“ไกจิน สำหรับพวกเราแล้ว ยังไงก็ถือว่าเป็นคนนอกอยู่ดี” คำบอกเล่าจากปากคนรู้จักชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ที่กรุณาเล่าถึงมุมมองทางวัฒนธรรมของพวกเขาให้ฉันฟัง ฉันซึ่งได้ศึกษาอยู่ในประเทศนี้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร แม้จะคุ้นกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแบ่งนอก-ในนี้มาบ้าง พอได้ยินยังอดรู้สึกแปลก ๆ ไม่ได้ แต่พอคิดไปคิดมา ก็ถูกของเขาแล้วนี่
คำว่า “ไกจิน” มันก็มีความหมายชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า “ชาวต่างชาติ” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “คนนอก”
「 人」 “จิน” แปลว่าคน
ส่วน「外」“ไก” แปลว่า ต่างชาติ หรือ “นอก”
ประเทศญี่ปุ่นถูกล้อมรอบด้วยทะเลทั้งสี่ด้าน ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้านเลยนี้ เป็นตัวหล่อหลอมทั้งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมแบบเฉพาะตัวของพวกเขา ให้มีความกลมกลืนกันเป็นหนึ่่งเดียว ทุกอย่างที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตประเทศ จึงถูกกำหนดว่าเป็น “ข้างนอก” หรือแม้แต่ในสังคมระหว่างชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง ก็ยังมีการแบ่งนอก-ในที่ละเอียดลึกล้ำลงไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น ตัวเราและครอบครัว ถือเป็นคนใน หรือ “อุจิ”「内」ส่วนคนอื่น เช่นเพื่อนที่ทำงานนั้นจัดว่าเป็นคนนอก หรือ “โซะโตะ”「外」แถมบางที สถานะเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาได้อีกตามสถานการณ์
วัฒนธรรมใน-นอก นี้ส่งผลกับวิถีปฏิบัติตนต่ออีกฝ่าย เช่น ชาวญี่ปุ่นจะใช้ภาษาที่สุภาพ ให้เกียรติและเกรงใจ เก็บซ่อนความรู้สึกแท้จริงไว้ ไม่ให้คนนอกมีสิทธิ์ได้รับรู้ ในขณะที่จะมีความจริงใจ เปิดกว้างตรงไปตรงมามากกว่ากับคนใน เพราะถือได้ว่าเป็นพวกเดียวกันเอง
สำหรับชาวต่างชาติหรือ “ไกจิน” นั้น อาจเป็นเรื่องลำบากสักหน่อยที่จะทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จะต้องพำนักอยู่ มีความสัมพันธ์ หรือต้องติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาวญี่ปุ่น อาจเคยสงสัยว่า เมื่อไหร่นะ ถึงจะได้รับการยอมรับและปฏิบัติแบบ “คนใน” กับเขาเสียที และก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย ที่บางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกอึดอัดเล็กๆ ในสถานะ “ไกจิน” ของตน
ฉันก็เคยถามตัวเองเป็นบางครั้ง กับความรู้สึกประหลาด ๆ นี้ว่าแท้จริงแล้ว เราควรจะรู้สึกเช่นไร กับการเป็น ”คนนอก” ในสายตาของคนอื่น
…ต้นฤดูใบไม้ร่วง เวลา 11 นาฬิกาตรงเป๊ะ ฉันมีนัดกับคนรู้จักชาวญี่ปุ่นที่แสนลึกลับแต่ว่าใจดี ที่ป้ายรถเมล์หน้าวัดไดโตคุจิ หรือที่เรียกว่า Daitokuji Temple Complex ในภาษาอังกฤษ พูดชื่อนี้คุณอาจจะงง เพราะที่บ้านเรามีแต่ Shopping Complex เอาเป็นว่า ถ้า Shopping Complex เป็นศูนย์รวมร้านค้า Temple Complex ก็คือศูนย์รวมวัด นั่นเอง
กล่าวคือ สถานที่แห่งนี้ เป็นวัดขนาดใหญ่ของนิกายเซนที่ข้างในประกอบด้วยวัดย่อย ๆ อยู่รวมกันอีกจำนวน 22 หลัง และยังมีสวนชาอันเลื่องชื่อของปรมาจารย์ด้านการชงชา เซน โนะ ริคิว อยู่ด้านใน แต่ที่เลื่องชื่อไปกว่านั้นในช่วงฤดูนี้เห็นจะเป็นภาพบนประตูบานเลื่อน หรือที่เรียกว่า “ฟุสุมะ” 「襖」 โดยฝีมือนักสร้างสรรค์แถวหน้าจากหลากหลายสาขา ทั้งศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักวาดมังงะ ที่ต่างเคยผ่านการสร้างสรรค์ผลงานที่คุณเองก็คงรู้จัก เช่น Final Fantasy หรือ Evangelion
ฟุสุมะ (ประตูบานเลื่อน) แน่นอนว่าไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความสวยงาม แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น โดยรับหน้าที่เป็นตัวกำหนดพื้นที่ระหว่างห้องหับต่าง ๆ ในตัวอาคาร พูดง่าย ๆ คือเหมือนฝาผนังห้องที่เลื่อนปรับได้นั่นเอง เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวจากคนนอกก็เลื่อนปิด ถ้าอยากให้ห้องกว้างขึ้นอีกนิดก็เลื่อนเปิด คนที่อยู่นอกห้องก็จะกลายมาเป็นคนที่อยู่ในห้องเดียวกันไปโดยอัตโนมัติ
ยิ่งในอาคารขนาดใหญ่ ความเยอะและซับซ้อนของฟุสุมะก็จะยิ่งมากขึ้น (ลองนึกถึงตอนที่อิคคิวซังจะเข้าพบท่านโชกุน ก็ต้องนั่งรออยู่หน้าบานเลื่อนฟุสุมะหลายชั้น ที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก กว่าจะได้เข้าไปนั่งคุยกันข้างใน) หรือบางทีในหนึ่งห้อง ก็อาจจะมีฟุสุมะ อยู่ที่ผนังมากกว่า 1 ด้าน เปิดบ้าง ปิดบ้าง เกิดเป็นการไหลเวียนของที่ว่างที่น่าสนใจ
ที่วัดไดโตคุจิ ไอเดียที่จะนำชิ้นงานป๊อปๆ เหล่านี้ มาติดตั้งอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมแห่งประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ร่วมกับภาพบานเลื่อนต่าง ๆ ที่ถูกรังสรรค์โดยฝีมือตระกูลช่างแห่งอดีตนั้น มาจากความปรารถนาของท่านเจ้าอาวาสที่จะนำเอาศิลปะร่วมสมัยมายึดโยงใจผู้คนให้หันมานิยมศิลปะแห่งอดีต อีกทั้งอาคารหลังนี้ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท่านอิคคิว…ใช่แล้ว เขาคืออิคคิวซังคนเดียวกับที่เรารู้จักกันตอนเด็ก ๆ นั่นแหละ พอรู้แบบนี้ ฉันก็ตื่นเต้น และรู้สึกเชื่อมโยงกับสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาทันใด ไอเดียของท่านเจ้าอาวาสนั้น work จริงๆด้วยสิ!