จำเป็นไหมที่ ร้านขายยา จะต้องเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมสีขาว จัดวางยาขนานต่าง ๆ ยาวเรียงรายอยู่บนชั้นวาง เพื่อรอเภสัชกรมาเลือกหยิบยาตามอาการป่วยและความต้องการของลูกค้า จ่ายยา คิดเงิน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
Waterfrom Design สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมไอเดียจัดจ้าแห่งประเทศไต้หวันกลับไม่คิดว่า ร้านขายยาควร จะเป็นเช่นนั้น
“MOLECUREPHARMACY” คือผลงานการออกแบบร้านยาในเมืองไถจง ประเทศไต้หวัน ภายในคูหาของตึกแถวสองชั้น ขนาด 120 ตารางเมตร โดยมีคุณ Nic Lee ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ของ Waterfrom Design เข้ามาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านขายยาเสียใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของที่ต้องการพลิกโฉมคำว่า “ร้านขายยา” ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
โดยผู้ออกแบบได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “ครอบครัวของลูกค้าดำเนินกิจการร้านขายยามาหลายเจเนอเรชั่น จึงมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมยา และการเปิดร้านเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากต้องการให้เกิดความแตกต่าง และเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของร้านขายยาไปจากเดิม การสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับมอบหมายจึงเป็นสิ่งน่าสนใจและท้าทายไม่น้อย
“คำว่า “MOLECURE” มาจากการผสมคำสองคำคือ MOLECULE และ CURE สะท้อนเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ และความเชี่ยวชาญในการรักษา เป็นสิ่งที่เรานำมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ของโปรเจ็กต์นี้”
ร้านขายยาแบบที่เราคุ้นเคยมักประกอบด้วยส่วนใช้งานหลัก ๆ ได้แก่ ชั้นวางยา ซึ่งขั้นด้วยทางเดินและเคาน์เตอร์ของเภสัชกรสำหรับจ่ายยาและยืนพูดคุยถามอาการกับลูกค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ ร้านยาในลักษณะนี้จึงไม่มีการออกแบบหรือตกแต่งมากมาย บรรยากาศเป็นไปในลักษณะรีบซื้อรีบออก
Waterfrom Design จึงปลี่ยนภาพลักษณ์นี้เสียใหม่ โดยเน้นความสำคัญอันดับหนึ่งคือการสร้างพื้นที่ให้มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างลูกค้ากับเภสัชกรที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการใช้วัสดุและองค์ประกอบในการออกแบบเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ร้านดูน่าสนใจ ดังที่ผู้ออกแบบได้เล่าให้ฟังว่า “เราสร้างร้านขายยาให้มีภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น ปนกลิ่นอายวิถีชีวิตชาวตะวันออก เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกติดภาพความป่วยไข้ในร้านขายยา แต่เป็นสถานที่ที่พวกเขาเข้ามาได้เสมอ เมื่อต้องการข้อมูลหรือคำปรึกษาเรื่องสุขภาพ”
ในส่วนของการออกแบบสถาปนิกใช้ลักษณะเฉพาะตัวของตึกแถวที่มีสเปซแคบยาวและเพดานสูงมาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการตกแต่งภายใน นอกจากเราจะได้เห็นชั้นวางยาเส้นสายเบาบาง ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดการเชื่อมต่อกันของโมเลกุล (ดังที่ปรากฏในชื่อร้าน Molecure) ยาวขนานไปตลอดทั้งห้องแล้ว ในร้านยังประกอบด้วยโต๊ะไม้ชิ้นเดียวขนาดยาว หรือที่เรียกว่า “Laboratory Table” วางอยู่ตรงกึ่งกลางของร้าน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากเคาน์เตอร์จ่ายยาเล็ก ๆ มาเป็นพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเภสัชกรกับลูกค้าตามแนวคิดหลัก รวมถึงการเลือกใช้บันไดวนเพื่อนำไปสู่ชั้น 2 ให้วางอยู่ในตำแหน่งปลายสุดของห้องยังช่วยนำสายตาได้อย่างดี และเป็นการเล่นกับที่ว่างตามแนวตั้งด้วยเส้นสายที่ชวนให้นึกถึงการบิดเป็นเกลียวของโครงสร้าง DNA เพื่อสร้างประสบการณ์และมุมมองแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนให้กับร้านขายยาแบบเดิม ๆ
ในการจ่ายยาแบบปกติเกือบทุกครั้งคนไข้มักให้สิทธิ์ขาดกับเภสัชกรในการสรรหายาขนานต่าง ๆ ลูกค้าทำได้เพียงรอชำระเงิน หลังเภสัชกรผลุบหายเข้าไปในชั้นวางผลิตภัณฑ์ยาต่าง ๆ ราวกับเป็นพื้นที่ต้องห้าม แต่ในร้านนี้พื้นที่จ่ายยาหรือ “Laboratory Table” กลับเปิดโล่ง เภสัชกรกับคนไข้สามารถสนทนากันได้ โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไอแพดเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือสื่อสารและให้ข้อมูล เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่เคอะเขิน ภายใต้บรรยากาศที่สว่าง อบอุ่น และไม่อึดอัด นอกจากการให้คำแนะนำเรื่องยาแล้ว ลูกค้าและเภสัชกรยังสามารถพูดคุยเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร และการออกกำลังได้อีกด้วย
หากเป้าหมายสูงสุดของร้านยาคือการช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น สถานที่ที่จะเรียกว่าร้านยาก็ควรจะสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ได้อีกมากมาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้คน มากกว่าการเป็นแค่สถานที่ขายยาเพียงอย่างเดียวเช่นเดียวกับร้านยาในประเทศไต้หวันแห่งนี้
เรื่อง กรกฎา
ภาพ Kuomin Lee
ออกแบบ Waterfrom Design
อ่านต่อ
SORN ถึงเครื่องถึงแกง ถึงแก่นประสบการณ์อาหารใต้