MODERN LOVE นิทรรศการใน Bangkok Design Week 2019 - room
bangkok design week 2019 Modern love

MODERN LOVE นิทรรศการซ่อนรักซ่อนเร้น มองลอดผ่านช่องลมแห่งสถาปัตยกรรมอำพราง ในงาน Bangkok Design Week 2019

วับ ๆ แวม ๆ เป็นความรู้สึกอันเกิดจากเวลาเรามองลอดผ่านช่องหรือรูเล็ก ๆ บนผนังหนา ๆ ที่เปรียบเสมือนเส้นแบ่งระหว่างสเปซ ซึ่งในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว วัสดุที่ให้อัตลักษณ์ใกล้เคียงความรู้สึกเย้ายวนชวนตื่นเต้นกับสิ่งที่มองเห็นได้เพียงลาง ๆ แบบนี้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นก้อนอิฐที่เรียกกันว่า “บล็อกช่องลม” ซึ่งความรู้สึกที่ว่านี้เกิดขึ้นกับเราโดยพลันเมื่อได้มาชมนิทรรศการ “Modern Love” อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2019 ที่โรงแรมรีโน (Reno Hotel) ภายในซอยเกษมสันต์ 1

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design

โรงแรมรีโนเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงมายาวนานแล้วตั้งแต่สมัยปี 1962 ซึ่งปัจจุบันโรงแรมเก่าแก่ใจกลางย่านปทุมวันแห่งนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยมีทีมออกแบบ PHTAA Living Design เป็นผู้รับหน้าที่ดังกล่าว และในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้เอง พวกเขาจึงได้ชักชวนกลุ่มเพื่อนนักออกแบบหลายชีวิต มาร่วมกันจัดแสดงนิทรรศการในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2019 มุ่งถ่ายทอดมุมมองต่อความรักที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว สอดรับไปกับเรื่องราวและร่องรอยในอดีตของโรงแรมที่บางส่วนยังคงหลงเหลือให้เห็นอย่างเช่น “บล็อกช่องลม” อันเป็นที่มาของนิทรรศการครั้งนี้นั่นเอง

bangkok design week 2019

reno hotel
ห้องพักส่วนที่ได้รับการรีโนเวทใหม่ ด้วยการรื้อฝ้าเปิดเพดานให้สูงโปร่งกว่าเดิม
reno hotel
เผยให้เห็นบล็อกช่องลมอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมได้มากขึ้น
reno hotel
“แนวความคิดเรื่องห้องพักแบบใหม่มาจากการที่เราอยากจะแบ่งพื้นที่ระเบียงภายนอกที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้งานให้มาเป็นพื้นที่ภายใน ซึ่งผู้พักอาศัยสามารถนั่งริมระเบียงได้ขณะที่นั่งอยู่ภายในห้อง” หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHTAA Living Design กล่าว

“เราตั้งใจจะใช้บล็อกช่องลมเป็นสื่อกลางระหว่างนิทรรศการนี้กับโรงแรม” พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHTAA Living Design บอกกับเรา

“บล็อกช่องลมมันมีมาทุกยุคทุกสมัย ในอีก 10 ปีข้างหน้าเชื่อว่ามันก็ยังจะมีอยู่ แต่รูปทรงมันอาจไม่ใช่รูปแบบนี้ ถ้าเรามองจากระเบียงของโรงแรมจะเห็นบล็อกช่องลมในสมัยปี 1962 ซึ่งสมัยนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว หรืออาจจะมีลักษณะคล้ายคลึงอยู่บ้าง เราจึงทำบล็อกช่องลมในยุคสมัยของเราขึ้นมาใหม่ ซึ่งตัวแปรมันคือดีไซน์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ว่าตัวแมททีเรียลยังคงเหมือนเดิม เรานำมาจัดนิทรรศการเพื่อช่วยสร้างภาพจำในแง่ของสถาปัตยกรรม ซึ่งด้วยสเปซที่มันโค้งและรูของอิฐมันทำให้เกิดความรู้สึกใหม่ ๆ ในการเข้าไปรับชมงานข้างใน”

bangkok design week 2019
PHTAA และ Unplan ทีมเบื้องหลังนิทรรศการ Modern Love
bangkok design week 2019
กระจกสะท้อนบนฝ้าเพดานที่มักพบเห็นตามโมเต็ลทั่วไป อีกหนึ่งกิมมิคที่ทีมออกแบบหยิบยืมมาใช้ในนิทรรศการนี้เพื่อสร้างการรับรู้สเปซในอีกระนาบ และสะท้อนมุมมองในอีกมุมหนึ่งจากการใช้งานแบบเดียวกัน / Wild Tiger (เสือป่า) โดย 56th Studio ผลงานคอลลาจภาพจากหนังสือโป๊ในยุค 1970-1980 พิมพ์ลงบนชุดเครื่องนอน โดยลวดลายที่ปรากฏแสดงใบหน้าและเรือนร่างที่ถูกเซ็นเซอร์จุดลับของหญิงไทย เพื่อสื่อความถึงการปิดบัง ซ่อนเร้นเรื่องเพศที่ยังไม่ได้ถูกยอมรับมากนัก
Sweet Dream โดย Cuscus the Cuckoos
Sweet Dream โดย Cuscus the Cuckoos ผลงานที่สื่อถึงความรักที่ไม่ถูกจํากัดจํานวนคน และเพศ ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ หรือถูกแบ่งแยกโดย ศีลธรรมหรือจริยธรรม
Inner Mind - real / unreal โดย Sarin T.gamol
Inner Mind – real / unreal โดย Sarin T.gamol นำประเด็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจจะเปิดเผยในที่สาธารณะ ในงานชิ้นนี้ศิลปินต้องการที่จะอภิปรายและตั้งคําถามถึงการสร้างจิตใต้สํานึกที่อยู่ในโลกภายในผ่านความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อโรงแรมม่านรูด สถานที่ปลดปล่อยสัญชาตญานดั้งเดิมของมนุษย์ โดยมีผ้าม่านและกําแพงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ถูกนํามาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกตัดขาดจากโลกภายนอก

PHTAA Living Design ได้ทีมออกแบบจาก PAGAA มาร่วมกันวางแปลนและกำหนดทิศทางในการรับชมนิทรรศการนี้ โดยการเลือกจัดวางก้อนอิฐแต่ละก้อนเรียงตัวกันเป็นผนังโค้งในลักษณะสับหว่างจากอีกห้องสู่อีกห้อง จำนวนทั้งหมด 5 ห้องจัดแสดง และ อีก 2 ห้องภายนอกสถาปนิกอธิบายว่า “เราคุยกันแต่แรกว่าเราจะทำการ Upcycling วัสดุ เราคิดว่าเราควรจะทำมันเพราะมันทำให้ของไม่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เราพยายามใช้กับโปรเจ็กต์ที่สามารถเป็นไปได้ แม้มันทำให้เราต้องคิดมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราได้รู้ปัจจัยที่มันท้าทาย”

“การ Upcycling อิฐนี้มันทำให้เรารู้ว่าจะทำอย่างไรให้อิฐมันกะเทาะออกมาโดยไม่แตก ซึ่งเราใช้กาวตะปูที่มันสามารถแซะได้ง่าย การเอาส่วนโค้งมาชนกันมันช่วยกันรับแรงทำให้เกิดการล้มยากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาเชิงดีไซน์บวกกับการที่เราอยากให้สเปซออกมาเป็นแบบนี้” ซึ่งภายหลังจากนิทรรศการจบลง ผนังทั้งหมดจะถูกรื้อกลับไปสร้างเป็นผนังตกแต่งริมสระว่ายน้ำ รวมถึงใช้ตกแต่งฟาซาดด้านหน้าของโรงแรมที่กำลังอยู่ในระหว่างรีโนเวทครั้งใหญ่ต่อไป

แต่ทั้งนี้แล้วตัวแปรที่ไม่สามารถกำหนดได้อย่างความสนใจอันเป็นปัจเจกบุคคลก็ยังคงเป็นจุดประสงค์หลักของทีมผู้จัดนิทรรศการทั้งหมด ซึ่งสอดรับไปกับสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ออกแบบขึ้นโดยไม่บีบบังคับผู้ชม และแฝงไว้ซึ่งความพยายามไม่ให้ผู้คนเสียสมาธิกับงานแสดงในแต่ละห้องที่พวกเขาพยายามจะเล่าหรือสื่อสารในพื้นที่แบบเปิด ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มาชมนั้นสนใจพื้นที่หรือห้องไหนเป็นพิเศษก่อนกัน

“การที่เราแบ่งฟังก์ชันไว้ 2 ฝั่งโดยมีทางเดินอยู่ตรงกลาง ทำให้เราเห็นแอ็คทิวิตี้ของคนในการชมงานมากขึ้น” พลวิทย์ย้ำ “บางคนเดินตรงไปที่ปลายทางแล้วกลับมาดูต้นทาง บางคนดูแค่บางห้อง การวางสับหว่างมันทำให้คนที่มาชมเห็นพื้นที่ได้ครั้งละ 1 ถ้าเราเห็นครั้งละ 2 มันอาจเกิดการเสียสมาธิ สำหรับการชมงานในแกลเลอรี วิธีการออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมจะให้คนเลือกดู ให้อิสระในการเดิน เราไม่ได้บังคับเขา แต่เราใช้มุมมองที่เหลื่อมกันในการทำให้ Circulation ของคนดูมันค่อย ๆ ไปทีละหนึ่ง แล้วผู้ชมจะจดจ่อกับงานได้มากขึ้น”

bangkok design week 2019
ผนังอิฐหรือบล็อกช่องลมที่เรียงต่อกันเป็นผนังโค้ง ช่วงสร้างมุมมองที่ก่อให้เกิดความลื่นไหลในการชม อีกทั้งยังให้ความรู้สึกแตกต่างจากการชมงานที่กั้นแบ่งด้วยผนังทึบ
bangkok design week
ทีมออกแบบตั้งใจก่อผนังอิฐบล็อกในลักษณะโค้งเว้า และยึดด้วยกาวตะปูเพื่อการรื้อถอนที่ง่าย อีกทั้งส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ผนังดังกล่าวสามารถคานน้ำหนักและรับแรงในตัวเองได้ ซึ่งช่วยป้องกันการล้มตัวของผนังไปโดยปริยาย

อีกนัยยะหนึ่งที่ทีมออกแบบตั้งใจสื่อสารกับผู้ชมในนิทรรศการ Modern Love ครั้งนี้คือเรื่อง “ความรักที่ซ่อนเร้น” พลวิทย์เสริมว่า “ความรักที่ซ่อนเร้นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การซ่อนคือมันมีทางหาเจอ มันก็เลยเป็นนิยามของอิฐแต่ละก้อนที่มันมีรูให้มองทะลุไปได้ ความรู้สึกที่มองผ่านรูอิฐบล็อกอาจจะสร้างความอึดอัดให้กับอีกคน หรืออาจจะสร้างความสุนทรียให้เขาก็ได้ การมีคนยืนมองผ่านรูแล้วเห็นสาว ๆ อีกห้องกำลังเล่นกันอยู่มันก็น่ารักดี หรือผู้หญิงเหล่านั้นหันมาเห็นคนยืนมองผ่านช่องอยู่ก็อาจจะรู้สึกหลอน ๆ มันคือการสร้างความรู้สึกให้สเปซ สร้าง Interaction ให้กับคนจริง ๆ สถาปัตยกรรมหรือสเปซที่ดีต้องสร้าง Interaction ให้กับคนได้ไม่ว่าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง”

“วับ ๆ แวม ๆ มันดูมีความน่าสนใจมากกว่าการเห็นทั้งหมด บล็อกช่องลมมันช่วยให้เกิดวิธีนั้นได้ ในอนาคตบล็อกช่องลมที่จะไปอยู่บนฟาซาดด้านหน้าของโรงแรม ด้วยบริบทด้านหน้าโรงแรมอาจไม่น่าสนใจ ซึ่งเรื่องนี้เราเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่เราต้องหาวิธีให้เขา (ผู้อาศัย) อยู่กับบริบทเหล่านี้ให้ได้ บล็อกช่องลมจึงเป็นคำตอบที่ดี เพราะคุณจะเลือกมองก็ได้ หรือคุณจะไม่มองก็ได้ สังเกตว่าบล็อกช่องลมของผมมันจะไม่ได้เป็น 2 มิติ มันมีความโค้งมันที่ทำให้เกิดมุมมองที่อับสายตา ถ้าคุณมองในมุมหนึ่งที่อับสายตาคนข้างล่างจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าคุณเขยิบมาเล็กน้อยก็อาจจะเห็นได้บ้าง ดังนั้นคุณเลือกมุมที่มีความสุขได้ เลือกองศาเพื่อให้เกิดมุมอับสายตาหรือไม่อับสายตาขึ้นได้”

Orgasmatron โดย Sathon Chainsaw
Orgasmatron โดย Sathon Chainsaw ออกัสมาตรอน เป็นอุปกรณ์จากอดีตที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกคล้ายการสําเร็จความใคร่ โดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ทางกายภาพจริง โดยจะใช้ แนวคิดของเครื่องนี้เพื่อสร้างห้องที่เต็มไปด้วย จินตนาการทางเพศที่น่าพึงพอใจที่สุด
Mae - Sai / แม่สาย โดย Dry Clean Only
Mae – Sai / แม่สาย โดย Dry Clean Only ชูประเด็นความรัก ที่อาจจะไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นเพียงอํานาจของเงินตราที่จ่ายให้กับความใคร่ในชั่วข้ามคืน เหมือนดั่งเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ในบทเพลงแม่สาย ของวงคาราบาว ศิลปินจึงต้องการ จะถ่ายทอดเรื่องราวบนเตียงที่หญิงสาวได้เผชิญ ในอาชีพโสเภณีของเธอ
Inner Mind - real / unreal โดย Sarin T.gamol
Inner Mind – real / unreal โดย Sarin T.gamol
Issaraphap
Nature / ธรรมชาติ ผลงานโดยกลุ่มอิสรภาพ (Issaraphap) บริเวณปลายทางของนิทรรศการที่บอกได้ชัดเจนถึงการตีความคำว่า ธรรมดาสามัญของความรัก ความใคร่ และทางขึ้นสวรรค์ของมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ในขณะที่หลายคนนำเสนอเตียงนอนในหลากหลายมิติทางอารมณ์ PHTAA เจ้าของงาน กลับมีเพียงหัวใจสีแดงหนึ่งดวงที่วางอยู่ในพื้นที่เปิด เราถามพลวิทย์ทิ้งท้ายว่าพวกเขาต้องการสื่อสารอะไรกับคนที่มาชมงานนี้

bangkok design week 2019 Modern love
Love chat log (ความรักในแชทล้อก) โดย PHTAA เตียงเดย์เบดรูปหัวใจสีแดง กับอิโมจิคอนอันเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารในยุคดิจิตอล

“หัวใจเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับความรักทั่วไป แต่ในยุคนี้มันเป็นของที่ใครก็กดกันง่ายจัง” เขาตอบ

“สมัยก่อนเราต้องเขียนหัวใจใส่จดหมาย ส่งหากัน มันยากกว่าตอนนี้มาก ซึ่งเราคิดว่าอิโมจิจาก LINE มันเข้ากับความรวดเร็วในยุคสมัยนี้จริง ๆ ยุคสมัยที่การคุยกันมันรวดเร็วมาก โอกาสคุยมันง่ายขึ้น พอมันเร็วขึ้น มันมีโอกาสยิ่งจบเร็วขึ้น อิโมจิที่เราเลือกมามันคือสารอย่างหนึ่งที่เราใช้แทนตัวอักษร มันเป็นการสื่อสารถึงผู้ชมได้ง่าย ทันยุคสมัย”

bangkok design week 2019 Modern love

“LINE มันคือความรวดเร็ว คิดดูนะ สมัยก่อนถ้าเราจะสั่งงานกัน เราต้องพิมพ์ส่งอีเมล์ กว่าคนจะอ่านผ่านไปครึ่งวันกว่าเขาจะมาเจอเมล์ แล้วใช้เวลารวบรวมสมาธิเพื่อตอบอีเมล์อีก 20 นาที แต่ LINE ถ้าคุณอ่านปุ๊ปเขารู้แล้วเพราะมันขึ้น Read ถ้าคุณไม่รีบตอบโดยเร็ว คุณซวยแล้ว คุณเห็นแล้ว รับสารไปแล้ว ทำไมคุณยังไม่ตอบสักที มันเป็นความรวดเร็วที่ต่างจากยุคสมัยก่อนมาก”

bangkok design week 2019 Modern love

นิทรรศการ “Modern Love” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2019 จะจัดแสดงอยู่ที่โรงแรมรีโน ซอยเกษมสันต์ 1 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่ 11.oo – 21.00 น. นี่คืออีกหนึ่งนิทรรศการที่ผู้มาชมสามารถปฏิสัมพันธ์กับงานได้ เพียงแค่แอบมองผ่านช่อง แอบส่องห้องข้าง ๆ หรือทิ้งตัวลงนอนบนเตียงต่าง ๆ แล้วหยิบมือถือมาถ่ายรูปตัวเองในอีกระนาบภายใต้สถาปัตยกรรมชั่วคราว ที่จะถูกรื้อทิ้งแล้วย้ายไปติดตั้งอย่างถาวรเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนเรื่องราวทั้งหมดของโรงแรมแห่งนี้ในยุคสมัยที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้

BANGKOK DESIGN WEEK 2019

ออกแบบนิทรรศการ : PHTAA X PAGAA
ออกแบบ Key Visual : ผัสสะ/อัญแปลน


เรื่อง : นวภัทร ดัสดุลย์
ภาพ :  ศุภกร, นวภัทร, Courtesy of PHTAA Living Design

Bangkok Design Week 2019
นิทรรศการดี ๆ ที่ต้องไปดูให้ได้ในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2019