THE CEMENT CITY ส่อง "โมซัมบิก" ผ่านเลนส์กับ เบียร์ - วีระพล สิงห์น้อย - room life

THE CEMENT CITY ส่องโมซัมบิกผ่านเลนส์กับ เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย

ก่อนหน้านี้ราว 40 ปี “โมซัมบิก” ยังคงเป็นประเทศภายใต้อาณานิคมของโปรตุเกสมาตั้งแต่ ค.ศ. 1752 ไม่ต่างจากหลายประเทศในเขตซับ-ซาฮาร่า และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของบรรดาเจ้าอาณานิคมยุโรปอีกหลายประเทศ

จนเมื่อปี ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา “โมซัมบิก” หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกา เพิ่งค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ในเขตแดนชายฝั่งประเทศของตัวเอง ทรัพยากรธรรมชาติที่ค้นพบใหม่นี้กลายเป็นสัญญาณของความหวังในการจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมหน้าประเทศไปสู่อนาคตใหม่

ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โมซัมบิกในปัจจุบันยังอยู่ในความที่ไม่เสถียรจากสภาวะที่เพิ่งผ่านสุญญากาศทางการเมืองและสงครามภายในประเทศ จากการแก่งแย่งอำนาจเมื่อไม่ถึง 20 ปีมานี้

ในด้านกายภาพของเมือง การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ประเทศเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ตั้งแต่เกิดการก่อตั้งอาณานิคมโปรตุเกสในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการวางรากฐานผังเมือง สถาปัตยกรรม และภาพลักษณ์เมืองทั้งหมดตามอย่างเจ้าอาณานิคม

เบียร์ – วีระพล สิงห์น้อย ในนาม Beer Singnoi” เป็นช่างภาพชาวไทยที่เพิ่งได้มีโอกาสไปเก็บภาพบรรยากาศของโมซัมบิกใน พ.ศ.ปัจจุบัน เป็นเวลาราว 14 วัน  โดยเฉพาะในเขตเมืองที่เรียกว่า Cement City” อันเป็นเขตเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเขตปกครองของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสในอดีต Cement City จึงมีลักษณะเฉพาะของผังเมืองและสถาปัตยกรรมแบบมั่นคงถาวร จากอิทธิพลที่ได้รับโดยตรงจากโปรตุเกส และยังคงดำรงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน

เบียร์ – สิงห์น้อย ยังเป็นผู้ก่อตั้งโปรเจ็ค FOTO_MOMO” หรือ Fotograph of the Modern Movement” โปรเจ็คบันทึกภาพอาคารที่คนมักไม่ให้คุณค่าอย่างอาคารเก่ายุคโมเดิร์นที่มีช่วงอายุราว 50 ปีที่แล้ว ด้วยความคาดหวังว่าจะได้บันทึกเรื่องราวของอาคารที่คนมักหลงลืมก่อนที่มันจะสูญสลายหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น

สำหรับโมซัมบิกเอง ช่างภาพสถาปัตยกรรม กล่าวว่า ภาพถ่ายของเขาคงไม่มีพลังมากพอจะขับเคลื่อนการอนุรักษ์อาคารใดๆ ในประเทศที่เขาเพิ่งรู้จัก แต่ในประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน โปรเจ็คอนุรักษ์อาคารเก่าผ่านภาพถ่าย FOTO_MOMO ที่ทุ่มกำลังทำมากว่า 3 ปี อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการมองเห็นคุณค่าอาคารเก่าได้บ้างแม้เพียงเล็กน้อย

โดยเฉพาะจากการเริ่มด้วยนิทรรศการภาพถ่าย The Cement City : Moçambique Modern – Through the lens of : BEER SINGNOI” ผ่านภาพตึกทั้งหมดกว่า 120 ชิ้น ที่จะจัดแสดงบน ชั้น L ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ระหว่างวันที่ 17-29 กรกฎาคม 2561 นี้

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าการเก็บภาพอาคารเก่าในโปรเจ็ค “FOTO_MOMO” พาคุณไปที่โมซัมบิก และสุดท้ายมาจบที่การจัดนิทรรศการที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ได้อย่างไร

Beer Singnoi: นิทรรศการนี้เริ่มจากสถานทูตไทยประจำกรุงมาปูโต (Mabuto) ที่ประเทศโมซัมบิก เขาพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยการใช้ศิลปะเป็นสื่อ เขาเห็นว่าเราสนใจถ่ายภาพตึกโมเดิร์น เขาก็เลยชวนเราไป โดยมี 3 หน้าที่หลักๆ หนึ่งก็คือไปถ่ายตัวอาคารสถานทูต ซึ่งเขาจะเก็บบันทึกเป็นข้อมูล สองคือไปถ่ายรูปตึกต่างๆ ในฐานะที่เราสนใจตึกโมเดิร์น ซึ่งที่มาปูโตก็จะมีตึกสไตล์ Art Deco อยู่เยอะ และสามคือเอารูปผลงานตึกโมเดิร์นของเราในประเทศไทยไปติดตั้งที่สถานฑูต ซึ่งเราก็เอารูปพวกสการ์ลา ตึกฟักทอง ตึกฟิสิกส์ที่ ม.เกษตร เหล่านี้ไปติดประดับในห้องทำวีซ่า เหมือนเป็นหน้าต่างบานแรกที่จะให้คนต่างประเทศเห็นภาพลักษณ์ของไทยในอีกรูปแบบหนึ่งที่มันต่างจากวัดพระแก้ว หรือตลาดน้ำ

room: คิดว่าทำไมเขาจึงสนใจภาพลักษณ์ของไทยแบบที่ไม่ใช่วัด วัง หรือตลาดน้ำ

BS: มันก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของภาพลักษณ์ของประเทศไทยน่ะ บางทีถ้านักท่องเที่ยวมาอาจจะเห็นแค่ วัด วัง…มันก็เห็นจนเบื่อแล้ว มันก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าเขาสนใจเรื่องอื่นๆ บ้าง พวกอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มันก็น่าสนใจ เขาก็เล็งเห็นตรงนี้

ซึ่งจริงๆ กระแสของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ผมว่าตอนนี้ทั่วโลกก็กำลังเริ่มๆ เบ่งบานนะ เพราะมันอาจจะถึงช่วงอายุที่อาคารยุคนี้มันจะตกอยู่ที่ 50 – 60 ปี มันจะเริ่มกลางเก่ากลางใหม่แล้ว คนมันจะเริ่มหันมามองคุณค่ากันมากขึ้น

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: เป้าหมายของ FOTO_MOMO ตั้งแต่ก่อตั้ง

BS: FOTO_MOMO เริ่มมาจากตอนแรกๆ เราคิดแค่ว่า เราสนใจตึกโมเดิร์น เราก็รวบรวมภาพถ่าย หนึ่งคือเพื่ออยากจะอนุรักษ์มันด้วย ตอนที่เริ่มทำจริงๆ มันเกิดกระแสจากที่ว่า ตึกโชคชัย ตึกดุสิตธานี ตึกธนาคารกรุงศรีฯ สกาล่า ตึกอะไรต่างๆ ในยุคนี้มันจะเริ่มมีข่าวว่าจะถูกทำหลายหรือเปลี่ยนแปลง เราก็อยากจะเก็บมันไว้ แต่เราก็ตัวเล็กๆ เราทำอะไรไม่ได้มาก เราก็เก็บเป็นภาพถ่าย เป็นความทรงจำไว้ จุดเริ่มต้นมันก็มาจากตรงนั้น

พอเก็บๆๆ ทะยอยๆ สะสมมันมาเรื่อยๆ มันก็เริ่มจะเห็นภาพมากขึ้น จากกรุงเทพฯ ขยายไปต่างจังหวัด จนจากเดิมทีเราตั้งใจไว้แค่ในประเทศ พอมีคนรู้จักเยอะมากขึ้นเราก็มีโอกาสได้ออกไปมากกว่าประเทศไทย ต่างประเทศก็มีตึกในยุคนี้เยอะมากเหมือนกัน เอาแค่ประเทศใกล้ๆ บ้านเราอย่างมาเลเซีย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย นี่ก็เยอะ ขยายไปอีกหน่อยอย่างญี่ปุ่นนี่ก็เพียบ เราก็โชคดีที่ได้ไปไกลถึงโมซัมบิก

room: คุณผลักดันตัวเองด้วยอะไร

BS: เราเป็นช่างภาพอาชีพอยู่แล้ว มันก็ไม่ยากอะไรสำหรับเราเลยที่จะออกไปถ่ายรูป ถ่ายตึกต่างๆ เหมือนไปเที่ยวตึก มันก็เหมือนเป็นการทำงานแบบหนึ่ง แต่เราไม่ได้เงินเท่านั้นเอง มันเหมือน…ก็อยากรู้ มันก็ต้องทำ

room: เหมือนเป็นงานอดิเรก

BS: ตอนแรกๆ ก็คงจะเป็นงานอดิเรก ตระเวนออกไปถ่ายโดยที่ไม่มีใครจ้าง ทำด้วยความสนองตัณหาของตัวเอง อยากจะเก็บๆๆๆ เหมือนคนบ้าสะสมน่ะ เราสะสมตึกให้เยอะที่สุด มันออกแนวว่าอยากสะสมมากกว่า แล้วเอารูปมาโชว์กัน

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: การได้ไปที่โมซัมบิกตรงกับเป้าหมายในการถ่ายภาพของคุณมากแค่ไหน

BS: ก็ตรงอย่างมากเลย เป็นโชคดีของเราที่เขาชวนไป เพราะแอฟริกานี่ก็ไม่ได้อยู่ในสารบบที่เราเคยคิดว่าจะได้ไป ไปเองก็ลำบาก งบเงิบก็ไม่ค่อยมี เขาชวนไปก็ถือเป็นโชคดีมาก แล้วมันก็…โห ไปถึงก็เจอตึกโมเดิร์นอย่างที่แบบคิดไว้จริงๆ มันเยอะมาก เป็นหนึ่งในมิชชันที่เหมือนว่า…สำเร็จแล้ว ได้ขยายงานถ่ายภาพตึกโมเดิร์นไปต่างประเทศ

ตอนแรกก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับอาคารที่นี่เลย ประวัติศาสตร์อะไรต่างๆ เราก็ไม่รู้เลย มาเริ่มหาข้อมูลจากศูนย์ ก็พบว่า โมซัมบิกก็ถือว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่เป็นแนวหน้า แต่มันมีความแตกต่างตรงที่ว่า เคยเป็นเมืองขึ้นโปรตุเกส ลักษณะสถาปัตยกรรมมันก็เลยกลายเป็นสไตล์โปรตุเกส ซึ่งโปรตุเกสก็จะมีความเด่นด้าน Art Deco มันจะต่างจาก…ยกตัวอย่างแอฟริกาใต้ ที่ถูกปกครองโดยอังกฤษ ซึ่งจะเป็นสไตล์วิคตอเรีย หรือหลุยส์ๆ อะไรอย่างนี้

room: บริเวณที่ไปคือบริเวณที่เรียกว่า “Cement City”

BS: Cement City คือโซนหนึ่งที่อยู่ในตัวเมืองมาปูโต อยู่ทางตอนใต้ของโมซัมบิก Cement City มันคือเขตในเมืองน่ะ เขตชนชั้นปกครอง แล้วมันก็จะมีเขตชานเมืองซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอยู่ พอโปรตุเกสมาสร้างอาณานิคม สร้างการปกครอง เขาก็ต้องสร้างอาณาเขตของเขาขึ้นมา สร้างสถานที่ราชการ ศูนย์บัญชาการต่างๆ ตึกใหม่ๆ มันก็เลยกระจุกตัวอยู่รวมเป็นเมือง รวมไปถึงการออกแบบผังเมืองใหม่ๆ ด้วย

ทีนี้ ย้อนไปก่อนหน้านี้ คนท้องถิ่นเขาก็อยู่กันแบบง่ายๆ คือสร้างอาคารด้วยวัสดุที่มันหาได้ในท้องถิ่น ดิน อิฐ ไม้ คนพวกนี้เขาก็ถูกกันไปอยู่อีกโซนหนึ่ง คนพวกนี้จะไม่มีสิทธิ์มาสร้างอาคารถาวรเลย อาจจะด้วยสภาวะเศรษฐกิจเขาด้วย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: คุณไปเห็นเขาใช้งานตึกเก่ากัน โดยเฉพาะในอาคารสำคัญๆ

BS: ใช่…แต่ผมคิดว่า เขาไม่ได้เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมอะไรขนาดนั้นเหมือนกัน คือมันเป็นเงื่อนไขบังคับน่ะ ตึกมันก็มีอยู่แล้ว หน่วยงานมันก็ต้องใช้ มีอยู่เท่านี้ ก็เหมือนใช้เท่าที่มีอยู่ เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีนัก ไม่ได้จะไปสร้างตึกอะไรมากมาย เทคโนโลยีอะไรก็ยังไม่พร้อม ก็เลยต้องอยู่กันอย่างนี้

มันอยู่ในช่วงที่กำลังเป็นรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลง สำหรับประเทศโมซัมบิก

room: การไปเก็บภาพเมืองในโมซัมบิก เป็นเป้าหมายหนึ่งในความต้องการอนุรักษ์อาคารเก่าไหม

BS: ถ้าของโมซัมบิกนี่ มิชชันมันอาจจะไม่คล้ายเสียทีเดียว มันเป็นเชิงไปเปิดหูเปิดตาเรามากกว่า ให้เห็นว่าประเทศในแอฟริกามันก็มีอะไรอย่างนี้อยู่ มันทำให้เราเห็นโลกกว้างมากขึ้น ว่าที่แอฟริกาที่เขามีตึกโมเดิร์นแบบนี้ แล้วเขาก็ยังใช้งานมันอยู่ในปัจจุบัน แล้วต่อไปเขาจะเก็บหรือไม่เก็บมันไหม มันก็จะเป็นบทเรียนอันหนึ่งได้ว่า เราควรจะจัดการกับตึกโมเดิร์นในลักษณะเดียวกันนี้ของบ้านเราอย่างไร

โมซัมบิกแทบจะไม่มีตึกใหม่ๆ เลย น้อยมาก ซึ่งถ้าหากโมซัมบิกเขามีเป้าหมายในการเก็บตึกเก่า เขาก็อาจจะสามารถพัฒนาเมืองหรือประเทศไปในทางที่อาจจะถูกต้อง แต่ถ้าหากเขาไม่เห็นคุณค่า เขาก็ทุบทำลายไป 20 ปี 30 ปีต่อไปก็อาจจะเหมือนเมืองไทยทุกวันนี้ก็ได้

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: ภาพที่เลือกมาอยากบอกอะไรกับคนดู

BS: เราเชิญ Filipe Branquinho ช่างภาพชาวโมซัมบิกมาช่วย Curate ด้วย ซึ่งก็เป็นช่างภาพที่สไตล์ภาพคล้ายกันมาก เราอยากให้เห็นบรรยากาศกว้างๆ ของเมืองมากกว่า ด้วยเวลาที่มีอยู่สองอาทิตย์คงไปเก็บบรรยากาศได้ไม่ครบมาก แต่สิ่งที่พอจะเห็นได้ก็คือภาพบรรยากาศโดยรวมของเมือง ว่าประเทศเขาหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ มีตึกอาคารอย่างนี้ อาศัยความถนัดของตัวเอง ที่เราถนัดถ่ายสถาปัตยกรรม

อยากให้คนเห็นคุณค่าของอาคารโมเดิร์น ที่เมืองนอกเขาก็มีนะ อยากให้มองมากกว่าในประเทศไทยเราเอง

room: การได้ไปโมซัมบิกเปลี่ยนความคิดคุณบ้างไหม

BS: (นิ่งคิด) จริงๆ ก็ไม่ได้เปลี่ยนมากนัก เพราะว่าตึกหรือสถานการณ์เขาก็ไม่ได้มีการอนุรักษ์ตึกที่ดีมากๆ แค่รู้สึกว่าโมซัมบิกมันเปิดโลกเรามากกว่า แต่ประเทศที่เพิ่งไปกลับมาอย่างอังกฤษ อันนี้รู้สึกเปลี่ยนเลย สถานการณ์การเห็นคุณค่าของตึกโมเดิร์นที่นู่นดีกว่าเยอะ ดีกว่าบ้านเราเยอะ และดีกว่าโมซัมบิกเยอะ เขาเห็นคุณค่าและเขาซ่อมแซม ใช้งานมันอย่างดี

ช่างภาพสถาปัตยกรรม

room: การมีนิทรรศการเป็นของตัวเอง ถือว่าเป็นความสำเร็จไหมในฐานะ ช่างภาพสถาปัตยกรรม

BS: ในแง่ความรู้สึกส่วนตัวมันก็ถือว่าไกลมาก ในส่วนของ FOTO_MOMO เอง ตอนแรกเราก็ทำเล่นๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่าคนจะมาสนใจ เราก็ทำไปเรื่อยๆ น่ะ ไม่ได้เป็นองค์กรอะไร พอมันออกเป็นนิทรรศการก็ไกลกว่าที่คิด

room: คาดหวังอะไรต่อจากนี้

BS: ถ้ามันส่งผลให้คนเริ่มให้ความสำคัญกับตึกโมเดิร์น แล้วมันหยุดยั้งการทำลายได้ เราก็คาดหวังให้เป็นอย่างนั้น ถ้า FOTO_MOMO มันไปหยุดเหตุการณ์ที่มันจะเกิดการทุบทำลายอาคารพวกนี้ อย่างน้อยไม่หยุดก็ชะลอไป ให้คนมาศึกษา เก็บข้อมูลมันอย่างเต็มที่ก่อนที่จะถูกทำลาย บางทีมันจะเป็นประโยชน์ต่อภายภาคหน้า

ไม่งั้นเราอาจจะไม่เหลือตึกรุ่นแรกๆ ให้ดูกันแล้ว


นิทรรศการ The Cement City : Moçambique Modern

Through the lens of : BEER SINGNOI

Curator : Filipe Branquinho

Organized by
Royal Thai Embassy in Maputo
and Ministry of Foreign Affairs

วันที่ 17-29 กรกฎาคม 2561
ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (Bangkok Art and Culture Centre – BACC)


เรื่อง กรกฎา

ภาพ Paula

อ่านต่อ

ก่อนยกตึกแขวนผนัง : ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน – นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมกับนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา

ไม่หยุด“คิด” กับ สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้บุกเบิกวิชาชีพถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในไทย