Facade (ฟา-ซาด) หมายถึง หน้าตาหรือเปลือกของอาคาร (Face of a Building) เป็นสิ่งที่เราเห็นและเกิดมีการจดจำตึกนั้นๆ แต่อาคารเก่าอายุหลายสิบปีมักดูไม่น่าสนใจสำหรับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะใครที่ต้องการปรับปรุงบ้านเพื่อขายต่อ หรือ ปรับโฉมตึกให้เข้ากับธุรกิจใหม่ ยิ่งไม่ควรละเลยการดีไซน์ฟาซาดให้สวยเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งยังเป็นไอเดียสำหรับคนที่มองหาบ้านมือสองจะได้ไม่กลัวข้อจำกัดของหน้าตาบ้านเก่า เพราะสามารถปรับปรุงและสร้างสรรค์ให้ว้าวได้ไม่แพ้บ้านใหม่เลย
1. ทำเปลือกหุ้มอาคาร
วิธีหนึ่งในการปรับปรุงหน้าตาอาคารเก่าที่ต้องการเปลี่ยนโฉมคือ การทำผนังใหม่หุ้มอาคารเก่าทั้งหลังเพื่อสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ซึ่งบางกรณีถือเป็นวิธีที่ดีกว่าการไปดัดแปลงอาคารเดิม อย่างการรีโนเวทอาคารเก่า 4 ชั้น ขนาดพื้นที่ 1,200 ตร.ม. ให้กลายเป็นออฟฟิศหลังนี้ที่ใช้โครงสร้างเหล็กห่อหุ้มตัวอาคาร โดยออกแบบแผงกันแดดติดตั้งกับโครงเหล็กแบบสลับช่อง และเว้นระยะห่างจากอาคารเดิมเพื่อให้เกิดช่องว่าง ทำหน้าที่กรองแสงจากด้านหน้าอาคารซึ่งโดนแสงแดดตลอดทั้งบ่าย นอกจากทำหน้าที่สร้างรูปลักษณ์ใหม่ให้อาคารแล้วยังทำให้ผู้ใช้อาคารรู้สึกปลอดภัยเหมือนได้รับการปกป้อง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดบังมุมมอง
สถานที่ D.P. GROUP
2. สร้างมิติด้วยรูปทรง
หากอาคารเก่าดูเรียบเกินไปจนขาดความน่าสนใจ การเพิ่มองค์ประกอบของรูปทรงจะช่วยสร้างมิติและมีประโยชน์ในการบังแสงแดดได้ด้วย เช่นเดียวกับโรงงานแปรรูปข้าวแห่งนี้ที่ตัวอาคารเก่าก็เหมือนโรงงานทั่วไป แต่ด้วยความคิดที่ว่าทำไมโรงงานจะมีดีไซน์โฉบเฉี่ยวบ้างไม่ได้ จึงได้รีโนเวทโรงงานที่เป็นตึกสองชั้นขนาด 600 ตร.ม.ให้
มีเปลือกอาคารยื่นหดเข้าออกสลับกัน แล้วบิดรูปทรงให้มีมิติน่าสนใจ พร้อมเจาะช่องเปิดในผนังด้านที่ถูกบิดนั้น เพื่อลดความรู้สึกเทอะทะและสร้างมุมมองที่ดูไม่ทึบตัน โดยใช้วัสดุอะลูมิเนียมคอมโพสิตกรุบนโครงเหล็กที่ดูทันสมัยเปลี่ยนภาพโรงงานเดิมไปอย่างสิ้นเชิง
สถานที่ Tip Ubon Rice Factory
3. ใส่หน้ากาก
อาคารพาณิชย์มักมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และหากเป็นอาคารที่สร้างติดกัน การทุบรื้อโครงสร้างเดิมอาจมีผลกระทบกับหลังข้างเคียง จึงนิยมออกแบบโครงสร้างของฟาซาดใหม่ให้เป็นเพียงหน้ากากเพื่อบังอาคารเดิม อย่างเช่นโฮสเทลนี้ซึ่งรีโนเวทตึกแถว 1 คูหา หน้ากว้าง 4 ม. อายุกว่า 30 ปี ที่อยู่ใจกลางเมืองให้โดดเด่นด้วยเปลือกอาคารสีขาวสะอาดตา โดยใช้แผ่นเหล็กเจาะรู (Perforate Sheet) มาสร้างแพทเทิร์นทรงสามเหลี่ยมที่อ้างอิงมาจากแพทเทิร์นของหลังคากระเบื้องว่าวอันคุ้นตาคนไทย เพื่อตอบโจทย์เจ้าของที่อยากให้โฮสเทลนี้มีความเป็นเอเชียและร่วมสมัย แน่นอนว่าทุกคนที่ผ่านมาเห็นต้องสะดุดตากับสีขาวโพลนที่มีดีเทลสวยงามจนลืมภาพตึกแถวเก่าๆ ไปเลย
สถานที่ Bed One Block Hostel
4. ผนังต้นไม้
หากไม่ชอบฟาซาดที่มีแต่โครงสร้างดูแข็งๆ ก็สามารถออกแบบพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้อยู่ร่วมกับผนังอาคารได้ จะทำให้อาคารดูมีชีวิตชีวาขึ้นทันที เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่ออกแบบบ้านให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยทำผนังช่องลมด้านหน้าเพื่อช่วยกรองแสงแดดพร้อมปลูกไม้เลื้อย อีกทั้งออกแบบระเบียงชั้นบนเป็นสวนให้ต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มผนังหน้าอาคาร ที่เห็นแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าภายในบ้านจะร่มรื่นขนาดไหน
สถานที่ บ้าน Mr. Nguyen Huu Sinh
5.เล่นสีและลวดลาย
วิธีการปรับปรุงอาคารแบบลงทุนน้อยแต่ให้ผลมากคือ การใช้สีสันทำให้ดูสวยสะดุดตา อย่างการปรับปรุงตึกแถวเก่า 2 ชั้น เป็นคาเฟ่สุดชิคที่ใช้โทนสีน้ำเงินสร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่น และเป็นที่จดจำได้ง่าย โดยทำพื้น ผนัง ป้าย รวมถึงคอนเพรสเซอร์แอร์ให้เป็นสีน้ำเงินเข้ม แล้วเพ้นท์ลายคลื่นเป็นเรื่องราวตามคอนเซ็ปต์ของร้าน เท่านี้ก็ทำให้ดูสวยเด่นเกินกว่าจะมองผ่านไปเฉยๆ แล้ว
สถานที่ Blue Whale
เมื่อเห็นแล้วว่าอาคารเก่าที่แสนเชยก็สามารถเปลี่ยนโฉมใหม่ได้แบบพลิกฝ่ามือ การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็ควรเลือกทำเลที่ดีเป็นอันดับแรก โดยไม่ต้องกลัวว่าเป็นอาคารเก่าหรือบ้านมือสองที่ยังไม่ถูกใจกับหน้าตาบ้านเดิม ซึ่งทำเลดีๆ ที่ว่านั้นส่วนใหญ่มักเป็นทรัพย์มือสอง ดังนั้นหากใครกำลังมองหาบ้านหรืออาคารในทำเลดีๆ เราขอแนะนำแหล่งทรัพย์สินมือสองหรือ NPA ที่บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว ที่ดิน ในทำเลดีที่หายาก สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ Call Center 02-686-1888 หรือดูรายละเอียดทรัพย์สินได้ที่เว็บไซต์ www.sam.or.th และแอปพลิเคชัน “Sam Smile App” รวมทั้งช่องทางใหม่ล่าสุดทาง Line โดยแอด ID Line “@Samline” เพื่อรับข้อมูล สาระและโปรโมชั่นดีๆ และอย่าลืมติดตามชมไอเดียการปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าบ้าน ในรายการบ้านและสวน The Renovation | AMARIN TV HD | อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00-12.30 น.