บริบทร่วมสมัยของย่านฝั่งธนฯ ขับเน้นให้ บ้านหลังเล็ก เส้นสายเฉียบเรียบดูโดดเด่นเป็นพิเศษ ประตูรั้วเหล็กฉีกสีขาวโปร่ง เป็นเหมือนเลเยอร์บางๆ ที่ช่วยกรองสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา โดยไม่ทำให้พื้นที่ด้านหน้าดูอึดอัดจนเกินไป แม้ตัวบ้านจะดูเรียบง่าย แต่กว่าจะออกมาเหมาะเจาะลงตัวทั้งรูปลักษณ์ และการใช้งาน ย่อมผ่านการคิดออกแบบมาอย่างลงลึกในทุกดีเทล
เมื่อสองปีก่อน คุณปิยะบุตร ซุ่นทรัพย์ วางแผนสร้างเรือนหอหลังใหม่บนที่ดินขนาด 47 ตารางวาในซอยเล็กๆ บนถนนจรัญสนิทวงศ์ จึงปรึกษาเพื่อนสถาปนิกอย่าง คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ จาก Physicalist ผู้รับหน้าที่ถ่ายทอดทุกความละเอียดความต้องการให้ บ้านหลังเล็ก หลังนี้กลายเป็นรูปธรรมอย่างสมบูรณ์
“ตอนแรกเจ้าของบ้านทำโมเดลสามมิติมาเรียบร้อยเพื่อให้ดูรูปแบบที่อยากได้ แต่ด้วยความที่ที่ดินแปลงนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก และเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แบบร่างเบื้องต้นเลยมีหลายจุดที่ผิดกฎหมายควบคุมอาคาร จึงต้องนำฟังก์ชั่นที่ต้องการทั้งหมดมาจัดวางใหม่”
เมื่อโจทย์หลักคือการจัดสรรสเปซภายในให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในพื้นที่จำกัด โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย สถาปนิกจึงเริ่มต้นจากการกำหนด “แนวผนังทึบ” ที่เว้นระยะจากแนวเขตที่ดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูโดยรอบด้านละ 50 เซนติเมตร* เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ใช้สอยภายใน บ้านหลังเล็ก ให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในกรณีนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 บ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ให้ก่อสร้างผนังทึบห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และผนังที่มีช่องเปิดห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 2 เมตร
“เราเริ่มออกแบบจากชั้นสองก่อน ซึ่งประกอบด้วยสี่ห้อง คือห้องนอนใหญ่ ห้องนอนเล็กสองห้อง และห้องครอบครัว โดยจัดให้ทั้งสี่ห้องอยู่ในสี่มุมของตัวบ้าน ซึ่งผนังของทั้งสี่ห้องที่หันออกด้านนอกต้องเป็นผนังทึบตามกฎหมาย เลยออกแบบให้มีช่องเปิดจากด้านในตัวบ้านแทน เกิดเป็นคอร์ตขนาดเล็กสามด้าน โดยทุกห้องจะมีช่องเปิดสองด้าน เพื่อให้มีลมผ่านตลอดวัน และมีการระบายอากาศที่ดี”
เมื่อแต่ละห้องตั้งอยู่ในสี่มุมของบ้านจึงเกิดโถงทางเดิน “รูปทรงกากบาท” ตรงกลาง ซึ่งสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้มีพื้นที่กว้างกว่าปกติ เมื่อประกอบกับประตูบานเลื่อนกระจกใสของแต่ละห้องที่เปิดสู่คอร์ต จึงทำให้เกิดความลื่นไหลของสเปซที่ต่อเนื่องเป็นพื้นที่โปร่งโล่ง เชื่อมต่ออย่างกลมกลืนกับพื้นที่เอ้าต์ดอร์ และสว่างไสวด้วยแสงธรรมชาติตลอดวัน
ส่วนพื้นที่ชั้นหนึ่ง ห้องครัว ส่วนรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นเรียงร้อยต่อเนื่องกันแบบโอเพ่นสเปซ พื้นที่ห้องนั่งเล่นเชื่อมกับชานไม้ที่โอบรับตัวบ้านทางทิศเหนือ เมื่อเปิดประตูกระจกบานเลื่อนเข้ามุมเพื่อให้พื้นที่ภายในเชื่อมต่อกับภายนอกอย่างสมบูรณ์ชวนให้นึกถึงความรู้สึกในศาลาริมสวน และก็ดูเหมือนว่าชานไม้นี้จะเป็นมุมที่เจ้าของบ้านและภรรยาชื่นชอบเป็นพิเศษ
“เรารู้สึกว่าพื้นที่ภายนอกอยากให้มีชานบ้านต่อกับห้องครัว ไว้เป็นที่นั่งเล่น นั่งทำกับข้าวเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเดิมทีเราออกแบบร่วมกับสถาปนิกให้ครัวมีบานกระจกเปิด-ปิด แยกกับพื้นที่ส่วนอื่น ข้างล่างเป็นตู้ปิดทึบ แต่สุดท้ายรู้สึกว่าไม่ลงตัวกับการใช้งานจริง เลยปล่อยให้เป็นเคาน์เตอร์เปิดโล่ง ซึ่งก็ทำให้ชั้นล่างดูกว้างขวาง โปร่งสบายดี”
แม้ไม่มีพื้นที่สำหรับสวนขนาดใหญ่ แต่พันธุ์ไม้เมืองร้อนเขียวชอุ่มที่ปลูกอยู่รอบบ้านก็สร้างบรรยากาศทรอปิคัลสดชื่นได้ดี และก็คงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่า “มะม่วงพิมเสน” ด้านหน้าบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไม้ใหญ่ต้นเดียวจากที่ดินดั้งเดิมที่ทุกคนตั้งใจเก็บไว้ คือตัวแปรสำคัญในการกำหนดเส้นสายโค้งเว้าของผนังอาคาร ที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านไปโดยปริยาย
หลายๆ ครั้ง “ข้อจำกัด” ได้พาเราไปสู่กระบวนการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ และงานออกแบบที่แตกต่างกว่าที่เคยมีมา และยิ่งข้อจำกัดมีมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสค้นพบแนวทางการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นได้เช่นกัน
เรื่อง: MNSD
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
สถาปัตยกรรม: PHYSICALIST
โทร. 096-347-7200
physicalist-architects.com
FB: physicalistarchitects / IG: physicalist_architectsจัดสวน: ALLPLANTS
โทร. 099-295-3556
FB: allplantslandscape / IG: allplantslandscapeรับเหมาก่อสร้าง: BJL Construction
โทร. 089-939-3184
FB: BJLConstruction
ติดตามเรื่องราวของบ้านหลังเล็กที่คุณต้องหลงรัก คลิก ถอดรหัสงานออกแบบจาก 5 บ้านหลังเล็ก
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x