ใครเคยผ่านไปย่านถนนปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการคงต้องสะดุดตากับอาคารแห่งหนึ่งที่มีรูปทรงโดดเด่นจากบริบทโดยรอบ แต่นอกเหนือจากจะดึงดูดสายตาแล้ว ความใส่ใจและละเอียดอ่อนในขั้นตอนการออกแบบยังสร้างความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยได้บริษัทสถาปนิกที่มีประสบการณ์มายาวนานอย่าง บริษัทเอทิลิเออร์ออฟอาคิเท็กส์ มาสานต่อความต้องการของเจ้าโครงการให้ออกมาเป็นอาคารที่มีความยูนีคที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
เพิ่งครบรอบ 50 ปีไปเมื่อปีที่แล้วสำหรับ บริษัทแสงไทย ผลิตยาง จำกัด ด้วยความที่ปัจจุบันบริษัทต้องมีการติดต่อธุรกิจกับต่างประเทศเป็นประจำ จึงต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยและน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังต้องการให้พนักงานรู้สึกอยากมาทำงานและมีความภูมิใจในองค์กร กระทั่งมาลงตัวกับอาคารสำนักงานขนาด 1,500 ตารางเมตร บนพื้นที่กว่า 1 ไร่ ติดถนนปู่เจ้า หน้าที่สำคัญจึงตกอยู่กับผู้ออกแบบซึ่งต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความต้องการของเจ้าของโครงการให้ออกมาครอบคลุมที่สุดทั้งเรื่องฟังก์ชันการใช้งานและรูปทรงอาคาร
ขั้นตอนแรกในการออกแบบ คุณศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ สถาปนิกประจำโครงการบอกกับเราว่า โครงการนี้ใช้เวลาออกแบบนานราว 8 เดือน เริ่มจากการวางผังและกำหนดทิศทางอาคารก่อนและเนื่องจากด้านหน้าหันออกสู่ทิศเหนือและติดถนนใหญ่พอดี จึงใช้ทิศทางของแสงให้เกิดประโยชน์ ส่วนขั้นตอนต่อมาคือการดีไซน์รูปทรงอาคาร ทางผู้ออกแบบได้นึกย้อนไปยังจุดตั้งต้นและจุดแข็งของบริษัท นั่นคือเรื่องของการผลิตยาง จึงจำลองภาพเหมือนนำก้อนยางสองก้อนมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน และปรับรูปทรงให้บิดงอขึ้นเพื่อสื่อถึงคุณสมบัติความยืดหยุ่นของยาง
เมื่อฟังก์ชันและรูปทรงลงตัวแล้ว ต่อมาคือเรื่องโครงสร้างอาคารที่เรียกได้ว่าผู้ออกแบบและทีมวิศวกรต้องทำงานกันอย่างหนัก เนื่องจากสัณฐานอาคารมีความพิเศษด้วยรูปทรงที่ดูเหมือนนำตัวอาคารสองหลังมาเชื่อมต่อกันเป็นมวลเดียว และยังมีการปิดฟาชาดที่ด้านหน้า รูปแบบเสาและโครงสร้างรับน้ำหนักทั่วไปจึงอาจไม่เหมาะสม หรือ อาจทำให้รูปด้าน (Elevation) ไม่สวยงามลงตัวตามที่ดีไซน์ไว้ ผู้ออกแบบจึงเลือกโครงสร้างแบบคอมโพสิตมาใช้แทน พื้นและเสาด้านในเป็นคอนกรีต และเลือกใช้โครงสร้างซูเปอร์ทรัส (Super Truss) มาเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักอาคารด้านหน้าที่ยื่นออกมา โครงสร้างแบบนี้ช่วยลดปริมาณเสาด้านในและเพิ่มพื้นที่สำนักงานได้
เมื่อได้ซูเปอร์ทรัสเป็นโครงสร้างอาคารแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะออกแบบโครงสร้างนี้อย่างไรให้ออกมาสวยงามและเข้ากับรูปทรงอาคาร จากตอนแรกที่เป็นลายสกอต เมื่อผ่านการพัฒนาและปรึกษากับวิศวกรโครงสร้าง ผลสุดท้ายจึงออกมาเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมข้ามหลามตัด นอกจากจะช่วยถ่ายน้ำหนักอาคารลงสู่พื้นแล้ว ยังดูสวยงามและเข้ากับรูปลักษณ์ของอาคารได้เป็นอย่างดี
อาจด้วยรูปทรงที่แปลกตาจึงทำให้ดูว่าอาคารสำนักงานแห่งนี้มีขนาดใหญ่ แต่จริงๆแล้วพื้นที่ใช้สอยเดิมของอาคารนั้นมีเพียง 4 ชั้น แต่เมื่ออาคารด้านหน้าถูกยกสูงขึ้น 1 ชั้น จึงทำให้มีอาคารรวมทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นบนสุดจึงจัดให้เป็นห้องพระขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าของโครงการต้องการฟังก์ชันนี้มาตั้งแต่ต้น
อีกหนึ่งความพิเศษของอาคารนี้คือ ผู้ออกแบบตั้งใจให้อาคารดูโปร่งทั้งด้านหน้าและหลัง กล่าวคือคนในอาคารสามารถมองเห็นวิวด้านหน้าที่อยู่ติดถนนปู่เจ้าสมิงพรายและวิวโรงงานด้านหลังซึ่งลึกเข้าไปอีกหลายร้อยเมตร สร้างความรู้สึกเชื่อมโยง ทั้งยังได้แสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันงานสถาปัตยกรรมในไทยกำลังก้าวไปข้างหน้า ทั้งเรื่องงานดีไซน์และงานโครงสร้างที่เราไมได้เป็นรองประเทศอื่นเลย ความสำเร็จของโครงการ Saengthai Rubber คืออีกหนึ่งผลงานของนักออกแบบไทยที่กล้าออกแบบและสร้างสิ่งที่แตกต่างแก่วงการออกแบบบ้านเรา ให้มีงานสถาปัตยกรรมที่ดี เป็นตัวอย่างแก่นักออกแบบรุ่นหลังต่อไป