แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ เปลี่ยนตู้ 15 ใบ เป็นบ้าน 1 หลังใหญ่ กับอีก 1 หลังน้อย
บ้านคอนเทนเนอร์

CONTAINER HOUSE เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ 15 ใบ เป็นบ้านหนึ่งหลังใหญ่กับอีกหนึ่งหลังน้อย

จากความคิดแรกเริ่มที่จะสร้างบ้านชั่วคราวด้วยตู้คอนเทนเนอร์เก่าเก็บ 3 ใบ ผสมกับมิตรภาพระหว่างเจ้าของบ้านและสถาปนิก กลายเป็นบ้านสองหลังที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์รวมไปทั้งหมด 15 ใบบนที่ดินกว่าสองงาน ในจังหวัดขอนแก่นหลังนี้

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Wish Architect Design Studio

“ผมกับคุณพงษ์พันธ์เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียน ความต้องการแรกเริ่มเหมือนกับหลายๆคนที่เมื่อครอบครัวขยาย จึงต้องการบ้านเป็นสัดส่วนมากขึ้น ต่างก็ตรงที่คุณพงษ์พันธ์อยากใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 3 ใบที่มีอยู่แล้วในโรงงานน้ำแข็งให้เป็นบ้านชั่วคราว ระหว่างรอสร้างบ้านใหม่”

คุณชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล สถาปนิกแห่ง Wish Architect Design Studio กล่าวถึงเพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้านคือ คุณพงษ์พันธ์ ชอบขาย และโจทย์การออก แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์อย่างอารมณ์ดี

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

จากวันแรกที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ เขาค่อย ๆ ศึกษาจนรู้ถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งเรื่องของความกว้าง ยาว สูง ที่ต้องสอดคล้องกับฟังก์ชัน การยึดกันของแผ่นเหล็กลูกฟูก และโครงสร้างเหล็กตัวซีที่มักทำให้เกิดเสียงดังจากการสั่นสะเทือน จึงต้องแยกโครงเหล็กตัวซีและแผ่นเหล็กลูกฟูกออกจากกัน หรือแม้แต่รูปลักษณ์ที่แต่ละตู้จะต่างลายและมีความห่างของลูกฟูกที่ไม่เท่ากัน ทำให้ต้องเลือกการจัดวางระยะผนัง ทั้งหมดเป็นบทเรียนความรู้จากการสร้างบ้านหลังใหญ่ที่ถูกสร้างก่อนเป็นหลังแรก

“บ้านถูกแบ่งออกเป็นสองหลัง หลังใหญ่กับหลังมินิคอนเทนเนอร์ ผมคิดว่าถ้าจะทำก็อยากจะใช้คอนเทนเนอร์ทั้งสองหลังสร้างถาวรไปเลย จึงเริ่มขึ้นโมเดลบ้านหลังใหญ่เพื่อศึกษารายละเอียดของตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อขายไอเดียผ่านกับคุณพงษ์พันธ์ปรากฎว่าต้องซื้อตู้คอนเทอเนอร์เก่าเพิ่มอีก 12 ใบ”

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

ด้วยข้อจำกัดของขนาดตู้คอนเทอเนอร์ ที่ไม่สอดคล้องกับฟังก์ชันการใช้พื้นที่ของสมาชิก 5 คน (คุณพงษ์พันธ์ ภรรยา คุณพ่อ คุณแม่ และคุณยาย) ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ทำให้พื้นที่ใช้สอยต้องใหญ่พอสมควร คุณวิทย์จึงตัดสินใจเลือกเป็นโครงสร้างเหล็ก หลังคาเป็นเมทัลชีท และโครงสร้างคอนกรีตสำหรับห้องน้ำ เหล็กตัวซีของตัวตู้คอนเทนเนอร์และแผ่นเหล็กลูกฟูก ถูกถอดจากกันเพื่อมาทำเป็นผนังร่วมกับกระจก ทำให้เกิดการเชื่อมต่อของพื้นที่ทั้งภายนอกและภายใน

ภายในตัวบ้านคุณวิทย์เน้นสีขาว บรรยากาศสว่าง สบายตา จากการเปิดรับลมรับแสงจากภายนอก สามารถมองเห็นต้นไม้รอบบ้าน ใช้วัสดุหลักเป็นไม้ คอนกรีตขัดมัน หิน และกระเบื้อง ช่วยเพิ่มความบรรยากาศอบอุ่นให้บ้านขนาด 400 ตารางเมตรหลังนี้ได้เป็นอย่างดี

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์
บ้านหลังใหญ่ใช้เวลาก่อสร้างร่วม 18 เดือน ถือเป็นการเรียนรู้จากงานจริงที่ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการคุมฝีมือช่าง ซึ่งต้องการความเข้าใจรายละเอียดการจบงานขอบวัสดุที่ต่างกัน แต่นั่นคือความรู้ต่อยอด ช่วยร่นเวลาในการก่อสร้างบ้านมินิคอนเทนเนอร์ขนาด 100 ตารางเมตร ให้เหลือเพียง 9 เดือน

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

คุณวิทย์ข้ามมาเล่าถึงบ้านมินิคอนเทนเนอร์ที่เป็นบ้านของครอบครัวพี่สาวคือ คุณรัชดาภรณ์ ชัยเสนา ที่มีสมาชิก 4 คน (คุณรัชดาภรณ์ สามี และลูกอีก 2 คน)

“ฟังก์ชันของบ้านมินิคอนเทนเนอร์ง่ายขึ้นและไม่ซับซ้อนเท่าหลังแรก ผมใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพียง 3 ตู้ โดยตัวตู้ก็บังคับฟังก์ชันอยู่แล้ว จึงจะเห็นวัสดุหลักของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายนอกและภายในของบ้านหลังนี้”

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

คุณวิทย์ยังคงใช้โครงสร้างเหล็ก หลังคาเมทัลชีท และคอนกรีต แต่สิ่งที่แตกต่างของมินิคอนเทนเนอร์และบ้านหลังใหญ่ คือการสามารถเก็บรายละเอียดของตัวตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ได้อย่างลงตัว แม้จะมีข้อจำกัดของความสูงของตู้ที่ 2.40 เมตร คุณวิทย์แก้ปัญหาโดยการเพิ่มช่องแสงอีก 60 เซนติเมตร เพื่อให้ได้ความสูงทำให้บ้านโปร่งขึ้น บางส่วนมีการก่อคอนกรีตเป็นลูกฟูกเพื่อให้เข้ากับเหล็กลูกฟูกของตู้คอนเทนเนอร์ ภายในบ้านวัสดุยังคงเป็นไม้ พื้นคอนกรีตขัดมัน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือโทนสีที่เป็นสีเทาต่างจากบ้านหลังใหญ่ที่จะเน้นสีขาว  รวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินทั้งหมดใช้เป็นโครงเหล็กและไม้ ยึดเกาะกับผนังบ้าน ทำให้พื้นที่ที่เล็กกะทัดรัดใช้พื้นที่ทั้งหมดอย่างคุ้มค่า

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

แดดร่มยามเย็นทีไร มักจะมีเพื่อนๆ ของทั้งคุณพงษ์พันธ์และคุณอัจฉราแวะมาเยี่ยมสังสรรค์นั่งพูดคุย รวมไปถึงเพื่อนรุ่นใหญ่ทางฝั่งคุณพ่อคุณแม่คุณพงษ์พันธ์ ที่จะมาใช้พื้นที่สวนตรงกลางระหว่างบ้านทั้งสองหลังและระเบียงรอบ ๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่คุณชาญวิทย์ดีใจที่มีส่วนทำให้สังคมครอบครัวของเพื่อน สังคมพ่อแม่ของเพื่อน ได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นชีวิตเรียบง่ายในต่างจังหวัด

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

และเมื่อถูกถามถึงความคิดความอ่านได้เปลี่ยนไปไหม อย่างไร เมื่อเห็นบ้านทั้งสองหลังเสร็จสมบูรณ์ “ผมว่าเราควรตั้งใจและใช้เวลาศึกษากับสิ่งที่เราไม่รู้ให้มาก” คุณวิทย์ทิ้งท้าย

แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์ แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์แบบบ้านตู้คอนเทนเนอร์

เจ้าของบ้านหลังใหญ่ : คุณพงษ์พันธ์ ชอบขาย
เจ้าของบ้านมินิคอนเทนเนอร์ : คุณรัชดาภรณ์ ชัยเสนา
ออกแบบ : คุณชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล จาก Wish Architect Design Studio 


เรื่อง : เจนศิลป์ พัฒนยินดี
ภาพ : เชาว์ฤทธิ์ พูนผล
อ่านต่อ :


CONTAIN CREATIVE LIVING บ้านบรรจุความสนุก