คุณภาวิศ สิมะกุลธร, คุณวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ คุณวู้ดดี้ พิธีกรดัง, คุณภูมิใจ ตั้งสง่า หรือ ดีเจภูมิ เหล่านี้ล้วนเป็นรายชื่อของลูกค้าผู้ที่เคยให้ คุณเอ-วัฒนา โกวัฒนาภรณ์ มัณฑนากรแห่ง aBalance Interior Design ออกแบบพื้นที่ใช้ชีวิตสะท้อนตัวตนมาแล้วทั้งสิ้น
เขาฝากฝีมือการออกแบบและตกแต่งภายในให้บ้านคนอื่นมาก็มาก ตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงล่าสุดที่เขาได้เปลี่ยนชื่อมาใช้ aBalance Interior Design ในปัจจุบัน แล้วคราวนี้ก็มาถึงคราที่เขาจะต้องปรับปรุงพื้นที่ส่วนตัวของเขาเองบ้าง ซึ่งภารกิจเปลี่ยนตึกแถวร้างหน้าแคบแห่งนี้ให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศสำหรับมัณฑนาการผู้เกิดและโตในย่านสาทรจบสิ้นลงแล้ว ผลลัพธ์ดังกล่าวพาเรามาเจอและพูดคุยกับเขาถึงที่นี่
“ดั้งเดิมย่านนี้คือพ่อแม่อยู่อยู่แล้ว เราซื้อตึกนี้มาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เลยมองว่าแทนที่เราจะย้ายออฟฟิศไปที่อื่น เราก็อยู่ใกล้ ๆ เขา จะได้มีโอกาสดูแลเขาได้ดีกว่า” คุณเอ-วัฒนา โกวัฒนาภรณ์ แห่ง aBalance Interior Design อธิบายถึงที่มาที่ไปของออฟฟิศใหม่ของเขา ซึ่งเดิมทีออฟฟิศเก่าก็เป็นคูหาที่ติดกับออฟฟิศใหม่นี้เอง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าอยู่ใจกลางเมืองก็ว่าได้ เนื่องจากย่านเซ็นต์หลุยส์นี้เป็นจุดเชื่อมต่อกันระหว่างถนนสาทร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนจันทน์ รวมทั้งเป็นย่านชุมชนเก่าที่มีทั้งวัด โบสถ์ โรงพยาบาล ร้านอาหาร และสถานีดับเพลิง แต่เนื่องด้วยความเป็นอาคารพาณิชย์เก่าที่มีหน้ากว้างเพียงแค่ 3.5 เมตร ในการปรับปรุงใหม่จึงต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกรีโนเวตพื้นที่ตรงนี้
“เหตุผลเรื่องครอบครัวและชุมชนที่มีความผูกพันกับย่านสาทร-เซ็นต์หลุยส์ครับ ตึกนี้เราได้มาเมื่อสิบกว่าปีแล้ว ถ้าจะหาตอนนี้ก็หายากมาก ผมก็เลยคิดว่าเอาตรงนี้มาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเลยตัดสินใจที่จะรีโนเวตออฟฟิศตรงนี้ อีกอย่างย่านนี้ตอนนี้เริ่มมีคอนโดมิเนียมเข้ามาปลูกสร้างเยอะแล้ว ตึกร้าง ๆ ก็ถูกรวมมาสร้างคอนโดมิเนียม ที่เห็น ๆ นี่ก็ 2-3 คอนโดมิเนียม อีกหน่อยไม่เกิน 5 ปี ย่านนี้คงมีอะไรที่สนุก ๆ มากขึ้น ย่านเซ็นต์หลุยส์จริง ๆ จะเป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ มากกว่า อย่างบ้านญาติ ๆ ก็จะอยู่ละแวกนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็เจอกันคุ้นหน้าคุ้นตากัน เพราะผมอยู่แถวนี้มาตั้งแต่เกิด ตอนผมเด็ก ๆ ย่านนี้ก็เป็นย่านคนจีนที่อยู่อาศัยไปด้วยค้าขายไปด้วย มันก็เลยมีทั้งตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง”
“อย่างที่นิวยอร์กซึ่งจะมีเขตต่าง ๆ อย่างเขตเชลซี เขตมีตแพ็กกิ้ง มันก็คือตึกเก่า ๆ ตึกโทรม ๆ มีตแพ็กกิ้งสมัยก่อนก็มีแต่ร้านขายเนื้อ แต่เดี๋ยวนี้ถ้ากลับไปดูมันกลายเป็นแบบร้านแฟชั่นแบรนด์หมดเลย เป็นย่านของศิลปิน ย่านของดีไซเนอร์ เขาก็เอาตึกเก่า ๆ มาทำให้มันดูน่าสนใจ เราก็เลยลองทำของเราดูบ้าง”
ทำไมช่วงหนึ่งถึงมีอาคารพาณิชย์ร้างแถวนี้เยอะ
“อาจจะเป็นมรดกมากกว่า แล้วลูกหลานไม่ได้มาดูแลก็เลยถูกปล่อยร้างไว้ และอีกอย่างคือแถวนี้เรื่องที่จอดรถจะหายากหน่อย แต่ผมว่าเสน่ห์แถว ๆ นี้คือการเป็นทางลัด ทางผ่านที่สามารถทะลุไปได้หลาย ๆ ถนน”
ด้วยพื้นที่จำกัดขนาดนี้คุณมีการแบ่งพื้นที่อย่างไรบ้าง
“การแบ่งพื้นที่ชั้น 1 ถึงชั้น 3 จะเป็นพื้นที่ทำงาน โดยชั้น 1 จะเป็นส่วนต้อนรับและห้องประชุม มีแพนทรีเล็ก ๆ ให้พนักงาน ชั้น 2 เป็นพื้นที่ของงานเอกสาร ฝ่ายบัญชี ฝ่ายบริหาร ชั้น 3 เป็นส่วนของพนักงานทั้งหมด รวมถึงดีไซเนอร์ด้วย ซึ่งจริง ๆ รองรับได้ถึง 16 คนด้วยซ้ำ ใช้ทุกอณูให้เกิดประโยชน์ ส่วนชั้น 4 ก็จะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผมเอง”
การออกแบบภายในมีส่วนแก้ปัญหาช่องแสงที่น้อยและพื้นที่ที่มีจำกัดอย่างอาคารพาณิชย์ลักษณะนี้อย่างไรได้บ้าง
“จริง ๆ ได้มาตอนแรกก็เห็นแล้วว่าอาคารมีสภาพทรุดโทรมมาก เพราะฉะนั้นการจัดสรรพื้นที่หรือการรีโนเวตของเราก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่เลย ตั้งแต่การเปลี่ยนตำแหน่งบันได ตำแหน่งห้องเดิม เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างปัญหาของอาคารพาณิชย์เดิมจะมีเรื่องบันไดเป็นหลัก บันไดเดิมจะอยู่ค่อนข้างกลางบ้าน และพื้นที่ในการทำบันไดก็ค่อนข้างเยอะ การปรับปรุงของเราเลยเริ่มจากย้ายบันไดไปด้านหลังทั้งหมด จะเห็นว่าตั้งแต่ชั้น 2 ไปจนถึงชั้น 4 บันไดจะอยู่ด้านหลังอาคาร เพราะจะใช้พื้นที่ข้างในเป็นพื้นที่ทำงาน ส่วนบริเวณบันไดชั้น 4 ถ้าสังเกตจะเห็นว่าแสงเข้าได้ทุกทิศทาง เป็นบันไดโปร่ง ฉะนั้นแสงก็จะผ่านทะลุไปถึงชั้น 2 ได้เลย การระบายอากาศก็จะไหลเวียนได้จากทุกชั้นได้เหมือนกันถ้าเราเปิดหน้าต่างด้านหน้า เพราะปกติเราเปิดหน้าต่างชั้น 4 อยู่แล้ว ลมก็จะไหลเวียนได้ทุกชั้นเป็นอย่างดี”
ส่วนที่อยู่อาศัยของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
“ถ้าสังเกตตรงนี้จะไม่มีห้องรับแขก มันจะเปิดมาเป็นแพนทรี แล้วก็เป็นห้องนอน ห้องน้ำ ผมเป็นคนไม่ติดทีวี ส่วนใหญ่จะไปทำกิจกรรมข้างนอกมากกว่า เพราะฉะนั้นผมจะไม่คุ้นชินกับการกลับมาถึงบ้าน มานั่งที่ลิฟวิ่งรูม มานั่งดูทีวี มานั่งบนโซฟานิ่ม ๆ ถ้าจะเข้ามาก็จะทำอะไรเร็ว ๆ มีเตา มีตู้อบ บางทีก็นั่งกินไปด้วยทำงานไปด้วย”
ทำไมต้องเป็นครัว
“ผมรู้ว่าตัวเองพอเวลาทำงานดึก ๆ ขึ้นมาเราจะหาอะไรกิน มันก็ต้องมีล้าง ทำ อุ่น อะไรพวกนี้ จึงออกแบบเป็นแบบนี้ดีกว่า ผมชอบอารมณ์แบบนั่งคุยกันแบบนี้ อยากกินอะไรก็ลุกขึ้นไปหยิบเลย ตู้ข้างหลังนี่ก็ใช้เก็บของทั้งหมดเพราะพื้นที่มันเล็ก ผมให้ความสำคัญกับครัวและห้องน้ำ ซึ่งจริง ๆ ห้องน้ำก็เป็นขนาดปกติ คือใช้พื้นที่ตามความเป็นจริง ส่วนอ่างล้างมือก็จะกว้างหน่อยเพราะมีของเยอะ แล้วเป็นคนชอบน้ำหอมมาก มันก็เป็นตามการใช้งานที่เราต้องการจะใช้จริง ๆ”
ทำไมถึงเลือกสีเขียวในการตกแต่ง
“พักหลัง ๆ มาผมจะเบื่อบ้านสีขาวมาก จากที่ทำงานให้ลูกค้า และหลัง ๆ เทรนด์เรื่องสีมันก็มา จริง ๆ และมันมีคลังสีอยู่ในหัวเยอะ ก็ลองเล่น ๆ ซึ่งสีเขียวก็สวยดี หลัง ๆ ลูกค้ามาก็มีให้ทำบ้านสี ๆ เยอะขึ้น”
มีพื้นที่สีเขียวด้านหน้าก่อนเข้าส่วนอาศัยด้วย
“การมีพื้นที่สีเขียวในตึกแถวเนี่ยยากมาก ถ้าตรงไหนที่ผมสอดแทรกพื้นที่สีเขียวได้ผมก็จะใส่อย่างเช่นการแขวนตรงบันได ตรงระเบียงก็มีเล็ก ๆ ไว้พรางสายตาจากตึกร้างฝั่งตรงข้าม”
งานระบบของบ้านทำอะไรไปบ้าง
“ส่วนใหญ่จะทำใหม่หมดเลย อย่างบ้านมันก็ 40 กว่าปีแล้ว ไฟฟ้า ประปาเราเดินใหม่หมด ปูนที่เสื่อมสภาพก็กรีดและฉาบใหม่ หรือทุบออกโดยเฉพาะด้านหลังอาคารเดิม ซาฟาดด้านหน้าใช้แก้ปัญหาหลายด้าน อย่างพื้นที่วางคอมเพรสเซอร์แอร์ และการดูแลรักษาอาคารเซอร์วิสต่าง ๆ ยิ่งต้องการมีพื้นที่สีเขียวบ้าง เป็นระเบียงเล็ก ๆ ก็เลยเป็นหน้าต่างอย่างที่เห็น โดยใช้แผ่นอะลูมิเนียมฉีกที่มีน้ำหนักเบาติดตั้งไว้ แล้วเข้าเซอร์วิสจากด้านข้าง ถ้าจากภายในบานหน้าต่างด้านหน้าจะเป็นบานยาวถึงพื้นหมด”
บ้านตัวเองต่างจากการต้องไปออกแบบบ้านคนอื่นอย่างไร
“เสน่ห์ของการทำบ้านคนถือว่ามันเป็นงานที่ยากกว่าปกตินะ มันคืออะไรที่เป็นนามธรรมจริง ๆ เพราะเราไม่ใช่ตัวเขา เราต้องไปรู้ทุกอย่างที่เป็นเขา ไปรู้บุคลิก ไปรู้ชีวิตประจำวันเขา ไปรู้งานอดิเรกเขา ไปรู้ของสะสมเขา จะต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักประมาณหนึ่ง เพื่อที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาทำให้บ้านมีชีวิตในสไตล์เขา ไม่ใช่ในสไตล์ตัวดีไซเนอร์เอง”
การเปิดบริษัทอินทีเรียร์ที่ผ่านมาของคุณ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
“ผมได้เรียนรู้การประนีประนอมเยอะ ในปี ๆ หนึ่งต้องติดต่อคนนับร้อย ฉะนั้นการมองโลก การยอมรับนั้นสำคัญ การเป็นดีไซเนอร์จะต้องเปิดกว้างและแฟร์กับทุก ๆ คน ทำอะไรก็ได้ให้รู้ว่าเราก็คือเขา ของ ๆ เขามาก็ต้องดูแลให้มันเหมือนของ ๆ เรา”
ในความคิดเห็นของคุณการเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร
“ผมว่าต้องมีความช่างสังเกตนะ ต้องเปิดกว้าง ต้องเห็นอะไรมาเยอะ ๆ แล้วรู้จักเอามาประยุกต์ และประนีประนอมด้วย อีกอย่างหนึ่งคือเคารพในหน้าที่ของตัวเอง เคารพในอาชีพ การทำการบ้าน การพัฒนาตัวเองค่อนข้างสำคัญ ถ้าเราหยุดการออกไปเปิดโลก อันนี้ก็จะอยู่ได้ไม่นาน จะกลายเป็นแค่ในนามเฉย ๆ ว่าเป็นอินทีเรียร์ แต่ถามว่าทำงานได้ไหม ก็ยากหน่อยเพราะโลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน”
เรื่อง : สมัชชา
ภาพ : สิทธิศักดิ์, ศุภวรรณ