จูน เซคิโน สถาปนิกที่ขอแข่งกันช้าในโลกยุคดิจิตทัล - room
จูน เซคิโน่

จูน เซคิโน แห่ง JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN สถาปนิกที่ขอแข่งกันช้าในโลกยุคดิจิทัล

จากนักฟุตบอลยุวชนชุดแชมป์โลก เด็กหลังห้องที่เกือบรีไทร์ กลายมาเป็นหนึ่งสถาปนิกที่โดดเด่นในวงการออกแบบไทย จูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design ที่ขอแข่งกันช้าในโลกยุคดิจิทัล

Studio Visit คราวนี้พามาพูดคุยกับสถาปนิกไฟแรง จูน เซคิโน ถึงความเชื่อและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน รวมไปถึงความผิดพลาดในอดีตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้

Junsekino Architect and Design

ในวัยเรียนจูน เซคิโน เด็กลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลธำรงค์ไทยที่เคยสร้างชื่อเสียงเป็นแชมป์โลก ในรายการฟุตบอลชิงแชมป์ยุวชนโลก Gothia Cup ที่สวีเดน รุ่นเดียวกับ เรย์ แมคโดนัลด์ และชาคริต แย้มนาม เติบโตมาเป็นเด็ก ม.ปลายหลังห้องที่รักการเรียนศิลปะ จนวันนี้เป็นอีกหนึ่งบริษัทสถาปนิกไทยที่มีรางวัลระดับนานาชาติมาประดับออฟฟิศ จากการทำงานอย่างใส่ใจในทุก ๆ โปรเจ็กต์ที่ได้รับโดยเฉพาะงานออกแบบบ้านที่เป็นจุดเด่นของบริษัท

room : ช่วยเล่าถึงวันแรกที่เปิดออฟฟิศหน่อยครับ

Jun Sekino : “ตอนนั้นเป็นฟรีแลนซ์อยู่ 2 ปี ก็อยู่ฝั้งตรงข้ามออฟฟิศปัจจุบันนี่แหละครับ ทำงานที่บ้านอยู่กับแมวตัวหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่าต้องเอาตัวเองออกจากจุดนั้น แบบมันไม่ไหวละ พอดีมีเพื่อนทำงานอยู่ชิดลม ก็เลยขอไปนั่งในออฟฟิศเขามุมหนึ่ง ขอเก้าอี้เขาตัวนึงไปนั่งก่อน เดือนละสองพัน เพื่อจะเริ่มสร้างระบบว่า เฮ้ย เราตื่นเช้านั่งเรือไปทำงาน เจอผู้คนบ้าง อยู่ดี ๆ มันเปิดไม่ได้หรอกฮะ ซึ่งผมคิดว่าผมคิดถูกมากเลย ผมอยู่ในระบบครบลูฟแล้ว ออกมาทำเองแล้ว รู้ว่าอะไรเป็นจุดดี จุดด้อยของตัวเอง จนเริ่มมีพนักงานคนแรกเมื่อปี 2010 ทุกวันนี้ยังคุยเพื่อนคนนั้นเลยว่าขอบคุณมากกับโต๊ะตัวนั้น มุมนั้น ที่ให้เรานั่งอยู่ตรงชิดลม (หัวเราะ)”

Junsekino Architect and Design

RM : โปรเจ็กต์แรกๆ เป็นอย่างไรบ้าง

JS : “จริงๆ 3 งานแรกผม fail หมดนะ ผมไม่อายเลย fail ไม่ใช่เพราะงานไม่ดีนะครับ แต่ fail เพราะว่าเราเด็กมากเลย เป็นเรื่องวิธีการจัดการของเรา ทำให้เรารู้เลยว่างานสถาปัตยกรรมหรือวิชาชีพของเราสถาปนิกเนี่ยมันไม่ใช่งานออกแบบอย่างเดียว มันเป็นงานเซอร์วิส เป็นงานการจัดการ ซึ่งตอนเราเรียนหรือทำงานในระบบเราอาจจะไม่รู้ แต่พอเราออกมาเองมันเป็นเรื่องของเรา ผมว่าดีไซน์จริงอาจจะแค่ 40% เอง

“ใน 2-3 งานแรกผม fail มากเลย เพราะเราไม่มืออาชีพพอ แต่สุดท้ายงานก็เสร็จ เป็น 2-3 งานที่ทำให้ผมมีวันนี้เลย แล้วพอเวลามันพลาดไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งเจ้าของโปรเจ็กต์ก็กลับมาคุยกันนะ เหมือนเฮ้ยเจ้าของโปรเจ็กต์เขาให้อภัยเรา และก็ให้เครดิตเรา แล้วไม่มีอคติต่อกัน ต่างคนต่างแฮปปี้ในจุดของตัวเอง แล้วก็ทำให้ผมโตจากงานออกแบบบ้านจนมีวันนี้”

Junsekino Architect and Design

RM : แล้วตั้งแต่ทำมาชอบโปรเจ็กต์ไหนมากที่สุด

JS : “มีหลายคนชอบถาม ผมเองก็ไม่รู้ บางงานโปรแกรมน่าสนใจ บางงานโปรแกรมธรรมดามากๆ เลย แต่เฮ้ยเจ้าของน่าสนใจแบบโห้ย มีคนแบบนี้ในโลกด้วย หรืองานต่อไปผมอาจจะชอบการแก้ปัญหาของมัน เจ้าของปกติ โปรแกรมก็ธรรมดา แต่การแก้ปัญหาระหว่างทางมันให้อะไรเราเหมือนเราเล่นเกมส์ ค่อยๆ ผ่านด่านไปจนงานเสร็จ จากวันแรกจนวันสุดท้ายมันอาจจะเจือจางไปแต่มันได้เรื่องอื่น ๆ ผมว่าไอ้ข้อเนี่ยมันทำให้แต่ละโปรเจ็กต์มีความน่าสนใจ แต่บางทีงานที่ทำให้คนจำเราได้หรือได้รางวัล มันเป็นงานที่เราทีแรกไม่อยากทำนะฮะ อย่าง Brick House เราก็ไม่ได้อยากทำ

“สุดท้ายมันก็สอนวิธีการทำงาน สอนการมองสถาปัตยกรรมของผมพอสมควร เป็นจุดเปลี่ยน รวมถึงโรงเรียนพอดีพอดี คือไม่ได้คิดอะไรเลยครับ คือแค่ตั้งใจทำให้เสร็จ ไม่ได้หวังอะไร แต่มันก็พาพวกเราไปได้รางวัลทั่วโลก บางทีเรามี need มากไปกับสถาปัตยกรรม มันทำให้เราพลาดของระหว่างทาง หรือพลาดอะไรที่มันทำให้เราดีขึ้น เราโดนสอนมาให้ตั้งใจ ต้องไม่ประนีประนอม แต่ในการทำงานมันเปลี่ยนตลอดเวลา เราทำงานกับคน ไม่ใช่แค่ผมนะ มันให้กับเด็กๆ ให้กับทีมด้วย ให้กับวิศวกร ให้กับเจ้าของ สำคัญมากตื่นเช้าผมก็เปลี่ยนไปทุกวันเพราะมันเจอปัญหาใหม่เรื่อย ๆ “

RM : เวลาเจอปัญหา เรามองมันยังไง

JS : “เมื่อก่อนเนี่ยผมเป็นคนโคตรกลัวปัญหาตั้งแต่เรียนเลย ตอนเรียนผมจะทำงานให้เยอะที่สุดเลย เพื่อนๆ ในรุ่นจะรู้เลยเพราะผมไม่อยากพรีเซ้นต์ ไม่อยากโดนอาจารย์วิจารณ์ ทำให้เยอะที่สุด แล้วจบให้เร็วที่สุด ไม่อยากอธิบาย พูดง่ายๆ คือเป็นคนหนีปัญหาฮะ หู้ย เมื่อก่อนเจอปัญหาทีผมปวดท้องเลย แต่เดี๋ยวนี้ เราทำงานกับคนซึ่งมีความหลากหลายมาก เราพูดถึงสถาปัตยกรรมซึ่งเหมือนเราทำสิ่งที่อยู่กับที่ แต่จริงๆ แล้วไม่เลย มันเกี่ยวข้องกับคนเยอะมากเลย เป็นธรรมดาที่แต่ละคนจะมีความต้องการต่างกัน ก็พยายามมองปัญหาในแง่บวก

“ทุก ๆ ครั้งผมจะมองว่า worst case ที่เกิดขึ้นเราโอเคกับมันไหม ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ การก่อสร้าง เจ้าของ ผมพูดกับน้องเสมอว่าพูดแบบขำๆ น่ะฮะ เฮ้ย แล้วแม่งจะยังไงว่ะ แล้วมันจะโอเคป่ะ คือถ้ามันโอเคก็โอเคฮะ เราไม่ได้โลกสวย คือเรามองว่าถ้ามันเกิดเรื่องที่เราไม่อยากเจอ เราจะทำยังไงกับมัน ถ้ามันไม่โอเคเราต้องสังวรณ์กับมัน เราจะรู้ว่าจะเจออะไรระหว่างทาง สมัยก่อนเราก็จะร่น แต่ตอนนี้ก็แก้ไปอ่ะครับ ข้อแรกเรามีความตั้งใจดีก่อน อันเนี่ยสำคัญ สุดท้ายคนตัดสินอาจไม่ใช่เรา อาจเป็นคนใช้งาน เป็นเจ้าของอาจเป็นสื่อ ขอให้ตั้งใจดีก่อน ผมว่าสถาปนิกทุกคนตั้งใจดีล่ะ อยากให้งานดี แต่ความดีแต่ละเนอะพอพูดถึงความดีมันยากอ่ะ ผมเชื่อว่าเราโดนสอนมาเพื่อให้ทำอะไรดีๆ ฉะนั้นเวลาเราเจอปัญหา ก็ธรรมดาครับ ทำงานต้องมีปัญหา”

RM : อะไรคือความท้าทายของจูน เซคิโน ในวันนี้

JS : “การที่เราตื่นเช้ามา แล้วมีคน มีลูกค้าอยากให้เราทำงานเนี่ย ผมโคตรแฮปปี้เลย ไม่เกี่ยวกับเรามีชื่อเสียง หรืองานเราดี หรือเทรนด์อะไร แต่แสดงว่าเรามีคุณค่าบางอย่างที่เขาอยากให้เราทำอยู่ เนี่ยล่ะสำคัญ เป็นตัวหล่อเลี้ยงเลย ผมไม่ได้มองไกลนะครับว่า 50 จะเป็นยังไง ได้แชร์กัน ได้ไปดูไซน์ ได้เฉลิมฉลองดื่มด่ำกับมัน เนี่ยล่ะความสุขแล้ว”

RM : อย่างเวลาลูกค้ามาหาจูน เซคิโนที่ออฟฟิศ คิดว่าเขาคาดหวังอะไร

JS : “ผมจะถามก่อนเลยว่า รู้จักผมได้ยังไง ลูกค้าจะมีอยู่ 2 แบบ ผมจะอธิบายให้เขาเข้าใจ เหมือนเราเป็นคนเดินอยู่ริมหาด ก็จะมีรอยเท้าลูกค้า ก็จะเดินตามรอยเท้าเรามา พอมาเจอเรา ผมก็ถามว่าปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เราทำมันคือ 4-5 ปีที่แล้ว คุณต้องการรอยเท้าเราหรือสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้าต้องการปัจจุบันก็เสี่ยงนิดนึง เพราะเราก็ไม่รู้อนาคตเป็นยังไง แต่ถ้าต้องการแค่รอยเท้าก็ง่าย ง่ายเลยเพราะเขาเห็นสิ่งที่เราทำมาแล้วซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีนะฮะ ลูกค้าก็คาดหวังครับ ให้ผมไปเซอร์วิสเแบบที่เป็นสไตล์คุณจูน ตัวตนคุณจูนเลย ซึ่งผมก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวตนของผมเป็นยังไง (หัวเราะ) อาจเป็นที่บุคลิคมากกว่าเพราะการทำบ้าน เซอร์วิสเนี่ยสำคัญ ผมว่าผมไม่ค่อยมีข้อแม้นะ ผมเป็นคนง่ายๆ มาแบบไหนคุยได้หมด ซึ่งบางทีก็ไม่ดีเลย (หัวเราะ)

“สถาปัตยกรรมมันเริ่มในอากาศ แล้วเราก็เอาสวิงไปโกยมันมา ปัจจุบันผมว่า story telling กับ life มันน้อยลง ตอนนี้ mapping กับ mood and tone มันเยอะขึ้น เราขายภาพกันโหด บางคนทำ 10 แบบ ในอาทิตย์เดียว มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ เราอาทิตย์เดียวก็ยากล่ะ แต่ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ แต่ผมแบบนั้นไม่ได้ เรายังทำแบบแมนนวลอยู่เลย แต่เราดีใจที่เราช้าได้นะ ผมทำบ้านหลังหนึ่ง 6-7 เดือน ถ้าในแง่ธุรกิจออฟฟิศอื่น อาจะบอกเฮ้ยมันอยู่ได้ยังไง แต่ผมก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าให้เวลาเรา แม้แต่บ้านหลังเล็กๆ ก็ทำ 5-6 เดือน ผมอยากให้มันเยอะ พอมันเยอะ เจ้าของบ้านก็เหมือนหนอนที่พันในแอปเปิ้ลเรานานๆ มันได้ดื่มด่ำในแอปเปิ้ลเรา อย่างน้อยก็จะรู้ว่าอะไรชอบไม่ชอบ เพราะถ้ามันเร็วมากมันก็จะขาดบางเรื่องไป ทุกๆ โปรเจ็กต์ผมก็ทำด้วยมาตราฐานเดียวกันนะ

“ส่วนดิจิทัลมันก็ทำให้เรารู้จักคนมากขึ้น ได้รู้จักคนที่บางทีเราไม่มีสิทธิ์ได้เจอเลย แต่เขาก็มาเจอเรา ให้โอกาส ให้งานเรา แต่จะเป็นดิจิตอลไปเลยไหม ผมพยายามดึงให้มันช้านะ อยากให้มันค่อยไป ชนะเลิศหากเราให้มันช้าได้ คุณแข่งกันเร็ว เราแข่งกันช้า (หัวเราะ)”

จูน เซกิโน่
คุณจูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design ในห้องทำงาน สีขาวสะอาดตาดูเรียบร้อยและอบอุ่น ท่ามกลางโมเดลบ้านสวยๆ หลายหลังผลงานของออฟฟิศ

อ่านต่อ : ผลงานออกแบบบ้านบางส่วนของ Junsekino Architect and Design

Nature House
Nature House

อ่านต่อ : Nature House บ้านโมเดิร์นใน สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น

Bridge House
Bridge House

อ่านต่อ : Bridge House เชื่อม ใจ รัก

Brick House
Brick House

อ่านต่อ : Brick House บ้านอบอุ่นในกล่องอิฐ

TINMAN HOUSE
Tinman House

อ่านต่อ : Tinman House เพราะหัวใจของบ้านคือเรา

บ้านสไตล์โมเดิร์น
K22 House

อ่านต่อ : K22 House บ้านสไตล์โมเดิร์นของเรา 2 GEN


เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: นันทิยา
วิดีโอ: ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ตัดต่อ: วงศกร จิรชัยสุทธิกุล