แบบสำนักงาน : BITWISE HQ เมื่อฟังก์ชันก่อตัวเป็นสถาปัตยกรรม
แบบสำนักงาน

BITWISE HQ เมื่อฟังก์ชันก่อตัวเป็นสถาปัตยกรรม

การออกแบบสถาปัตยกรรมไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะรูปร่างและหน้าตาของอาคารเท่านั้น เพราะการกำหนดสัดส่วนและตำแหน่งฟังก์ชันการใช้งานก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเช่นกัน แต่แค่ฟังก์ชันอาจไม่ช่วยให้อาคารเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำได้ ดังนั้นโครงสร้างและวัสดุจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อพาฟังก์ชันที่กำลังจะก่อตัวเป็นสถาปัตยกรรมนั้น ไปถึงจุดหมายของการออกแบบได้อย่างสมบูรณ์

BITWISE HQ คือ สถาปัตยกรรมที่ใช้ฟังก์ชันเป็นตัวกำหนดทิศทางการออก แบบสำนักงาน ได้อย่างเฉียบคม ไม่แพ้เส้นสายที่สะท้อนอยู่ในสเปซทั้งภายในและภายนอก ผ่านการออกแบบโดยคุณพุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์ จากบริษัท ASWA ด้วยการนำสินค้าของบริษัทอย่าง เครื่องปรับอากาศ มาตีความเพื่อสื่อถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านตัวอาคารรูปทรงสุดโฉบเฉี่ยว

จากนั้นจึงตามมาด้วยการออกแบบ โดยคำนึงถึงเรื่องมุมมองและกฎหมายอาคารมาประกอบ เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ใกล้บริเวณสี่แยกจึงจำเป็นต้องกำหนดทางเข้า-ออก ความสูงของอาคาร รวมไปถึงพื้นที่จอดรถให้เพียงพอ

เมื่อเรื่องมุมมองลงตัวแล้ว ลำดับต่อมาคือการออกแบบขนา ดและตำแหน่งฟังก์ชันลงไปบนแปลนที่มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) โดยผู้บริหารโครงการได้บอกความต้องการไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรกว่าต้องการให้แต่ละฟังก์ชันอยู่ตำแหน่งไหน

แบบสำนักงาน

ดังนั้นจึงช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ต้องการอยากให้อาคาร BITWISE HQ เป็นสำนักงานใหญ่ที่ประกอบด้วยพื้นที่ออฟฟิศ ห้องประชุม ห้องสัมมนา และโชว์รูม โดยยังสามารถเชื่อมอาคารแห่งนี้กับอาคารหลังเก่าได้ โดยจัดวางลำดับฟังก์ชันการใช้งานตามผู้ใช้อาคาร ด้วยการกำหนดให้สำนักงานอยู่บนชั้น 3 และ 4 สำหรับพนักงานและผู้บริหารโดยเฉพาะ ส่วนชั้น 1 และ 2 เป็นส่วนติดต่อสอบถาม โชว์รูมและห้องประชุม เพื่อช่วยกรองผู้เข้ามาติดต่อ และความปลอดภัยในการเข้าถึงพื้นที่

แบบสำนักงาน แบบสำนักงาน

ถึงแม้ตัวโครงการจะมีฟังก์ชันเป็นตัวกำหนดทิศทางการออกแบบ แต่ระหว่างการทำงานจำเป็นจะต้องมีเรื่องโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเป็นบริษัทที่ดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ เพื่อสื่อถึงภาพลักษณ์จึงจำเป็นต้องให้โครงสร้างสื่อถึงระบบวิศวกรรมและนวัตกรรม กระทั่งมาลงตัวกับการนำโครงทรัสมาต่อเข้ากับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กตรงบริเวณส่วนยื่นด้านหน้าของอาคาร (Cantilever Structure) ที่มีความยาวถึง 13 เมตร เหนือลานจอดรถ ทำให้แทบไม่ต้องมีเสามารองรับใด ๆ ฉะนั้นหากมองขึ้นไปก็จะเห็นโครงทรัสขนาดใหญ่ยื่นออกแบบทำมุมเฉียง พร้อมกันนั้นยังได้กรุกระจกขนาดใหญ่ เพื่อให้มองเห็นความสวยงามของโครงสร้างไปด้วยในตัว

แบบสำนักงานแบบสำนักงาน แบบสำนักงาน แบบสำนักงาน

สำหรับอาคาร BITWISE HQ อาจกล่าวได้ว่ามีฟังก์ชันเป็นตัวกำหนดลักษณะอาคาร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกำหนดช่องเปิดทรงสามเหลี่ยมที่ล้อมาจากตัวโครงทรัสและเส้นสายแนวเฉียงล้อมรอบตัวอาคารได้อย่างลงตัว เกิดมุมมองแปลกใหม่ให้แก่ผู้ใช้อาคาร

และอีกจุดที่อดกล่าวถึงไม่ได้นั่นคือ ฟาซาด ที่ผู้ออกแบบตั้งใจกรุด้วยอะลูมิเนียมคอมโพสิตสีขาวแชมเปญ ซึ่งมีคุณสมบัติการเหลือบสีของอะลูมิเนียม เพื่อช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์ความเหลือบเงา และเฉดสีที่จะเปลี่ยนไปตามองศาการเคลื่อนผ่านของดวงอาทิตย์ เกิดเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของอาคาร นอกจากนี้ยังได้เสริมช่องเปิดที่กรุตะแกรงอะลูมิเนียมในบางจังหวะ เพื่อช่วยพรางสายตา และเพิ่มลูกเล่นให้อาคารไปพร้อมกัน

แบบสำนักงาน

ถ้านำเรื่องของความเรียบง่ายของเส้นสายและวัสดุที่ได้มาตัดสิน BITWISE HQ ก็เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์นอย่างเต็มเสียง แต่ความลึกซึ้งในการออกแบบโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะกับประเภทโครงการที่เป็นสำนักงานและมีผู้ใช้พื้นที่จำนวนไม่น้อย ทำให้การออกแบบฟังก์ชันมีความสำคัญเทียบเท่ากัน

โดย BITWISE HQ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สถาปัตยกรรมที่ได้รับการคิดขึ้นมาจากฟังก์ชันนั้น ไม่ได้ทำให้ตัวตน และเอกลักษณ์มีความชัดเจนน้อยลงไปเลยแม้แต่นิดเดียว

 

ภาพและเนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Case นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562)  Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้

https://www.facebook.com/roomfan/videos/414498345988369/


เรื่อง  Ektida N.
ภาพ  ศุภกร , นันทิยา
ออกแบบ  คุณพุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์
บริษัท ASWAโทร.08-5900-0747
E-Mail:[email protected]
www.aswarchitect.com
อ่านต่อ :

ดาดฟ้า ลาซาล
DADFA มาร์เก็ตปาร์คที่ใช้พื้นที่สีเขียวเชื่อมท้องฟ้า แผ่นดิน และผู้คนเข้าหากัน