อาคารลักษณะโปร่งแสงที่ส่องสกาวอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้สูงล้ำช่วงพลบค่ำหลังนี้ คือผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันระหว่าง สล่า หรือช่างฝีมือท้องถิ่น กับทีม Sher Maker ในนามผู้ออกแบบอาคารที่วางตัวเป็นนักทดลองเรื่องการใช้วัสดุสมัยใหม่ ไปพร้อมกับการเสาะหาเทคนิควิธีก่อสร้างด้วยตัวเองอยู่เสมอ
The reading room / @library นับเป็นห้องสมุดหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จถัดจากอาคารในลักษณะคล้ายกันนี้บนพื้นที่ของ ลานดิน คอมมูนิตี้สเปซ (Lan Din Community Space) ที่เปิดบริการมาสักระยะใหญ่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้
โครงการลานดินตั้งอยู่บริเวณริมถนนบ้านร่ำเปิง ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ไม่ห่างมากนักจากโครงการบ้านข้างวัดที่ขึ้นชื่อของย่าน โดยมีส่วนคาเฟ่ที่เรียกกันว่า Lan Din Cafe เป็นเสมือนพื้นที่หลักคอยดึงคนเข้าสู่โครงการ
ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะในด้านงบประมาณที่ต้องควบคุมให้อยู่ในความเหมาะสม กอปรกับกับข้อคำนึงถึงการก่อสร้างอาคารที่ต้องสามารถรื้อถอนได้โดยง่าย เมื่อสัญญาเช่าพื้นที่ชั่วคราวมีอันต้องยุติลง
อาคารห้องสมุดหลังนี้จึงได้รับการออกแบบให้เป็นอาคารทรงกล่อง โดยใช้โครงสร้างเหล็กที่สร้างได้ไว้และรื้อถอนได้ง่ายเป็นองค์ประกอบสำคัญ ห่มคลุมด้วยฟาซาดและหลังคาแบบโปร่งแสงอย่างไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Sheet) ซึ่งเป็นวัสดุราคาประหยัดทว่ามีความทนแข็งแรง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่ทนต่อแดดและฝน ภายใต้กรอบแนวคิดในการออกแบบให้อาคารมอบประโยชน์กลับคืนสู่สังคม และเป็นมิตรกับธรรมชาติในบริบทเดิมให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญอาคารหลังนี้ต้องเอื้อต่อการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
ดังนั้นพื้นที่ภายในอาคารห้องสมุดหลังนี้จึงได้รับปริมาณของแสงสว่างจากธรรมชาติที่พอเหมาะผ่านเข้ามาได้ตลอดวัน ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่เลือกใช้ปิดผิวอาคารและมุงส่วนหลังคาอย่างไฟเบอร์กลาส โดยมีช่องหน้าต่างบานประทุ้งทำหน้าที่เป็นทั้งผนังซีกล่างของอาคาร ควบด้วยการเป็นช่องเปิดให้อากาศสามารถผ่านเข้ามาสู่ภายในได้สะดวก
ดังนั้นผู้ใช้งานที่เข้ามานั่งอ่านหนังสือในอาคารจะไม่รู้สึกเหมือนพื้นที่ถูกปิดกั้นจากกันโดยสิ้นเชิง หากแต่ยังสามารถเปิดรับและมองเห็นวิวอันสดชื่นของแมกไม้ที่รายล้อมอาคารหลังนี้ไว้เพื่อกระตุ้นให้กิจกรรมการอ่านหนังสือดูผ่อนคลายได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันความโปร่งแสงของวัสดุยังทำให้ช่วงเวลาพลบค่ำ เมื่อเรามองเข้ามาจากภายนอกห้องสมุดหลังนี้ยังเป็นเหมือนกล่องใบยักษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง จากการประดับแสงไฟโทนอุ่นรอบอาคารอีกด้วย
ภายในห้องสมุดแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนนั่งทำงาน (Working Area) สำหรับผู้ที่ต้องการนั่งทำงานและอ่านหนังสือในพื้นที่สีสดใส สนุกสนาน แต่ยังคงเรียบง่าย ซึ่งถูกตระเตรียมไว้อย่างเพียบพร้อมและใช้งานได้จริง และส่วนพักผ่อน (Relaxation Area) สำหรับนั่งเล่นผ่อนคลาย ซึ่งประดับตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ผลิตขึ้นโดยสล่า คละเคล้ากับการวางกระถางไม้ใบเข้ามุมเพื่อสร้างความสดชื่นผ่อนคลายเสริมกันและกัน
The reading room / @library ในปัจจุบันเปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่ตรงนี้ได้อย่างอิสระ ด้วยบรรยากาศที่มีธรรมชาติลายล้อม สงบ และร่มรื่น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโครงการลานดินจึงถูกพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ส่วนคาเฟ่
เช่นเดียวกับ The reading room / @library ก็คงถูกกล่าวถึงไม่น้อยไปกว่ากันอย่างแน่นอน
ออกแบบ : SHER MAKER
เรื่อง : ND
ภาพ : ชัยพร โสดาบรรลุ