ต้องเพิ่มมูลค่าให้มันให้มากที่สุด ทำให้มันดูแพง ทำให้คนเห็น อึ้ง ยอมจ่าย ผู้บริโภคงานคราฟต์จะเป็นคนที่มีการศึกษา มีรสนิยม มีความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อมองแล้วเห็นว่าฉันชอบสิ่งนี้ ฉันไม่แคร์ว่ามันจะเป็นสไตล์ไหน แต่ฉันมองเห็น ฉันดูแล้วมีความสุขอ่ะ ผมว่านี่คือหัวใจของงานคราฟต์ที่สามารถเติบโตไปได้ มีอนาคตแข่งกับงาน mass หรืองานเครื่องจักรได้”
“คราฟต์ไม่ใช่คนที่จะมานั่งปั้นชามให้มัน perfect เหมือน digital printing ต้องใช้งานฝีมือ ตรงนั้นเป็น ultimate luxury นะ เพราะฉะนั้นผมจะไม่จำกัดว่าเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ อาจเป็นพลาสติกก็ได้ มีอะไรที่อยู่ใกล้มือ แล้วรังสรรค์คุณค่าเข้าไปในชิ้นงานนั้น ถ้าสมมติฐานแรกเป็นจริง เรื่องความคิดในการสร้างสรรค์งาน เราต้องมองถึงหลักสมดุลก่อน ในโลกใบนี้มันอยู่ได้เพราะสมดุล ซึ่งถ้าผม believe ว่าสีเขียวมันจะมา ธรรมชาติมันจะมา ผมก็ใช้ Logic ของเหตุผลอีกต่างหากว่าที่เขาต้องมาเนี่ย บางครั้งความรักมันก็อยู่ไม่ได้หรอก เขาต้องการการบำบัด แน่นอนถ้าเราพูดถึงงานฝีมือ งานที่มันเกิดจากฝีมือมันเป็นการบำบัดหรือเติมเต็มคุณค่าทางจิตใจ เพราะจากนี้ไปทุกอย่างมันจะกลายเป็นการผลิตล็อตใหญ่ ๆ ความแตกต่างจะน้อยลงเรื่อยๆ”
คุณศรัณย์ เย็นปัญญา: “ผมเห็นเด็กยุค Millennial ให้ความสำคัญเรื่อง work-life balance ผมมองว่า green มันอาจ go beyond เป็นการพูดถึง The new luxury แต่จริง ๆ คือคนโหยหา balance ของการใช้ชีวิต”