บ้านสไตล์ลอฟต์ สุดเท่ของศิลปินคู่รักสุดแนว : เบาเฮ้าส์ - room
บ้านโมเดิร์น

เบาเฮ้าส์ บ้านสไตล์ลอฟต์สุดเท่ของศิลปินคู่รักสุดแนว

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะที่ควรก็ถึงคราวแล้วที่พื้นที่ตรงนี้จะได้รับการเติมเต็มด้วยสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง หรืออาจจะหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ บ้านสไตล์ลอฟต์ สุดเท่บนที่ดินผืนนี้

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ-ตกแต่ง : คุณสถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และ บริษัท Ken Lim Architects

บางอย่างที่ว่าจึงเป็นจุดเริ่มต้นอีกบทหนึ่งในชีวิตคู่ของ คุณตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ตั้ม แห่งวงโมโนโทน (Monotone) และคุณเปิ้ลหน่อย-วรัษฐา พงศ์ธนานิกร ดีเจสาวและครูสอนบัลเล่ต์ โดยวันนี้ทั้งคู่ได้ตัดสินใจหันหลังให้บ้านเช่าที่เคยเป็นทั้งร้านอาหาร ห้องบันทึกเสียง และสตูดิโออย่างร้านสตูเฟ่ เพื่อมาสร้าง บ้านสไตล์ลอฟต์ ของตนเองแบบจริงจัง บนพื้นที่กว่า 260 ตารางวา ให้กลายเป็นอีกหนึ่งภาคต่อของชีวิต

 

บ้านสไตล์ลอฟต์

“ผมว่าถึงเวลาก้าวไปสู่สเต็ปต่อไปอย่างจริงจังแล้ว พอดีที่ดินตรงนี้เป็นของบ้านเปิ้ลหน่อยอยู่แล้ว เราทั้งคู่ต่างคิดไว้นานแล้วว่าจะมีแพลนทำอะไรดี ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะลุกขึ้นมาเขียนแบบ พอได้ทำแบบไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มสนุกเหมือนเด็กได้กลับไปตัดโมเดลอีกครั้ง และด้วยความที่เราเป็นสายแอนะล็อก สายOld school ก็จะใช้วิธีสเก็ตช์แบบ และขึ้น mass โดยเราไม่ได้ขึ้นแบบด้วย 3D เหมือนสมัยนี้ ซึ่งการได้จับอุปกรณ์และได้ทำทุกขั้นตอนด้วยมือแบบนี้ก็เป็นความสนุกไปอีกแบบ”

นอกจากจะมีชื่อจริงว่า “สถาปัตย์” แล้ว คุณตั้มยังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาตร์อีกด้วย  แต่ถึงแม้ทุกวันนี้เขาแทบจะไม่ได้จับงานออกแบบเลย แต่เมื่อถึงคราวต้องออกแบบบ้านของตัวเองขึ้นมาสักหลัง เขาก็ขอเคาะสนิม แล้วลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตนเองจนเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนจะได้รุ่นพี่สถาปนิกจาก Ken Lim Architects เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนของงานโครงสร้างและการก่อสร้างจริงเพื่อให้บ้านขยับเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด

บ้านสไตล์ลอฟต์ บ้านสไตล์ลอฟต์

เมื่อเข้ามาในพื้นที่ของบ้าน เราจะได้พบกับอาคารหลังเล็กด้านหน้าหนึ่งหลังที่กำลังจะผันหน้าที่จาก AirBNB ไปสู่การเป็นพื้นที่สำหรับให้เช่าทำสตูดิโอ ถัดไปคืออาคารหลังใหญ่ที่อยู่ด้านหลังซึ่งมีฐานะเป็นมากกว่าบ้าน เพราะพื้นที่ชั้นล่างได้ทำเป็นสตูดิโอและห้องอัดเสียงแบบเต็มตัว ในนาม NO SOUND IN SPACE บวกกับพื้นที่เก็บของขนาดใหญ่ที่คุณเปิ้ลหน่อยขอไว้ เด่นด้วยพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นดับเบิ้ลสเปซแบบการาจสไตล์อินดัสเทรียลตามที่คุณตั้มใฝ่ฝัน โดยไม่เพียงเป็นแค่พื้นที่ใช้ชีวิตและพักผ่อนอยู่อาศัยของทั้งคู่เท่านั้น แต่กลับออกแบบไว้เผื่อเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ได้เข้ามาใช้งานบรรจุความทรงจำลงไป เป็นที่มาของการจัดสเปซแบบโอเพ่นแปลน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่อยากให้ใครมาที่บ้านแล้วโดนทิ้ง”

“จริง ๆ แพลนที่เราตั้งใจไว้คืออยากให้ที่นี่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการทำงานของเราได้มากที่สุด เช่นถ้าวันหนึ่งเราอยากถ่ายรายการทำอาหารก็สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ รวมถึงการถ่ายรีวิว ถ่ายรูป ถ่ายแฟชั่น ทำเป็นสตูดิโอแคสติ้ง หรือใครอยากเล่นดนตรีก็สามารถมาเช่าพื้นที่ได้ สิ่งพวกนี้คือสิ่งที่เราชอบทำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้ ต้องไปหาเช่าที่ หรือติดเรื่องงบประมาณ เป็นโจทย์ให้เราเลือกลงทุนกับการสร้างบ้านในลักษณะนี้ เรื่องสถานที่ เรื่องอุปกรณ์ตัดไป ทีนี้ก็เหลือแต่ความพยายาม”

บ้านสไตล์ลอฟต์ แบบห้องครัว

“ให้บ้านเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตอีกทีหนึ่ง ซึ่งตัวมันก็คงไม่ได้อมตะ อยู่อย่างนี้ไป ตลอด บางทีก็ดูแข็งแกร่ง ดูซอฟต์ บางทีก็มืด บางทีก็สว่าง บางทีก็เป็นธรรมชาติ”

บ้านสไตล์ลอฟต์ แบบห้องครัว

ด้วยฟังก์ชันที่ต้องการให้ชั้น 2 เป็นมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ควบรวมฟังก์ชันต่าง ๆ ไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นครัวพร้อมเคาเตอร์กลางขนาดใหญ่ คู่กับโต๊ะยาวที่ทั้งคู่ใช้งานอเนกประสงค์ตั้งแต่กินข้าว นั่งทำงาน ประชุม ไปจนถึงปาร์ตี้ กับอีกฟากหนึ่งที่ขณะนี้ใช้เป็นมุมสตูดิโอขนาดย่อม พรั่งพร้อมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดที่เรียกได้ว่าครบวง โดยมีฉากหลังเป็นผนังสีขาวเรียบ ๆ ที่คุณตั้มเตรียมไว้ให้กลายเป็น “Limbo” หรือฉากถ่ายภาพ สเปซนี้จึงยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายตามกิจกรรมหมุนเวียนเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ราวกับว่าบ้านหลังนี้ออกแบบมาให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“พี่ตั้มจะชอบทำอะไรแบบนี้ คิดแบบเสร็จเลยมันไม่ค่อยสนุก อย่างที่สถาปนิกเคยถามก่อนจะสร้างบ้านนี้ว่า อยากให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบฟิกซ์ไปเลย ทุกอย่างเสร็จวันนี้ก็จะเป็นแบบนี้ตลอดไป หรือแบบค่อย ๆ เติม เราก็ขอเลือกอย่างหลัง ค่อย ๆ ขยับปรับเปลี่ยนฟังก์ชันไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งจะลงตัวกับวิถีชีวิตและรูปแบบพฤติกรรมของเรามากกว่า” คุณเปิ้ลหน่อยบอกเล่าถึงไอเดียการออกแบบ ก่อนที่คุณตั้มจะเล่าเสริมว่า

แบบห้องนั่งเล่น

“ทำงานตรงนี้มันสนุก บางทีถ้าอยู่ในห้องอัด ความคิดจะบรรเจิดอยู่ได้ประมาณสองชั่วโมง เพราะมันเป็นห้องสี่เหลี่ยมทึบๆ แต่ข้างบนนี้ชิลกว่า คิดงานไป นั่งดูหนังไป” 

แบบห้องน้ำ ไอเดียแต่งห้องน้ำแบบห้องน้ำ ไอเดียแต่งห้องน้ำ

“มันเป็นความคิดแบบ unfinished architecture คือไม่ใช่ว่าดูไม่เสร็จ แต่จริง ๆ มันไม่มีวันเสร็จอยู่แล้ว หมายถึงอายุเราขนาดนี้ กับเราตอนนั่งรถเข็นบรรยากาศในบ้านย่อมไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำบ้านไว้รองรับอนาคตขนาดนั้น ตอนนี้เรามีที่ว่างพอสำหรับปรับไปตามความจำเป็นในอนาคตเหล่านั้นอยู่แล้ว จะมีลิฟท์เมื่อไหร่ก็ได้ หรือในวันที่เราไม่ไหวคงต้องลงไปอยู่ข้างล่าง บ้านก็สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามวัย ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ตลอด ถ้าวันหนึ่งเราไม่ชอบก็สามารถปรับเปลี่ยนหรือย้ายที่”

        เหนือไปกว่าการเป็นที่อยู่อาศัย บ้านหลังนี้ยังเคยเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานของทั้งคู่ด้วย เมื่อเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจัดงานในพื้นที่ที่มีความหมายสำหรับพวกเขา โลเกชั่นที่อยู่ในโรงแรมจึงตกไป เพราะพวกเขาต้องการสร้างภาพจำใหม่ให้กับบ้านตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์เสียด้วยซ้ำ ดังประโยคที่คุณตั้มได้พูดในคืนวันงานแบบเท่ ๆ ว่า

“เหตุผลที่จัดงานที่บ้านเพราะว่าที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา เราก็อยากให้ทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในจุดเริ่มต้นของเราไปด้วยกันครับ”

ในอนาคตเรามั่นใจว่าต้องมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นในที่ดินผืนนี้อย่างแน่นอน ในเมื่อความฝันของพวกเขาทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อรอการเติมเต็มภาพบ้านให้สมบูรณ์ขึ้นในทุก ๆ วัน ที่สำคัญคือต้องอยู่แล้ว เบากาย เบาใจ ตามชื่อบ้าน “เบาเฮ้าส์”

เจ้าของ: คุณตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และคุณเปิ้ลหน่อย-วรัษฐา พงศ์ธนานิกร
ออกแบบ: คุณสถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และ บริษัท Ken Lim Architects

เรื่อง: foryeah!
ภาพ: นันทิยา


อ่านต่อ บ้านสไตล์ลอฟต์