MODERN MOVEMENT จุดกำเนิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ - room life
villa savoye

MODERN MOVEMENT จุดกำเนิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

หากพูดถึง “สถาปัตยกรรมโมเดิร์น” หลายคนคงนึกไปถึงอาคารทรงกล่อง หลังคาเรียบแบน ผนังปูนเปลือย และหน้าต่างกระจกบานใหญ่โปร่งโล่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ตึกโมเดิร์น
Carpenter Center for the Visual Arts ออกแบบโดย Le Corbusier (ภาพ http://corbusier.totalarch.com/carpenter_center)

แต่จริง ๆ แล้ว คำว่า “modern” ที่แปลว่า “ทันสมัย” นั้น ยังมีความหมายในอีกมิติ ซึ่งสื่อถึงกระแสความเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรมในซีกโลกตะวันตกเมื่อ 100 กว่าปีก่อน หรือที่เราอาจเรียกว่า “ยุคโมเดิร์น” ดังนั้น Modern Architecture หรือ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จึงหมายถึงรูปแบบและหลักการของสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่เกิดในยุโรปและอเมริกาในช่วงเวลานั้น

และเมื่อเราเข้าใจความเป็น “โมเดิร์น” เช่นนี้แล้ว “บ้านโมเดิร์น”ที่ว่าดู “เดิ้น” หรือทันสมัยนั้น ก็ดูจะมีเรื่องราวเบื้องหลังมากกว่าที่คิด

อาคาร Looshaus ในกรุงเวียนนา สร้างเสร็จในปี 1911 ออกแบบโดย Adolf Loos อาคารมีหน้าตาเรียบโล่งไร้การประดับประดา จนผู้คนให้ฉายาว่า “บ้านที่ไม่มีคิ้ว” (ภาพโดย Thomas Ledl)

จุดเริ่ม “สมัยใหม่” เมื่อการประดับตกแต่งเป็นอาชญากรรม

กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นั้นรุ่มรวยไปด้วยศิลปะวัฒนธรรม ทั้งบรรดาอาคาร และสถาปัตยกรรมต่างก็ตกแต่งด้วยปูนปั้น และลวดลายหรูหราฟูฟ่า แต่ Adolf Loos สถาปนิกได้นำเสนอแนวคิดต่อต้านการประดับตกแต่งผิวหน้าอาคารด้วยลวดลายฟุ่มเฟือย เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ โดยเชิดชูคติความงามแบบใหม่ของศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุโรปและอเมริกา ทั้งยังเป็นแนวคิดที่สะท้อนวิถีชีวิตของสังคมที่เน้นการก้าวไปสู่ยุคใหม่ ศิลปิน และสถาปนิกหลายท่านในสมัยนั้น จึงต่างมุ่งทำงานไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน ซึ่งกล่าวได้ว่าคลี่คลายออกมาเป็นลักษณะร่วมบางอย่างของ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

อาคาร The Crystal Palace ในช่วงประมาณปี 1854 โดย Paul Furst (Victoria and Albert Museum, London)

ก่อนจะ “โมเดิร์น”

“การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ถือกันว่าเป็นชนวนแรกสุดของการเกิด สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1851 อังกฤษจัดมหกรรมนำเสนอเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในโลกในช่วงเวลาขณะนั้น  ซึ่งใช้ชื่อ ว่า Great Exhibition of the Works of Industry of all Nations” โดยได้ Joseph Paxton มาเป็นผู้ออกแบบอาคารห้องกระจก The Crystal Palace” เพื่อรองรับมหกรรมดังกล่าว อาคารโครงสร้างเหล็กหล่อกรุกระจกทั้งหลังแห่งนี้ ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ และวิธีการรับน้ำหนักแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อแสดงรูปแบบพื้นที่ภายในที่โปร่งโล่ง รวมถึงคติความงามที่มาพร้อมกับบทบาทของอุตสาหกรรมและเครื่องจักร

The Crystal Palace จึงเป็นอาคารหนึ่งที่ยอมรับกันว่า เป็นสัญญาณของการมาถึงของรูปแบบอาคารแบบใหม่ โดยมีปัจจัยเบื้องหลังที่สำคัญคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม อันนำมาซึ่งการผลิตวัสดุสมัยใหม่ที่ผลิตซ้ำ ๆ กันได้เป็นจำนวนมากอย่าง เหล็กหล่อ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น

อาคาร Bauhaus ในเมือง Dessau ของประเทศเยอรมนี ภาพโดย Peter Drews

งามอย่างอุตสาหกรรม  งามอย่าง “เบาเฮ้าส์”

นอกจากเทคโนโลยีการก่อสร้างแล้ว การวางรากฐานทางทฤษฎี และแนวคิดการออกแบบก็เป็นอีกอิทธิพลที่ส่งให้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “สมัยใหม่” ก่อร่างขึ้นอย่างแข็งแรง

หนึ่งในนั้นคือสถาบัน “เบาเฮ้าส์ (Bauhaus)” แห่งสาธารณรัฐไวมาร์ (หรือเยอรมนีในปัจจุบัน) เริ่มดำเนินการโดย Walter Gropius สถาปนิกที่ผู้คนยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เบาเฮ้าส์ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาที่ควบรวมศิลปะ งานฝีมือ และเครื่องจักรเข้าไว้ด้วยกัน มีเป้าหมายคือการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าอุตสาหกรรม ในยุครุ่งเรืองของการออกแบบเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนสมัยใหม่ ทว่าสำหรับ Gropius เบาเฮ้าส์ไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนสอนงานฝีมือหากแต่เป็นถึงสถานที่บ่มเพาะศาสตร์และศิลป์ของคนยุคใหม่แห่งสาธารณรัฐอีกด้วย

ท้ายที่สุด แฟลต Pruitt-Igoe กลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ ถูกปล่อยให้รกร้าง เต็มไปด้วยอาชญากรรม ตรงกันข้ามกับภาพฝันของสังคม และการอยู่อาศัยที่สถาปนิกวาดไว้ การทำลายอาคารที่ถือครองหลักการความเป็นสมัยใหม่ทุกกระเบียด จึงเหมือนเป็นการทำลายความเชื่อ และสัญลักษณ์ของความคิดสมัยใหม่ลงไปด้วย

สนธยาของความเป็น “สมัยใหม่”

เป็นที่เข้าใจกันว่ายุคสมัยของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยุติลงที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิซูรี สหรัฐอเมริกา พร้อมการระเบิดทำลายโครงการที่พักอาศัย Pruitt-Igoe เมื่อบ่ายวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.1972

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อบรรดาอาคารบ้านเรือนเดิมต่างเหลือแต่ซาก จึงเป็นยุคเริ่มต้นของความนิยมสร้างแฟลต หรืออาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่สำหรับคนหมู่มากขึ้นมาทดแทน อาคารเหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยมีรากฐานมาจากแนวคิด สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นสำคัญ แต่กลับมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อแนวคิดสมัยใหม่ซึ่งมักยึดหลักการ และความจริงแท้ ตีค่าวิถีชีวิตคนอย่างแห้งแล้ง และเหมือนกันเกินไป ทำให้การออกแบบไม่ยึดโยงกับพฤติกรรมจริง หรือความหลากหลายของมนุษย์ กล่องอาคารสี่เหลี่ยมที่ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับผู้อยู่อาศัย จึงถูกกล่าวหาว่าน่าเบื่อ และไร้จิตวิญญาณ

แต่กระนั้น กระแสความเคลื่อนไหว “สมัยใหม่” ก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย… ผ่านบรรดาสถาปนิกนักเรียนนอกที่กลับมาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในรูปแบบเฉพาะตัวสำหรับภูมิภาคเขตร้อน ดังจะเห็นได้จากอาคารต่าง ๆ ที่ยังคงหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้…

เนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Documentary นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562)  Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้

https://www.facebook.com/roomfan/videos/414498345988369/

ตามไปอ่านต่อแบบเต็มอิ่มได้ใน
room ฉบับมีนาคม-เมษายน 2562

นิตยสาร room
Room Bookazine ฉบับเดือนมีนาคม – เมษายน 2561 Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่”

เรื่อง กรกฎา

อ่านต่อ :

NPDA Studio
BUNJOB HOUSE สะท้อนเรื่องราวของธรรมชาติเขตร้อนผ่านสถาปัตยกรรมโมเดิร์น