ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน - room

ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน

วังวรดิศ  | สถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกลิ่นอายเยอรมัน

ออกแบบโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบวังบางขุนพรหมและพระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี

 

วัง

ท่ามกลางความจอแจคับคั่งของการจราจรบนถนนหลานหลวง วังวรดิศตั้งตระหง่านอย่างสง่างามท่ามกลางความร่มรื่นของพรรณไม้มากว่าหนึ่งศตวรรษ วังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดี” ต้นราชสกุล “ดิศกุล” สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2454 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของพระองค์ เพื่อทดแทนวังเก่าบนถนนเจริญกรุงที่คับแคบ วังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพประทับที่วังนี้จวบจนสิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมา วังวรดิศได้รับการอนุรักษ์โดยพลตรี หม่อมราชวงศ์ สังขดิศ ดิศกุล พระนัดดา เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่จัดแสดงให้เห็นการดําเนินชีวิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เมื่อสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ โดยได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ พ.ศ. 2527

(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ มักโปรดการประทับกับพื้นแบบไทยที่ชานเรือนด้านหลังเพื่อเสวยกระยาหารกับพระโอรสและพระธิดา ของตกแต่งสไตล์จีนรอบ ๆ สื่อให้เราเห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนท่ีแน่นแฟ้น (ขวา) “ห้องทรงพระอักษร” สว่างด้วยแสงธรรมชาติ พื้นไม้สีเข้มและเฟอร์นิเจอร์ สไตล์คลาสสิก ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านโบราณในยุโรป
(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ มักโปรดการประทับกับพื้นแบบไทยที่ชานเรือนด้านหลังเพื่อเสวยกระยาหารกับพระโอรสและพระธิดา ของตกแต่งสไตล์จีนรอบ ๆ สื่อให้เราเห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนท่ีแน่นแฟ้น
(ขวา) “ห้องทรงพระอักษร” สว่างด้วยแสงธรรมชาติ พื้นไม้สีเข้มและเฟอร์นิเจอร์ สไตล์คลาสสิก ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านโบราณในยุโรป

 

ที่อยู่ : ถนนหลานหลวง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
เวลาทำการ : วันและเวลาราชการ ส่วนหอสมุดฯ วันจันทร์-ศุกร์ 8.30 น.- 16.30 น.
บัตรผ่านประตู : ไม่คิดค่าเข้าชม แต่เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล จึงต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะ พร้อมทําหนังสือแจ้งล่วงหน้า
การถ่ายภาพ : ถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอก
ติดต่อ : โทร. 08-1689-3994

 

 


วังบางขุนพรหม  | อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบบาโรกและโรโกโก

ตําหนักใหญ่ ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี
ตําหนักสมเด็จซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง ออกแบบโดยคาร์ล ซีกฟรีด เดอริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมัน

 

วัง

จากสะพานพระรามแปด หากมองมายังฝั่งพระนคร เราจะพบกับ “วังบางขุนพรหม” โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ําเจ้าพระยา เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน วังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล “บริพัตร”  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

นับตั้งแต่สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2449 ความโอ่โถงสง่างามของวังบางขุนพรหมทําให้สถานที่แห่งนี้ถูกใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และเป็นสถานที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่างๆ ให้พระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีชื่อเรียกกันในสมัยนั้นว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ย้ายออกจากวังบางขุนพรหม เสด็จไปประทับอยู่ที่ตําหนักประเสบัน เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างกะทันหัน และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ ปัจจุบันจาก “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

วัง
(ซ้าย) บริเวณมุขหน้า สวยงามด้วยซุ้มประตูประดับปูนปั้นหรูหราแบบบาโรก
(ขวา) หน้าต่างรอบตําหนักใหญ่มีหลายแบบ ท้ังหน้าต่างรูปไข่ประดับลายปูนปั้นรูปดอกคัทลียา และหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมประดับรูปเครือไม้และผลไม้

 

ที่อยู่ : ถนนสามเสน แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมสําหรับบุคคลท่ัวไปเฉพาะวันจันทร์-อังคาร 9.00 น.-16.00 น.
บัตรผ่านประตู : ไม่คิดค่าเข้าชม หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทําหนังสือแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้าชม
การถ่ายภาพ : ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ทั้งภายนอกและภายในวัง
ติดต่อ : โทร.0-2283-5286, 0-2283-6723

 

อ่านต่อ : 

http://www.baanlaesuan.com/76725/design/rattanakosin/


เรื่อง : Mone
ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา