ฤดูหนาวหลังวันขึ้นปีใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างก็ไปขอพรกันที่ศาลเจ้าตามประเพณีของชาวอาทิตย์อุทัย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ฉันกลับไปที่นี่… สถานที่ที่เคยมาเยือนเมื่อสิบปีที่แล้ว…ปราสาทนิโจ อันเคยเป็นสถานพำนักของท่านโชกุน โทะคุงะวะ อิเอะยะสึ ผู้เป็นศูนย์รวมอำนาจใหญ่ในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ในสมััยเอโดะ
ในอดีต เรื่องราวของ “ผู้ครองอำนาจ” กับ “นักลอบสังหาร” นั้นย่อมเป็นของคู่กัน ในยุคสมัยที่ยังไม่มีสัญญาณกันขโมยหรือกล้องโทรทัศน์วงจรปิด คงเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจแก่ท่านโชกุนไม่น้อย หากจะมีนินจาหรือมือสังหารย่องเบาเข้ามาเงียบ ๆ ในยามวิกาล จึงมีเรื่องเล่ากันว่าด้านในตัวปราสาทนิโจ ณ ตำหนักนิโนมารุ ซึ่งท่านโชกุนเคยใช้เป็นที่พำนัก มีความลับซ่อนอยู่ใต้พื้นกระดาน ที่ไม่ว่าใครก็ตามได้เหยียบย่างจะได้ยินเสียงร้องของนกไนติงเกล
วันหนึ่ง…ในฤดูกาลที่เงียบเหงา ฉันค่อย ๆ เดินข้ามสะพานที่ทอดผ่านคูน้ำรอบตัวปราสาท ผ่านป้อมปราการสูงสีขาวรายรอบ แล้วเดินอ้อมเข้าซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยโลหะสีทองเป็นลวดลายวิจิตร อันเป็นทางเข้าของสถานที่รโหฐานนาม “นิโนมารุ” แห่งนี้
ฉันกลั้นหายใจ ค่อย ๆ ใช้ปลายเท้าแตะพื้นกระดานอย่างแผ่วเบา พยายามไม่ทิ้งน้ำหนักตัว แต่ทันทีที่เท้าทั้งสองของฉันสัมผัสพื้นไม้กระดานตรงทางเดิน ก็ได้ยินเสียงร้องของนกไนติงเกลดังขึ้น…ตามคาดเป๊ะ!
…ระบบ SFX (Sound Effect) ของที่นี่ทำงานดีจัง…
นั่นเป็นความคิดเพี้ยน ๆ แบบเด็ก ๆ ในหัวของฉัน เมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้า
หารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วเสียงของนกไนติงเกลที่ได้ยินในตอนนั้น ไม่ใช่เสียงซาวด์เอ็ฟเฟ็กต์ผ่านลำโพงที่ฝังอยู่ใต้พื้นอย่างที่เคยมโนไว้แต่อย่างใด หากเป็นเสียงที่เกิดจริงขึ้นจริงจากกลไกการออกแบบระบบพื้นอาคาร พูดง่าย ๆ เลยคือเกิดเสียง “พื้นลั่น” แต่ดันเป็นเสียงที่ไพเราะราวกับเสียงร้องของนกไนติงเกล
พื้นนกไนติงเกล ( Nightingale Floor ) มีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อุกุยสุบาริ 鶯張り อุกุยสุ (鶯) แปลว่า นกไนติงเกล ส่วนบาริ (張り) แปลว่า “ขึงหรือยืด” อุกุยสุบาริ จึงหมายถึงเสียงของนกไนติงเกลที่เกิดขึ้นจากการยืดตัวของแผ่นไม้กระดานเมื่อรับน้ำหนักนั่นเอง
ใครเคยอ่านนิยายเรื่อง Tales of the Otori ของ Lian Hern หรือเคยดู James Bond ภาค You Only Live Twice (สมัยคุณลุง Frank Sinatra เป็นพระเอก) คงจะพอเคยคุ้นกับสิ่งนี้มาบ้าง
แต่แท้จริงแล้ว ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของพื้นไนติงเกลนั้น ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนภัยท่านโชกุนจากการลอบสังหารของนักฆ่าและนินจาตัวเบา หรือเกิดจากการเสื่อมสลายของโครงสร้างวัสดุไม้ตามกาลเวลาจนทำให้ข้อต่อของพื้นหลวมลั่น* แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงภายใต้พื้นไม้นี้ก็มีเพียงหนึ่งเดียว…คือ เมื่อเท้าของผู้มาเยือนทิ้งน้ำหนักลงบนพื้นแม้น้อยนิด ก็มากพอที่จะทำให้แผ่นไม้นั้นถ่ายแรงไปยังโลหะที่ยึดอยู่ข้างใต้ และเมื่อโลหะกับหมุดยึดเสียดสีกันก็จะเกิดเป็นเสียงร้องเหมือนนกไนติงเกลขึ้นมา (ลองดูภาพประกอบกลไกการทำงาน)
ถึงแม้เพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนของฉันจะออกเสียงเป็นความเห็นเดียวกันว่า “ไม่เห็นเหมือนนกไนติงเกลเลย” บางคนถึงกับบอกว่าเสียงเหมือน “นกอ้วนที่พยายามจะบินแต่บินไม่ขึ้น” (น่าสงสารจัง! T_T) แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างฉัน ซึ่งก็ไม่เคยคุ้นหรอกว่าเสียงร้องแท้จริงของนกไนติงเกลนั้นเป็นอย่างไร พอได้ยินเสียงพื้นไม้กระดานที่ลั่นดังจิ๊บ ๆ นี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่พิเศษมากเลยล่ะ! (^ᴗ^)
ยิ่งเมื่อผนวกกับเรื่องเล่า (story) และแนวความคิด (concept) ที่ว่าพื้นที่ส่งเสียงนกร้องได้นี้ถูกออกแบบขึ้นในอดีตให้ตอบสนองต่อทุกการเคลื่อนไหวของผู้ใช้เพื่อเตือนภัยการลอบสังหาร เพราะแม้ผู้บุกรุกจะมีวิชาตัวเบาแค่ไหน ก็ไม่สามารถข้ามผ่านพื้นไนติงเกลไปโดยไม่ให้เกิดเสียงได้ ความน่าตื่นเต้นก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเท่าทวี
ในโลกปัจจุบันที่ ใคร ๆ ต่างก็ใช้ความเป็น interactive หรือการตอบสนองต่อผู้ใช้งานมาเป็นจุดขาย และแนวคิดแบบ Interactive floor ก็มีให้เห็นได้มากมาย อย่างที่ใกล้ตัวหน่อยก็ตรงบริเวณทางเข้าห้องน้ำภายในห้าง Siam Center ที่มีขั้นบันไดเป็นเสียงดนตรี หรือบางคนอาจจะเคยนั่งรถผ่าน Melody Road ที่ฮอกไกโด หรือแม้แต่เคยเยี่ยมชมผลงานของ TeamLab สถานที่ปักหมุดสุดฮิตเมื่อมาถึงญี่ปุ่น
แต่หากมองย้อนเวลากลับไปเมื่อ 400 กว่าปีก่อน ถ้ามีพื้นไม้ที่ส่งเสียงร้องของนกไนติงเกลตอบสนองต่อการก้าวย่างของผู้ใช้แบบนี้อยู่จริงแล้วละก็ คงจะเป็นเรื่องที่เก๋มากเลยใช่ไหมล่ะ
แล้วถ้าลองคิดดูเล่น ๆ อีกนิดว่า ถ้าในสมัยเอโดะมีพื้น interactive แบบนี้อยู่ ท่านโชกุน จะรู้ได้อย่างไร ว่าเสียงร้องจากพื้นนั้น คือการมาเยือนของมิตรหรือศัตรู? แล้วช่วงกลางคืน ตอนกำลังหลับใหลท่านโชกุนจะนึกรำคาญเสียงของมันบ้างไหมนะ?
แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาด หรือแท้ที่จริงแล้วคือศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม “อุกุยสุบาริ” ในวันนี้ บ่งบอกฉันถึงความจริงข้อหนึ่งได้ว่า อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นสิ่งดีเสมอ…
นกไนติงเกล จะมาเยือนเมื่อถึงเวลาฤดูใบไม้ผลิ คราวนี้ฉันจะรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อจะได้ตั้งใจฟังเสียงของมัน และหากจังหวะเวลาเป็นใจ ฉันก็อยากจะกลับไปฟังเสียงร้องของพื้นไนติงเกลที่นิโจ อีกครั้ง…
- * ถ้าคุณได้ไปเยือนที่ปราสาทนิโจ จะเห็นว่าที่ตัวปราสาทเองก็มีการให้ข้อมูลแบบเดียวกัน ว่ายังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของพื้นที่มีเสียงนกไนติงเกล และ ผู้เขียนได้ตรวจสอบกับอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของ Kyoto University of Art and Design ก็ได้ทราบความเห็นว่ายังไม่มีข้อสรุปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีเพียงแค่นิโจ เท่านั้น ที่มีพื้นไนติงเกล วัดอื่น ๆ บางแห่งในเกียวโต เช่น Daikaku-Ji และ Chion-in ก็ปรากฎมีพื้นลักษณะนี้
- ที่ใกล้ ๆ กับตัวปราสาท ลอง google หาร้านกาแฟ+ดีไซน์สุดชิค ชื่อ Songbird Café ดู ร้านนี้เป็นของดีไซน์เนอร์ คุณมาซากิ โทคุดะ ผู้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และยังมีผลิตภัณฑ์น่ารักอีกหลายอย่าง ผู้เขียนไม่แน่ใจ ว่า ‘Songbird’ กับพื้นนกไนติงเกล ของนิโจมีความสัมพันธ์กันแต่ประการใดหรือไม่ ถ้าคุณสนใจวันหลังจะลองไปสัมภาษณ์คุณเจ้าของร้านดู แล้วก็ถ้ามาร้านนี้ อย่าลืมลองแกงกะหรี่ ที่หน้าตาเหมือนรังนก กับขนมหวานญี่ปุ่น ที่โรยหน้าด้วยเนยขูด (หน้าตาก็คล้ายรังนกไปอีก) สามารถมองเห็นวิวของปราสาทนิโจได้ด้วยนะhttp://www.songbird-design.jp/
เรื่อง / ภาพ : ID19
อ่านต่องานเขียนของ ID19 เพิ่มเติม :