การตกแต่งภายในผู้ออกแบบยังคงใช้ ‘ไอน้ำ’ เป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดไอเดีย โดยออกแบบศิลปะจัดวาง (Installation Art) ในรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละฟังก์ชันของโครงการ เพื่อสร้างประสบการณ์และกระตุ้นการรับรู้ในสเปซผ่าน ศิลปะจัดวาง อีกทั้งเพื่อสร้างความต่อเนื่องของงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในไปพร้อม ๆ กัน อย่างบริเวณโถงล็อบบี้ที่ดึงแรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาการเกิดสเปกตรัมในขณะที่ไอน้ำลอยตัวแล้วกระทบกับแสงอาทิตย์ มาใช้ในการออกแบบคริสตัลขนาดใหญ่ที่เกิดจากการร้อยเรียงกว่า 40,000 ชิ้น โดยมีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 45 เมตร และสูง 5 เมตร ตระการตาด้วยการผลิตและติดตั้งจากช่างฝีมือชาวไทย ช่วยสร้างมิติที่แปลกตาและน่าจดจำไม่ว่าจะมองจากมุมใด
เช่นเดียวกับบริเวณเอเทรียมที่เกิดขึ้นจากการออกแบบโถงทางเดินให้มีความกว้างกว่าปกติ จนเกิดเป็นสเปซแนวตั้ง (Vertical Space) ที่ทางผู้ออกแบบตั้งใจออกแบบศิลปะจัดวาง ขนาดใหญ่ในรูปแบบจังหวะของหยดน้ำ เมื่อสัมผัสกับพื้นผิวน้ำแล้วกระดอนลอยขึ้น-ลง ส่วนผนังทั้งสองด้านกรุกระเบื้องเทอร์ราคอตต้า และสเตนเลส ตลอดความยาว เพื่อสร้างความรู้สึกในการรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงภายในสเปชที่ต่างไปจากเดิม (illusion of gravity)
เช่นเดียวกับบริเวณภัตตาคารของโรงแรมที่ผู้ออกแบบดึงช่วงเวลาเมื่อมองย้อนแสงไปยังขอบของก้อนเมฆหลังฝนตก (Silver Lining) มีนัยยะที่แฝงถึง ‘ฟ้าหลังฝน หรือ ความหวัง’ ซึ่งมีความหมายว่าช่วงเวลาเลวร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเลือกใช้อะคริลิกใสในการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยเทคนิคการพ่นทราย เมื่อรวมกับไลท์ติ้งจะเกิดเป็นภาพของขอบเมฆหลังฝนทั่วทั้งภัตตาคาร อีกทั้งยังเป็นพาร์ทิชั่นใช้กั้นพื้นที่ระหว่างโต๊ะอาหารได้อีกด้วย จาก ‘ไอน้ำ’ พลังงานบริสุทธิ์ที่เกิดจากน้ำพุร้อนที่อยู่ใต้ดิน ได้ถูกตีความจนกลายเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ปรากฏอยู่ตามพื้นที่ของโครงการ นอกจากจะช่วยสร้างความสวยงามเด่นสะดุดตาแล้ว ยังเป็นตัวแทนแสดงความโดดเด่นของสถานที่ตั้ง เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบที่จะเปลี่ยนการรับรู้และความรู้สึกของคุณในทุก ๆ สเปชที่ได้สัมผัส
ออกแบบ : Department Of Architecture Co.,Ltd.
อ่านต่อ THE BUFFALO AMPHAWA คุณค่างานคราฟต์เคียงสายน้ำ
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : W Workspace