เกือบ 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพมหานคร เราเดินทางมาถึงหน้า “Oui J’aime” ที่พักใหม่ในฉะเชิงเทรา ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงปีใหม่ของปี พ.ศ. 2562
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Walllasia
“Oui J’aime” ภาษาฝรั่งเศสที่แปลได้ว่า “ใช่ ฉันชอบ” หรือที่เจ้าของเรียกเป็นเสียงไทยง่ายๆ ว่า “อุ้ยแจม” เป็นธุรกิจโฮมสเตย์ ที่ต่อยอดมาจากธุรกิจขนมเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้วของเมืองแปดริ้ว ในชื่อ “ตั้ง เซ่ง จั๊ว”
“เราขายของให้นักท่องเที่ยว เราก็รู้นะครับ นักท่องเที่ยวที่มา 80 เปอร์เซ็นต์ก็คือมาเที่ยววัด”
คุณอุ้ย – ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ผู้สืบทอดธุรกิจขนมเปี๊ยะอายุกว่า 80 ปีของครอบครัว เล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาของการต่อยอดธุรกิจการขายขนมสู่การทำที่พักแรมให้คนที่มาเยี่ยมเยือนเมืองฉะเชิงเทรา
โดยคุณปิยะพรกล่าวว่า ธรรมชาติของเมืองแปดริ้วนั้นไม่ได้เป็นเมืองที่คนจะมาเที่ยวเพื่อพักแรม ด้วยไม่ได้มีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือสถานที่ดึงดูดให้คนอยู่ต่อ นอกจากการมาหาของอร่อยรับประทาน กับทำบุญไหว้พระในวัดสำคัญๆ
อย่างไรก็ตาม
“ถ้าเราไม่ได้คิดจะหาที่นอนแค่ให้มันผ่านๆ คืนไป หรือว่า ถ้าเป็นโรงแรมระดับหรูหราติดแม่น้ำ เราก็อาจจะไม่ได้อยากพักในที่ที่อารมณ์แบบนั้น มันก็เลยเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เราอยากทำที่พัก เป็นที่พักที่ไม่ได้อยู่ติดน้ำนะ แล้วมันก็ไม่ได้อยู่ในเมืองขนาดนั้น แต่มันมีอะไรบางอย่างที่สื่อสารกับคนให้มีความรู้สึกร่วมบางอย่างกับเมืองฉะเชิงเทรา
“หรืออย่างน้อยที่สุด คือเราชอบงานพี่ยะ ถ้าเราได้ทำงานร่วมกับพี่ยะแล้วพี่ยะได้งานที่พี่ยะพอใจ เอามันมาตั้งไว้ที่นี่ มันน่าจะมีคุณค่า”
คุณปิยะพรกำลังพูดถึง คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ หรือ พี่ยะ ในวงการสถาปัตยกรรมและงานออกแบบแลนด์สเคป สถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ Walllasia ผู้มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมและสวนที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย คุณปิยะพรเล่าว่า ตัวเขาชื่นชอบผลงานของสถาปนิกท่านนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาเรียนออกแบบ และได้ติดตามผลงานรวมถึงได้เข้าไปพูดคุยกับสถาปนิกถึงที่สำนักงาน จนสุดท้ายได้เขามาเป็นผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้ในที่สุด
“ขนาดพื้นที่ที่นี่แหละเป็นตัวแปร” คุณสุริยะกล่าว “มันบางมาก เรียวมาก ถ้าเราใช้คอนกรีต ภายนอกกับภายในจะแยกจากกันมาก แต่พอเป็นเหล็ก ภายนอกกับภายในจะดูกลมกลืนกัน จะรู้สึกว่าพื้นที่มันใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเหมาะกับที่นี่”
ข้อจำกัดแรกที่สถาปนิกพบได้จากที่ตั้งโครงการ คือขนาดและรูปร่างของที่ดินที่กว้างถึง 30 กว่าเมตร แต่ลึกเพียง 7 เมตรกว่าเท่านั้น ยิ่งเมื่อประกอบกับข้อกำหนดเรื่องระยะร่นจากกฎหมาย ความลึกของที่ดินที่จะใช้สร้างอาคารได้จริงๆ จึงเหลือเพียงราวๆ 5 เมตร อันเป็นความท้าทายที่ส่งผลถึงการเลือกใช้วัสดุ ตลอดจนรูปแบบสเปซของอาคารที่จำเป็นต้องทำให้โปร่งโล่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อเริ่มจากข้อจำกัดนั้น สถาปนิกจึงเริ่มวางพื้นที่ใข้สอยให้สอดคล้องไปกับระบบโครงสร้างและบริบท โดยกล่าวว่า
“เราวางทางเดินไว้ด้านหน้า พออยู่ด้านหน้าเราก็เลยไม่อยากให้คนข้างนอกมองเห็น เราอยากให้มองเห็นแล้วมีความกำกวมนิดหนึ่ง ก็เลยใช้กำแพงเหล็กที่เอามาซ้อนกัน ตอนเช้าแสงเงามันก็ตกเข้ามาภายใน”
กำแพงเหล็กที่คุณสุริยะพูดถึงนั้น กลายเป็นจุดเด่นที่สุดของอาคารที่มองเห็นได้จากภายนอก ตัวมันเองเป็นแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforated Sheet) ที่ถูกปล่อยให้เป็นสนิม แล้วทาเคลือบภายหลังเพื่อคงสภาพไว้ โดยขนาด จังหวะ และรูปแบบการเจาะลายทั้งหมด คุณสุริยะและทีมสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด
แผงกำแพงเหล็กถูกติดตั้งลงไปบนกรอบอาคารโครงสร้างเหล็กสูง 4 ชั้น โดยกรุลงในส่วนทางเดินที่ใช้เชื่อมเข้าสู่ห้องพักบริเวณที่หันออกสู่ถนน ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นทางเดินกึ่งกลางแจ้ง ผู้เข้าพักจะยังอยู่ภายใต้ชายคาอาคาร แต่ยังสัมผัสอากาศ แสง และทิวทัศน์ภายนอกได้เต็มที่
เป็นแนวคิดที่คุณสุริยะอธิบายว่า
“พื้นที่มันเล็กอยู่แล้ว เราเปิดมันตรงนี้ ก็เหมือนกับว่า พื้นที่มันจะได้ดูใหญ่ขึ้นมา แล้วอยากให้เขามีพื้นที่สัมผัสกับภายนอกบ้าง ไม่ปิดทึบทั้งหมดเสียทีเดียว
“ความเล็กมันจะหายไป ตอนที่คนอยู่ภายนอกอาคาร มองเข้ามาก็ดูรู้อยู่แล้วว่าโรงแรมมันเล็ก แต่พอทำอย่างนี้ พอเขาได้เดินขึ้นไปมันจะมีเรื่องราวมากกว่าความเล็ก มันเป็นการรีเซ็ตเรื่องความคาดหวังของเขาใหม่ ทีนี้ พอเข้าไปในห้อง เราก็จะยังไม่เจอห้องในทันที เราก็จะเจอพื้นที่วางต้นไม้กับที่นั่งก่อนอีก เป็นวิธีการเดียวกัน”
ในห้องพัก สถาปนิกใช้ความโปร่งโล่งลดความแออัดโดยใช้กระเปาะพื้นที่โล่งแทรกเข้าไปในห้องก่อนที่ผู้เข้าพักจะเปิดประตูเข้าสู่ห้องนอนของตัวเอง จากนั้นจึงค่อยแยกเข้าส่วนห้องนอนที่กั้นด้วยบานเลื่อนกระจกด้านหนึ่ง กับห้องน้ำที่แยกออกมาเป็นสัดส่วนอีกด้านหนึ่ง ในพื้นที่เล็กๆ นี้ สถาปนิกออกแบบให้เป็นที่นั่งที่พอดีกับการนั่งใส่รองเท้า วางกระถางต้นไม้ โดยเป็นพื้นที่โล่งไร้ผนัง แต่ถูกปิดด้วยแผงฟาซาดเหล็กเจาะรู ซึ่งมากพอจะสร้างความเป็นส่วนตัว และเอื้อให้พื้นที่โล่งรับลมและแสงได้พร้อมๆ กัน
นอกจากความโปร่งโล่งซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของอาคารแล้ว แลนด์สเคปดีไซน์ที่เป็นงานอีกแขนงหนึ่งที่ผู้ออกแบบถนัด ก็เป็นอีกองค์ประกอบที่น่าสนใจที่พบได้ในโรงแรม
“เราต้องการใช้ประโยชน์จากกันสาด เลยออกแบบให้เป็นบ่อน้ำด้านบน ซึ่งบ่อน้ำนี้จะช่วยรับน้ำจากเครื่องปรับอากาศได้ แล้วถ้าหากเราเปิดระบบน้ำหยดเพิ่มเข้าไป มันก็จะล้นลงมารดน้ำต้นไม้ด้านล่างได้อีกทีหนึ่ง”
กันสาดที่สถาปนิกกล่าวถึงนั้นอยู่บนชั้น 2 ต่อเนื่องจากส่วนใช้งานที่เป็นห้องเอนกประสงค์ให้คนเช่าทำกิจกรรมต่างๆ สถาปนิกออกแบบให้เป็นบ่อน้ำล้น ประดับด้วยหินมอส ซึ่งช่วยเติมบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติให้กับอาคารที่ถูกสร้างด้วยวัสดุอุตสาหกรรมอย่างเหล็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น บ่อน้ำยังสะท้อนภาพกิ่งและใบของต้นพะยูงด้านล่าง ซึ่งถูกปลูกให้ชูยอดอยู่เหนือสระน้ำอย่างพอดิบพอดี คล้ายเป็นฉากของธรรมชาติที่ถูกจัดวางไว้คู่กับสถาปัตยกรรมอย่างถูกที่ถูกเวลา
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว หากเรามองอาคารจากด้านหน้า โรงแรมเหล็กที่อาจดูแข็งกระด้าง ก็จะดูถ่อมตัว และกลืนหายไปกับท้องถนนโดยปริยาย
“เราต้องการอย่างนั้น” คุณสุริยะว่า “มันไม่ได้เด่น แต่เวลามองเรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง เราคิดถึงอาคารไม้เก่าๆ ถ้าสังเกตไม้เก่าๆ มันจะมีจิตวิญญาณบางอย่างในไม้
“เหมือนอาคารไม้สูงๆ เวลาเดินเราจะรู้สึกไม่เสถียร คือรู้สึกว่ามันมีแรงกระเพื่อมนิดหนึ่ง แต่ปลอดภัยนะ แข็งแรงมากอยู่แล้ว แต่มันเคลื่อนไหวได้นิดหน่อย มันจะมีความไหวนิดหน่อย”
คุณสุริยะยังเสริมว่า ประสบการณ์และความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ที่คนจะได้สัมผัสเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้ผู้ใช้งานจดจำ และรู้สึกแตกต่างจากการเดินในอาคารอื่นๆ ทั่วไป การใช้เหล็กในอาคารหลังนี้ช่วยมอบประสบการณ์ดังกล่าวให้กับผู้เข้าพักได้ ด้วยความอ่อนตัวและยืดหยุ่นของเหล็ก การย่ำไปบนอาคาร ผ่านโถงบันไดที่โปร่งโล่งและไหวน้อยๆ ตามแรงเท้า รวมถึงการได้สัมผัสบรรยากาศที่ถูกออกแบบมารอบๆ ไปพร้อมกัน จะช่วยให้ผู้เข้าพักรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสถานที่ที่ถูกออกแบบใหม่ไม่เหมือนที่ใด
ประสบการณ์ในสถาปัตยกรรมที่ถูกกล่าวถึงนี้ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ทว่าก็มีพลังมากพอสำหรับเจ้าของโครงการผู้ต้องการสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับบ้านเกิด สร้างที่รวมตัว และ ที่พักใหม่ในฉะเชิงเทรา โดยเขาเชื่อว่า งานดีไซน์ที่ดีนั้น จะสามารถส่งสารที่เขาต้องการสู่นักเดินทางทั้งหลายได้ไม่มากก็น้อย
ดังที่คุณปิยะพรกล่าวว่า
“เมืองแปดริ้วเราดังอยู่แล้วเรื่องอาหาร แล้วคนก็มาเที่ยววัด แต่หลังจากนั้นถ้าคนอยากจะไปต่อเขาก็ไปไหนไม่ได้ ถ้ามีที่พักแบบใหม่แบบนี้เกิดขึ้น มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ดีที่ว่าเราขายของได้เท่านั้นนะ แต่ว่าคนที่มาเขาก็ได้เที่ยว อิ่มเอม มีไอ้นู่นไอ้นี่ มีหลายๆ อย่างให้เขาได้เลือก เรารู้สึกว่า ใช่แล้ว สิ่งนี้มันตรงประเด็น มันคลายปมในใจเราว่า ถ้ามันจะมีที่พักแบบนั้นเกิดขึ้น มันก็จะทำให้เมืองเราเปิดโอกาสให้คนมาใช้เวลากับมันมากขึ้น
“อย่างเราเองเราเกิดและเติบโตในฉะเชิงเทรา เราก็รู้สึกว่ามันเป็นจิตวิญญาณของบ้านเกิด ถ้าจะทำอะไรขึ้นมาแล้วทำให้บ้านเรามันดีขึ้น เราก็อยากจะทำ”
OUI J’AIME เป็นส่วนหนึ่งใน 100 BEST DESIGN SMALL HOTELS & HOSTELS หนังสือ 100 BEST DESIGN SERIES ฉบับที่ 2 ที่รวบรวมไอเดียที่พักไซส์เล็กสำหรับนักท่องโลก และคนฝันอยากมีธุรกิจโรงแรมเอาไว้แบบเต็มอิ่ม พบกับ 100 ที่พักดีไซน์เด็ด พร้อมคู่มือการออกแบบโรงแรมในฝันของคุณ
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร
สถาปนิก : สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ ขยาย นุ้ยจันทร์ บริษัท วอลลาเซีย จำกัด
ทีมงานสถาปนิก : ปรีณาพร แสงศรี พนมพร พรมแปง
ออกแบบและจัดทำภูมิทัศน์ : สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ ประวิทย์ พูลกำลัง บริษัท วอลลาเซีย จำกัด
อินทีเรียดีไซน์ : วิชชาธร ประเสริฐสุข บริษัท สตอเรจ สตูดิโอ จํากัด
กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ : ชาญชัย บริบูรณ์
วิศวกรโครงสร้าง : วิทยา บุญสุข
ผู้รับเหมาก่อสร้าง : สิทธา แผ่นทอง บริษัท สามพัฒนาก่อสร้าง จำกัด (สถาปัตยกรรม)
บริษัท มิลเลี่ยน เอ็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (ตกแต่งภายใน)