HSBC Children’s Library อีกหนึ่ง ห้องสมุดกรุงเทพ ดีไซน์เป็นมิตรสำหรับเด็กๆ - room life

HSBC CHILDREN’S LIBRARY อีกหนึ่งห้องสมุดกรุงเทพ ดีไซน์เป็นมิตรสำหรับเด็ก ๆ

หลังจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (HSBC) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร พัฒนาและปรับปรุงห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้มาแล้ว 2 แห่งในปีพ.ศ. 2561 HSBC ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครอีกครั้งในการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งการเรียนรู้ภายใต้นโยบาย “ห้องสมุดมีชีวิต” ในโซนเด็กและเยาวชนของห้องสมุดสวนลุมพินี โดย  ห้องสมุดกรุงเทพ แห่งนี้ได้คุณณุสุระ ปทมดิลก จาก สัทธา อาร์คิเทค กลับมารับหน้าที่สถาปนิกอีกครั้ง หลังจากที่เคยร่วมงานกันในโปรเจ็กต์ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตคนเมืองภายในสวนกีฬารามอินทรามาแล้ว

ห้องสมุดสวนลุมพินีเป็น ห้องสมุดกรุงเทพ ที่เปิดให้บริหารมายาวนาน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2499 ในส่วนของโซน ห้องสมุดเด็กและเยาวชนนั้น เป็นส่วนที่ก่อสร้างเพิ่มเติมจากตัวอาคารห้องสมุดเดิมให้เป็นรูปตัวที (T) ในปีพ.ศ. 2535 โดยก่อสร้างเป็นชั้นกึ่งใต้ดินลงไป 1.50 เมตร และส่วนด้านบนอาคารสูงขึ้นมาจากผิวดิน 2.10 เมตร ขนาดพื้นที่ 168 ตารางเมตร ใช้ทางเข้า-ออกหลักผ่านทางอาคารสำนักหอสมุดด้านหน้าซึ่งติดกับถนนภายในของสวนลุมพินี และมีทางเชื่อมสู่โซนเด็กและเยาวชนเป็นบันไดลดระดับลงไปในชั้นล่าง

จากอาคารห้องสมุดเก่าทรงโมเดิร์นเรียบง่าย สถาปนิกไม่เพียงเปลี่ยนลุคให้กลายเป็นห้องสมุดที่โดดเด่นด้วยแพทเทิร์นและสีสันที่ดูสะดุดตาเท่านั้น แต่กลับแฝงนัยยะความสมดุลธรรมชาติบนสวนสีเขียวใจกลางเมืองไว้อย่างแยบยล

ภายใต้โจทย์ที่ต้องการสร้างสรรค์พื้นที่เดิมให้เป็นมากกว่าห้องสมุดที่ให้บริการสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนทั่ว ๆ ไป นำมาสู่แนวคิดการออกแบบเชิงอุปมาอุปมัย (Metaphor Conceptual Design) โดยสถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจาก “แมลงเต่าทอง” ที่ภายนอกมีเอกลักษณ์และสีสันสดใส จดจำได้ง่าย เข้าถึงผู้ใช้งานหลักที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี

บริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคารห้องสมุดด้านหน้ากับโซนเด็กและเยาวชนออกแบบเป็นซุ้มโค้งเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่และเจาะหลังคาเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในที่เป็นกึ่งชั้นใต้ดินมากขึ้น

จากตัวอาคารห้องสมุดเดิมสู่โซนเด็กและเยาวชนเชื่อมต่อกันด้วยโถงบันไดลดระดับ สถาปนิกเพิ่มส่วนของสไลเดอร์เข้าไปเพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ที่ดูสนุกสนาน ผ่อนคลาย และเข้าถึงง่าย ทั้งยังเจาะช่องแสงที่ฝ้าเพดานบริเวณโถงบันไดเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามายังด้านในอาคาร

ภายในเน้นใช้ไม้สีอ่อนคู่กับสีขาวเพื่อความโปร่งโล่งและเน้นตัวลายกราฟฟิควงกลมบนพื้นและผนังดูเด่นและเชื่อมโยงกับแพทเทิร์นผนังภายนอก

ภายในมีอัฒจันทร์เล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้ขึ้นไปหยิบหนังสือที่ถูกเก็บไว้ที่ชั้นบนได้อย่างปลอดภัย จะลงมานั่งอ่านหนังสือแบบห้อยขาสบาย ๆ หรือจะปีนป่ายลอดอุโมงค์เล่นสนุกไปตามจินตนาการก็ได้  พร้อมการออกแบบพื้นที่ที่เพิ่มการจัดเก็บหนังสือที่มีมากกว่าหมื่นเล่ม  และเนื่องจากเป็นพื้นที่กึ่งใต้ดินทำให้มีข้อจำกัดเรื่องแสงสว่าง สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้สีอ่อนคู่กับสีขาวให้พื้นที่ดูโปร่งสบายตา ตัดกับสีแดงของผนังภายนอก และกราฟิกวงกลมลายแมลงเต่าทองสีแดงที่ตกแต่งอยู่ตามพื้นและฝ้าเพดาน

หนังสือเกือบทั้งหมดถูกจัดสรรไว้รอบบริเวณอัฒจันทร์ที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของเด็ก ๆ ให้สามารถปีนป่ายขึ้นไปหยิบหนังสือได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
จัดสรรพื้นที่ให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงชั้นวางหนังสือชั้นล่างได้อย่างทั่วถึงด้วยการออกแบบให้ใต้อัฒจันทร์เป็นพื้นที่โล่งด้วยการใช้เหล็กกล่องสีขาวเป็นโครงสร้างหลัก ตัดกับสีแดงของอุโมงค์เต่าทองที่ออกแบบให้เป็นเหมือนโพรงลอดในสนามเด็กเล่น

สถาปนิกเปลี่ยนอาคารทรงโมเดิร์นเรียบง่ายให้กลายเป็นห้องสมุดเต่าทองสีแดงสะดุดตาภายในสวนสีเขียว โดยเลือกเก็บคาแรกเตอร์ความเป็นชั้นกึ่งใต้ดินเดิมไว้ จากพื้นที่ภายในจึงสามารถมองผ่านหน้าต่างทรงกลมที่ออกแบบให้ล้อไปกับรูปทรงของแมลงเต่าทองออกสู่พื้นที่สวนสีเขียวภายนอก สร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานเสมือนซ่อนตัวอยู่ในโพรงใต้ต้นไม้ ทั้งยังต่อเติมบันไดเชื่อมออกสู่พื้นที่ด้านบนที่ปรับปรุงโครงสร้างหลังคาเดิม และปูหญ้าเทียมให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อน และใช้งานสำหรับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ

ใช้สีแดงสะดุดตาในบริเวณโถงบันไดเชื่อมพื้นที่ชั้นล่างสู่ชั้นบน โดยออกแบบให้เป็นโถงกระจกเปิดรับแสงธรรมชาติได้โดยตรง
สถาปนิกออกแบบโครงสร้างหลังคาหลักด้วยเหล็กกล่อง ใช้เหล็กแผ่นเพื่อเพิ่มรายละเอียดของแพทเทิร์น โดยมีกระจกใสสีแดงช่วยสร้างมิติสะท้อนให้กับหลังคาได้อย่างน่าสนใจ
พื้นที่ด้านบนจากหลังคาเดิมถูกปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อน โดยสถาปนิกต่อเติมโครงสร้างหลังคาเพิ่มจากเดิมให้กลายเป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ให้สามารถขึ้นมาประกอบกิจกรรมกลางแจ้งได้

นอกจากลักษณะทางกายภาพของแมลงเต่าทองที่โดดเด่นสะดุดตา และดูเป็นมิตรกับผู้พบเห็น สัตว์ชนิดนี้ยังเป็นแมลงกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีนัยแฝงด้านความสมดุลทางธรรมชาติ ห้องสมุดนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงจินตนาการ ผสานการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในพื้นที่สีเขียว ควบคู่กับการพัฒนาบนใจกลางเมืองนั่นเอง

เรื่อง วรรณลีลา
ภาพ ศุภกร
ออกแบบ  คุณณุสุระ ปัทมดิลก  บริษัทสัทธา อาร์คิเทค จำกัด

7 เรื่องดีไซน์ไทยๆ ที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับ ICONSIAM และหนึ่งไอเท็มลับที่กำลังจะเปิด