พาทุกคนเดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ บ้านทรงกล่อง หน้าตาโมเดิร์นที่ดึงดูดใจชวนค้นหาตั้งแต่แรกเห็น บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนปริ๊นซ์เซส ออฟ เวลล์ ในย่านที่อยู่อาศัยฝั่งตะวันตกของเกาะ ผลงานการออกแบบจาก HYLA Architects ออฟฟิศสถาปนิกที่ต้องการหาคำตอบให้กับการทดลองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอก โดยมีผนังและคอร์ตยาร์ดเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: HYLA Architects
จากความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากได้ห้องนอน 5 ห้องสำหรับสมาชิกในครอบครัว โดยมีห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องทำงานอย่างครบครัน ทีมสถาปนิกจึงแปลงความต้องการดังกล่าวออกมาเป็นรูปธรรม ผ่านรูปแบบของ บ้านทรงกล่อง ขนาด 3 ชั้น ที่มีหน้ากว้าง 8 เมตร ลึก 25 เมตร บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 455 ตารางเมตร โดยได้ออกแบบลำดับการเข้าถึงกว่า 3 ขั้น เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ทุกคน
“ประตูทางเข้าหลักถูกซ่อนไว้อย่างดี จึงไม่มีที่ล็อค มือจับประตู
หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ใด ๆ บอกให้รู้ว่าทางเข้าอยู่ตรงไหน”
เรียกว่ากว่าจะเข้าถึงตัวบ้านได้ก็ต้องผ่านมากถึง 3 ด่าน ตั้งแต่รั้วไม้หน้าบ้านเพื่อเข้ามายังที่จอดรถ ต่อด้วยผนังอิฐสีดำผืนใหญ่สูงตระหง่านปิดทึบไปจนถึงชั้น 3 โดยเจาะช่องผนังขนาดพอดีสำหรับนำสายตาไปสู่ทางเดินไม้ที่ขนาบข้างด้วยสวนสีเขียวชอุ่ม และสระน้ำแสนสดชื่น เสมือนเดินข้ามสะพานไปยังผนังไม้เรียบเนียนผืนใหญ่ที่ไม่บ่งบอกใด ๆ ว่านี่คือทางเข้าบ้าน หากคุณไม่ใช่เจ้าของบ้าน หรือไม่เคยมาที่นี่แล้วละก็ รับรองว่าต้องยืนงงอย่างแน่นอน เทคนิคนี้เป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการสร้างความเป็นส่วนตัว และจำลองพื้นที่พักอาศัยอันเงียบสงบภายในเมืองที่วุ่นวาย เสมือนได้กลับบ้านมาเจอโลกอีกใบหนึ่งได้อย่างแยบยล
“ความเป็นส่วนตัวและความน่าค้นหาของบ้านหลังนี้ เริ่มตั้งแต่ผนังอิฐผืนใหญ่ ไม่ว่าใครที่เดินผ่านไปมาหากมองจากข้างนอก มักต้องเกิดความสงสัยว่าเบื้องหลังกำแพงสีดำเข้มขรึมนี้จะมีอะไรซ่อนอยู่ และความน่าตื่นเต้นนี้ยังต่อเนื่องไปยังพื้นที่ด้านในกับสเปซเปิดโล่งของคอร์ตยาร์ด”
เมื่อเข้ามายังพื้นที่ชั้น 1 ทุกคนจะพบกับบรรยากาศแบบโอเพ่นแปลนวางตัวเป็นแนวยาวลึกไปตามรูปทรงของที่ดิน ไล่ฟังก์ชันไปตั้งแต่โถงทางเข้า พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ต่อเนื่องไปยังเคาเตอร์เตรียมอาหาร แล้วจบด้วยครัว และส่วนเซอร์วิส ด้านข้างของบ้านด้านหนึ่งขนาบด้วยสวนสีเขียวซึ่งยาวต่อเนื่องมาจากหน้าบ้าน และอีกด้านเป็นสระน้ำยาวขนานไปกับตัวบ้าน เปิดรับมุมมองได้แบบจุใจผ่านผนังกระจกบานเลือนที่สามารถเปิดออกได้จนสุด
ขึ้นมาที่ชั้น 2 บรรจุไว้ด้วยห้องนอน 3 ห้อง พร้อมคอร์ตยาร์ด 2 คอร์ตที่สูงต่อเนื่องไปยังห้องนอน 2 ห้อง บนชั้น 3 โดยคอร์ตยาร์ด 2 ตำแหน่งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ก็ว่าได้ เพราะช่วยดึงแสงธรรมชาติให้เข้ามาในบ้านได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังช่วยระบายอากาศและความร้อน เป็นเครื่องมือช่วยให้บ้านมีพื้นที่แบบเอ๊าต์ดอร์แทรกเข้ามาได้อย่างไม่เคอะเขิน เหมาะกับบ้านในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดแต่อยากใกล้ชิดกับธรรมชาติ
และอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำหน้าที่เป็นมากกว่าฟังก์ชันแบบเดิมนั่นคือ โถงบันได ที่ถูกผลักออกไปไว้นอกตัวบ้านอย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหน เนื่องจากต้องการให้โถงบันไดกลืนไปกับส่วนของคอร์ตยาร์ด และทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นคอร์ตยาร์ดของบ้านเพิ่มขึ้นอีกจุดหนึ่ง โดยความกว้างของบันไดได้กลายมาเป็นตัวกำหนดความกว้างของช่องคอร์ตยาร์ดข้างบ้านไปในตัว เหนือขึ้นไปด้านบนปกคลุมด้วยระแนงไม้ช่วยกรองแสงแดด และระบายความร้อนขึ้นสู่ด้านบนได้
ไม่เพียงมีจุดเด่นอย่างการออกแบบบ้านในเมืองที่มีขนาดพื้นที่จำกัดให้น่าอยู่ สามารถสัมผัสกับธรรมชาติได้ทุกมุมมอง การใช้อิฐยังเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้ เพราะตั้งแต่รูปด้านหน้าบ้านที่มีผนังอิฐก่อทึบพร้อมแพตเทิร์น ก็ช่วยให้เกิดภาพที่ดูโดดเด่นสะดุดตาได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น รวมไปถึงการใช้อิฐกับผนังทึบสองฝั่งที่ขนาบข้างตัวบ้านเพื่อสร้างพื้นที่ปิดล้อม ยังดูล้อไปกับธรรมชาติของต้นไม้นานาพรรณ ถือเป็นวัสดุที่เข้ากับสภาพอากาศความเป็นเมืองเขตร้อนชื้นได้อย่างลงตัว
“อิฐเป็นวัสดุคลาสสิกอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยังคงความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก และมีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ดี อิฐที่เราเลือกมาใช้เป็น Eco Brick มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เหมาะใช้ในงานขนาดเล็กอย่างบ้านพักอาศัย”
ออกแบบ : HYLA Architects
อ่านต่อ TROPICAL BOX HOUSE “ลังไข่” บ้านคอนกรีต กลางป่าร้อนชื้น
เรื่อง : foryeah!
ภาพ : Derek Swalwell