กว่าแปลนและฟังก์ชันจะลงตัวอย่างทุกวันนี้ ผู้ออกแบบต้องปรับแบบกันไป-มาอยู่นานพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งของน้ำ ซึ่งคุณกรต้องการให้ห้องน้ำมีขนาดใหญ่ และมีเพียงพอกับจำนวนผู้เข้าพัก โดยกำหนดอัตราส่วนการใช้อยู่ที่ 1 ต่อ 3 จนทำให้ต้องปรับตำแหน่งห้องน้ำใหม่ทุกชั้น รวมถึงต้องเดินท่องานระบบใหม่ทั้งหมด
ด้านการตกแต่งภายใน เน้นการแสดงพลังของวัสดุเป็นหลัก โดยไม่ทาสีเพิ่ม หรือขูดผิวออก อย่าง ท่อร้อยสายไฟ วงกบประตู-หน้าต่าง ที่จับคู่สีกันได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์นั่นเอง โดยแนวคิดนี้ได้ส่งต่อไปยังการตั้งชื่อโฮสเทลว่า T.E.N.T ด้วย เพื่อสื่อถึงที่พักสำหรับการเดินทาง แม้จะเป็นเต็นท์ ก็ต้องการเต็นท์ที่ดีและนอนสบายสุดตามมาตรฐานของคุณแอมและคุณกร เพื่อให้เหล่านักเดินทางได้รับประสบการณ์การพักผ่อนกับเต็นท์ในรูปแบบใหม่
การเลือกลวดลายของเต็นท์ก็เป็นอีกประเด็นที่หาจุดลงตัวอยู่นานพอสมควร เพราะการซื้อเต็นท์สำเร็จรูปมาตั้งไว้คงจะดูธรรมดาเกินไป กระตุ้นให้คุณกรผู้มีพื้นฐานด้านแฟชั่น ต้องลงไปเลือกซื้อผ้า และสั่งตัดด้วยตัวเอง โดยมีคุณแอมรับหน้าที่ดูแลเรื่องโครงสร้างเหล็กของเตียง โดยออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อรองรับขนาดที่นอนที่ใหญ่กว่าเตียงสองชั้นทั่วไป แถมโครงสร้างเตียงและผ้าทั้งหมดยังรื้อและประกอบใหม่ได้ ลายผ้าที่ทั้งคู่เลือกส่วนใหญ่เน้นลายกราฟิกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนเผ่าที่มีอยู่อย่างมากมาย เพื่อสื่อว่าโฮสเทลแห่งนี้พร้อมต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลก
ความน่าสนใจอีกประเด็นคือ การตัดสินใจรีโนเวตอาคารเก่า เมื่อโฮเทลไม่ได้มีความหมายในเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่คุณแอมและกรยังคิดเผื่อไปถึงชุมชนโดยรอบ เนื่องจากทั้งคู่ต้องการให้โฮสเทลแห่งนี้เป็น Node ของชุมชน เพื่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน และดึงดูดพ่อค้าแม่ค้าให้เข้ามาช่วยเพิ่มสีสันให้พื้นที่ เพราะ T.E.N.T ไม่ได้เป็นแค่ดีไซน์โฮสเทลที่ดึงดูดเหล่านักเดินทางให้มาค้นหาประสบการณ์การพักผ่อน แต่ยังต้องการสื่อถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในขณะเข้าพัก เพื่อสร้างความประทับใจ เหมือนอย่างที่ทั้งคุณแอมและคุณกรประกาศชัดเจนอยู่ที่ด้านหน้าโฮสเทลด้วยว่า
‘YOU WILL NEVER KNOW UNTILL YOU STAY’
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณพรรณสวลี พิมพ์สมฤดี และคุณรวินท์ วจะโนภาส
อ่านต่อ CELES BEACHFRONT RESORT
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : นันทิยา