3.
เมื่อคนจำนวนมากเดินทางมาที่นี่ ตามภาพคาเฟ่กล่องกระจกใสท่ามกลางวงล้อมของไม้ใหญ่ดูร่มรื่นอย่างที่เห็นในโซเชียลมีเดีย เจ้าของโครงการกล่าวว่า“คาเฟ่โรงบ่ม” เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปิดสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรีสอร์ต
แต่เดิมคาเฟ่โรงบ่มมีรูปลักษณ์เป็นอาคารอิฐเช่นเดียวกับอาคารโรงบ่มเก่ารอบ ๆ แต่เมื่อตั้งใจจะรีโนเวตจึงต้องการสะท้อนคอนเซ็ปต์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเก๊าไม้ จากฟาซาดผนังไม้ไผ่สานขัดฉาบด้วยโคลน มูลวัวควาย ปูนขาว หรือปูนซีเมนต์ ในยุคแรก แล้วเปลี่ยนมาเป็นฟาซาดอิฐมอญและต่อด้วยอิฐบล็อกในยุคต่อมา กระทั่งเมื่อหมดยุคโรงบ่ม ฟาซาดตีนตุ๊กแกสีเขียวครึ้มก็ได้กลายเป็นภาพจำของคนทั่วไป จนมาถึงปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนใหม่เป็นฟาซาดเหล็กกรุกระจกดังภาพที่เห็นตอนนี้
อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของของโครงการนี้คือ การเล่าเรื่อง ตัวอาคารของโรงบ่มที่ตั้งเรียงราย จึงสามารถถ่ายทอดประวัติของสถานที่ได้อย่างดี ราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
พิพิธภัณฑ์เหล่านี้แต่เดิมเป็นโรงบ่มอิฐที่ตั้งอยู่บนถนนรกร้าง การปรับปรุงโรงบ่มเป็นพิพิธภัณฑ์ มาพร้อมกับการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบ ๆ โดยเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ ได้เล่าผ่านการฟื้นฟูโรงบ่มเก่าหลายหลังให้กลับมามีสภาพเหมือนเมื่อครั้งยังถูกใช้งาน เส้นทางที่เคยรกร้างได้กลายเป็นทางเข้าใหม่สำหรับผู้ที่เดินทางมายังคาเฟ่ โดยจะต้องเดินผ่านเรื่องราวความเก่าแก่ของโรงบ่มแต่ละหลัง ก่อนจะไปสุดที่คาเฟ่และสนามหญ้าที่ปลายทาง
ดังที่ภูมิสถาปนิกเล่าเสริมว่า
“ตั้งแต่เราเข้ามาดูครั้งแรก ถนนตรงนี้ (พิพิธภัณฑ์) วิวสวยที่สุด แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ ส่วนใหญมักจะไปให้ความสนใจกับกำแพงสีเขียวของโรงแรมมากกว่า มีน้อยที่จะเดินมาถึงตรงนี้เพื่อถ่ายรูป”
“ข้อดีคือที่นี่มีเรื่องราวอยู่แล้ว การลำดับเรื่องราวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในมุมต่าง ๆ โดยนำเรื่อง “เวลา” ในแต่ละยุคมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รู้ว่าที่นี่มีประวัติมายาวนานแค่ไหน”
ปัจจุบัน เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ต มีห้องพัก 34 ห้อง เจ้าของกล่าวว่าโรงแรมยังไม่ต้องการขยายขนาดที่พักให้ใหญ่ขึ้น แต่กำลังจะปรับปรุงทางเดินและภูมิทัศน์รอบ ๆ ห้องพัก เพื่อเน้นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่มีอยู่เดิมของสถานที่ โดยไม่ละทิ้งคอนเซ็ปต์ความเป็นบูทีกโฮเทล ซึ่งเป็นการหยิบของเก่าที่มีคุณค่ามาสร้างประโยชน์ใหม่ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะมีฟังก์ชันการใช้งานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ตาม
DID YOU KNOW?
PAVA Architects – กับบทบาทการออกแบบ “พิพิธภัณฑ์”
“PAVA Architects” เข้ามารับช่วงงานออกแบบและวางผังโดยรวมในการรื้อฟื้นพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ หากแต่ “พิพิธภัณฑ์” ในสายตาของสถาปนิก (รวมถึงเจ้าของโครงการเอง) นั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงตัวอาคารโรงบ่ม แต่ยังครอบคลุมไปถึง “พื้นที่ทั้งโครงการ” ซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งที่ตั้ง ตัวอาคาร และพืชพันธุ์ธรรมชาติต่างๆ โดยสถาปนิกต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง เพื่อประเมินคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่และนำไปต่อยอดเป็นแผนพัฒนาโครงการหรืองานออกแบบใดๆ ต่อไป
ในปัจจุบัน (สิงหาคมพ.ศ.2561) มีโรงบ่มที่ถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว 2 หลังในส่วนแรกของทางเข้า แต่ PAVA Architects ยังคงทำงานกับโครงการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนที่จะมีโอกาสพัฒนาเพื่อส่งเสริมเรื่องเล่าของสถานที่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป
ที่อยู่
เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ท
เลขที่ 1 หมู่ 6 ถนนเชียงใหม่ – ฮอด ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
โทร. 0-5348-1201, 08-6428-7481
Landscape Architect : ShmaSoen
Cafe Architect : คุณกรชวัล ชวนะวิรัช, TRI Architects
Master Planning Architect and Museum Architect : PAVA Architects
Building Conservation Consultant : คุณสุภาวดี จริงจิตร
Tree Management Consultant : คุณพัชรา คงสุผล
Graphic Design Consultant : คุณณัฐนันท์ ฉันทแดนสุวรรณ
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร
อ่านต่อ
X2 CHIANGMAI RIVERSIDE RESORT ประสบการณ์ในสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำปิง