แม้ผ่านไปวันแล้ววันเล่าที่พระอาทิตย์ดวงเก่าลับขอบฟ้า หาก ยายสา ยังคงยืนรอสามีกลับมาหาที่มุมเดิมของอ่าวนางไม่เคยเปลี่ยน…
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Walllasia
“ ยายสา ” เปรียบเสมือนตัวแทนของความรักและการรอคอย คนรักของเธอจากไปเพื่อออกเดินทางไปค้นหาสัจจะพร้อมให้สัญญาว่า เมื่อเขาพบสัจจะแล้วจะกลับมาหาเธอก่อนพระอาทิตย์ตก คุณคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินเจ้าของผลงานผูกโยงเรื่องราวของยายสาเข้ากับบริบทของพื้นที่ ยายสาเป็นหญิงชราผู้มีชีวิตอยู่จริง พื้นเพของเธอเป็นคนกระบี่ ทว่ายายสาที่เป็นตัวแทนของความรักและการรอคอยนี้เขาปั้นมันขึ้นมาจากไฟเบอร์กลาส เป็นหุ่นยายสาขนาดเสมือนจริงที่ยืนอยู่ภายในพาวิลเลียนขนาด 50 ตารางเมตร ซึ่งออกแบบขึ้นโดย คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกแห่ง Walllasia + Kyai&Suriya Architecture
“ไม่มีพระอาทิตย์ขึ้น ไม่มีพระอาทิตย์ตก” หรือ “No Sunrise No Sunset” เป็นงานศิลปะเฉพาะพื้นที่ (Site-specific art) โดยสองศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร คุณคามิน เลิศชัยประเสริฐ และ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ร่วมกันสร้างมันขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Thailand Biennale, Krabi 2018” ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำผลงานศิลปะเฉพาะพื้นที่มาจัดวางกลางแจ้งในพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดกระบี่
นัยที่ซ่อนอยู่ในงานนี้ ศิลปินต้องการสื่อสารให้คนที่มาชมเกิดการตั้งคำถามว่า “สัจจะคืออะไรและอยู่ที่ไหน?” นําเสนอโลกคู่ขนานระหว่างโลกปรมัตถ์สัจจะกับโลกสมมติสัจจะ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้สภาวะที่ปราศจากกาลเวลาและไร้การยึดมั่นตัวตน อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ว่างภายในกับพื้นที่ว่างภายนอก หรือระหว่างคุณกับฉัน
“ผมไปเที่ยวถ้ำผีหัวโตที่กระบี่ ไปเจอรูปเขียนมิสเตอร์กาบี้ (Mr.Krabi) ผมก็เลยเอามาผูกเป็นเรื่องว่า ยายสา (ตัวลายคล้ายมิสเตอร์กาบี้) ยืนคอยสามีกลับมา เพราะตรงนั้นจะมีหนุ่มสาวยืนดูพระอาทิตย์ตกทุกวัน” คุณคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2560 อธิบาย
“คนไทยก่อนแต่งงาน ผู้ชายต้องบวชเรียนเข้าใจธรรมะแล้วค่อยออกมาแต่งงาน ผมผูกเรื่องว่าสามีไปบวช ไปหาสัจจะ ถ้าเจอสัจจะแล้วจะกลับมา ผมก็เลยเอายายสาไปยืนรอพระอาทิตย์ตกตรงนั้น เพื่อตั้งคำถามถึงสัจจะว่า พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก มันเป็นจริงหรือเปล่า เวลาเราดูยายสา ดูพระอาทิตย์ตก เราก็ตั้งคำถามหลาย ๆ อย่าง ยายสาเป็นคนแก่มายืนอะไรตรงนี้ ทำไมสามีไม่กลับมาสักที แสดงว่าสามีไม่เคยค้นพบความจริงเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่มายืนดูงานผมนั่นแหละเป็นสามีของยายสาที่ไปหาสัจจะ พอเรายืนดูยายสา เราก็จะเห็นตัวเราอยู่ในนั้น
“เราพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นจริงอย่างที่เราเห็นหรือเปล่า ผมเลยตั้งใจทำกล่องนี้เป็นเหมือนไทม์แมชชีน เป็นสเปซที่เชื่อมโยงโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกสมมติ ตั้งคำถามระหว่างโลกปรมัตถ์สัจจะกับโลกสมมุติสัจจะ โดยมียายสาเป็นตัวแทนของความรักและการรอคอย เราไม่ได้คาดหวังให้คนมาดูรู้สึกแบบเดียวกัน เราอธิบายไปเขาอาจจะเข้าใจแต่ไม่เข้าถึง แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาดูเองเขาอาจจะเข้าถึงสัจจะโดยที่ไม่ต้องตีความเหมือนเราก็ได้
“เราอยากให้คนที่มาชมเห็นตัวเองในนั้น ให้เขารู้สัจจะในตัวเอง ผ่านยายสา ผ่านพระอาทิตย์ตก แค่เขาเห็นชื่อว่าไม่มีพระอาทิตย์ขึ้น ไม่มีพระอาทิตย์ตก แค่นี้เขาก็ตั้งคำถามแล้ว พระอาทิตย์อยู่ตรงหน้าหมายความว่าอย่างไร คนที่เข้าใจก็จะรู้ว่าพระอาทิตย์มันอยู่กับที่ โลกต่างหากหมุนรอบตัวเอง หมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาก็จะเข้าใจมิติที่เกิด”
กระบวนการก่อสร้างพาวิลเลียนหลังนี้ใช้เวลาราว 25 วัน อีกทั้งยังต้องแข่งกับสภาพภูมิอากาศ พายุ และกำหนดเวลาก่อนงานเริ่ม ในกระบวนการทั้งหมดนี้ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ผู้ออกแบบพาวิลเลียนขนาด 50 ตารางเมตร ริมผาหินสุดชายหาดอ่าวนาง อธิบายถึงที่มาว่า
“ถ้าเราทำเป็นอาคารเหล็กมันจะกลายเป็นต่อต้านกับที่ แต่เมื่อเราทำเป็นอาคารที่มีเงาสะท้อน เท่ากับว่าเรานำธรรมชาติเข้ามาอยู่ในสถาปัตยกรรม ที่ตั้งของมันอยู่ไม่ประเจิดประเจ้อ ความรู้สึกที่เดินเข้าไปอาจรู้สึกว่าอาคารใหญ่ก็จริง แต่เทียบกับทะเลแล้วมันเล็กมาก ที่สำคัญพอมีกรณีเรื่องอับทึบ เวลาเดินไปช่วงเวลากลางคืนแล้วจะไม่รู้สึกว่าดำมืด หรือเวลาทำอะไรเหมือนว่ามีคนที่จ้องมองเราอยู่ตลอดเวลา”
สิ่งที่สถาปนิกเล่าอาจไม่สลักสำคัญว่าเราจะเรียกมันว่า พาวิลเลียน งานศิลปะเฉพาะที่ หรือสถาปัตยกรรมชั่วคราว เพราะจุดประสงค์ของการสร้างขึ้นนอกจากตัวเขาและศิลปินจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นสำคัญแล้ว คุณสุริยะยังอธิบายถึงการทำงานร่วมกับศิลปินในผลงาน No Sunrise No Sunset ต่ออีกว่า
“การทำงานครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดมุมมองของสถาปนิก การที่เราทำงานร่วมกับศิลปินทำให้เกิดมุมมองอีกด้านหนึ่ง งานศิลปะจะเริ่มต้นไปพร้อมกัน ส่วนใหญ่งานศิลปะเมื่อเป็นชิ้นใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องการติดตั้ง บางทีประติมากรรมสวย แต่ตำแหน่งที่วางมันไม่สวยหรือไปบดบังทัศนียภาพ ตรงนี้สำคัญ
“สถาปนิกเวลาทำงานสถาปัตยกรรมเองก็เช่นกัน บางครั้งงานมันขาดสุนทรียภาพ มันแข็งเกินไป เพราะเราคุยกันแต่เรื่องวัสดุก่อสร้างหรือสเปซต่าง ๆ แต่พอมาทำงานร่วมกับศิลปิน มันมีเรื่องชีวิต เรื่องปรัชญา เกี่ยวกับนามธรรมมากขึ้น เกิดเป็นการตั้งคำถามเมื่องานศิลปะตั้งอยู่กับงานสถาปัตยกรรม เหมือนเฟรมที่ยึดกับขาตั้ง มันแยกกันไม่ออก ในขณะเดียวกันมันจะมีงานศิลปะที่ซ้อนอยู่ภายในอีกที
“งานนี้มันจะมีเรื่อง Function เป็นพื้นที่ของร่างกาย และ Emotion เป็นพื้นที่ของจิตใจ งานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เรามองเรื่องวัสดุมากเกินไป แต่พอมาเป็นงานชิ้นนี้ มันเหมือนกับว่า มันไม่มีงานสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมมันถูกละลายไป ที่สำคัญงานนี้ที่ผมชอบ คือความสัมพันธ์กับธรรมชาติ คือ พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เมื่อไรก็ตามที่เราทำงานแล้วไปเกี่ยวพันกับกระบวนการทางธรรมชาติ งานมันจะสัมพันธ์ไปกับโลก เหมือนเรากับจักรวาลอยู่ด้วยกัน มีการเชื่อมโยง มีการตั้งคำถามเกิดขึ้น”
ศิลปิน : คามิน เลิศชัยประเสริฐ และสุริยะ อัมพันศิริรัตน์
วิศวกรโครงสร้าง : สถาพร ศิริลิมป์
ผู้รับเหมาก่อสร้าง : กรวิชญ์ ศรีสุขสมวงศ์ บริษัท 3Kor Architect and Construction
สถาปนิกผู้ประสานงาน : กฤษณ์ จิวะนันทประวัติ จาก ZEA. ARCHITECT
ผู้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
ผู้สนับสนุนด้านสถานที่และอำนวยความสะดวก : อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ และโรงแรมกระบี่รีสอร์ท
เรื่อง : ND24
ภาพ : กรวิชญ์ ศรีสุขสมวงศ์