TA .THA .TA สตูดิโอกระเป๋าแบรนด์ไทย ผืนผ้าใบสถาปัตยกรรมที่แต่งแต้มตัวตน
แบบสำนักงาน

TA .THA .TA ผืนผ้าใบสถาปัตยกรรมที่แต่งแต้มตัวตน

หากใครชื่นชอบกระเป๋าแบรนด์ไทยฝีมือดีแล้วละก็ น้อยคนนักจะไม่รู้จัก TA.THA.TA กระเป๋าสีสันสดใสที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องดีไซน์ แต่ฟังก์ชันยังจัดเต็มเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานสุด ๆ เมื่อดีไซน์ของกระเป๋ามีความยูนีคไม่เหมือนใครขนาดนี้!  จึงทำให้เราอดใจไม่ไหวขอตามไปดูเบื้องหลังของแรงบันดาลใจ รวมถึงสถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องขณะนี้ ว่ามีสเปซเป็นแบบไหน ทำไมจึงกระตุ้นให้เกิดจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไม่จำกัด

TA.THA.TA ก่อตั้งโดยคุณเต้วิภาวัส ดาราพงศ์สถาพร และคุณกีวี่กวิตา ศรีสันต์ เดิมทีใช้พื้นที่บ้านเดิมเป็นที่สตูดิโอ จนเมื่อถึงเวลาเหมาะสมจึงเลือกที่จะเปลี่ยนพื้นที่โรงจอดรถเก่าให้เป็นออฟฟิศขนาดกะทัดรัด โดยวางใจให้คุณพุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์ สถาปนิกจากบริษัท ASWA เป็นผู้ออกแบบ

แบบสำนักงาน

เบื้องต้นผู้ออกแบบเริ่มพิจารณาจากขนาดที่ดินแล้วเห็นว่าที่ดินมีลักษณะหน้าแคบและลึก ด้วยข้อจำกัดนี้จึงเป็นที่มาของการออกแบบให้อาคารมีลักษณะรูปทรงผอมสูง 4 x 9 เมตร ขนาด 4 ชั้น โดยมีพื้นที่รวมกัน 300 ตารางเมตร ตั้งแต่เริ่มออกแบบคุณเต้ได้กำหนดฟังก์ชันไว้อย่างชัดเจน ด้วยการกำหนดให้ชั้น1เป็นพื้นที่เก็บสต็อกสินค้า ชั้น2 เป็นพื้นที่สำหรับประกอบและผลิตกระเป๋า และชั้น 3 เป็นสตูดิโอออกแบบ แถมยังมีชั้นลอยสำหรับพักผ่อนและสังสรรค์เตรียมไว้แทนการมีห้องพักอย่างบ้านทั่วไป

แบบสำนักงาน แบบห้องนั่งเล่น แบบสำนักงาน

แม้ขนาดและรูปลักษณ์ของอาคารจะได้รับการออกแบบตามปัจจัยและข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ผู้ออกแบบก็ตั้งใจหาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคุณเต้ คุณกีวี่ และแบรนด์ TA.THA.TAใส่ลงไปให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ด้วยการตีความให้อาคารเป็นเสมือนผืนผ้าใบ โดยมีอาร์ติสอย่างคุณเต้ และคุณกีวี่ค่อยๆ แต่งแต้มสีสัน ตัวสถาปัตยกรรมที่เปรียบเป็นผืนผ้าใบนี้จึงเป็นสีขาวทั้งหลังไม่ว่าจะด้านในหรือด้านนอก สาดความสดใสด้วยของตกแต่งและของสะสมที่ทั้งคู่ชื่นชอบลงไปตามมุมต่าง ๆ

แบบสำนักงาน

นอกจากนี้ไม่ว่าจะมุมนั่งทำงาน จักรเย็บผ้า หรือวัสดุในการผลิตกระเป๋าที่จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบก็ยังเป็นของตกแต่งบ้าน และช่วยบ่งบอกความพิถีพิถันของแบรนด์ไปในตัว เพิ่มกิมมิกให้อาคารด้วยการออกแบบฟาซาดหรือเปลือกอาคารที่ทำจากเหล็กฉีกสีขาว ทำหน้าที่ช่วยพรางสายตาและบังแสงแดด หากมองลึกถึงรายละเอียดของลวดลายเหล็กฉีกแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งรายละเอียดนี้เองที่ผู้ออกแบบได้ลดทอนมาจากเส้นสายและลวดลายบนกระเป๋า จึงเห็นได้ว่าแม้ตัวอาคารจะดูเป็นสไตล์โมเดิร์นสีขาวเรียบง่าย แต่ก็แอบมีรายละเอียดของงานออกแบบที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สอดแทรกอยู่ได้อย่างน่าสนใจ

แบบสำนักงาน แบบสำนักงานแบบสำนักงานแบบสำนักงานแบบสำนักงาน แบบห้องน้ำ

ส่วนรูปแบบของหลังคาทางคุณเต้อยากเพิ่มความพิเศษให้อาคาร เมื่อปรึกษากันแล้วผู้ออกแบบให้ความเห็นว่าการทำหลังคาทรงจั่วนั้นสามารถเพิ่มลักษณะพิเศษให้อาคารได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มพื้นที่และเอื้อประโยชน์ต่อการระบายความร้อนภายในอาคาร เพราะความร้อนจะลอยตัวขึ้นที่สูง แล้วระบายออกผ่านช่องเปิดด้านบนที่ทำไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แถมลมยังพัดเข้ามาได้อย่างทั่วถึง อากาศภายในอาคารจึงเย็นสบายตลอดวัน

แบบสำนักงาน

ตัวอาคารก่อสร้างอย่างเรียบง่าย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนแล้วทาสีขาวสบายตา พื้นทำจากอีพ็อกซีเพื่อให้ทำความสะอาดง่าย นอกจากนี้ในเรื่องโครงสร้างก็ได้คุณพ่อของคุณเต้ซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้างมาช่วยให้คำแนะนำ อย่างห้องน้ำที่อยู่บริเวณชานพักบันไดระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยื่นออกจากตัวอาคาร โดยคุณพ่อได้ช่วยคำนวนโครงสร้างให้ เพื่อไม่ไปเบียดกับฟังก์ชันอื่น ๆ ในอาคารที่ค่อนข้างมีขนาดจำกัด หรือจะเป็นเรื่องของการวางตำแหน่งแพนทรี่บนชั้น 3 ที่ต้องใช้งานได้สะดวก และไม่บังช่องลม

แม้ว่ารูปทรงของอาคารจะออกแบบตามฟังก์ชันที่ควรจะเป็น แต่เหนืออื่นใดสเปซภายใต้สถาปัตยกรรมสีขาวสะดุดตานี้ ก็ยังทำหน้าที่สื่อสารตัวตนของเจ้าของและแบรนด์ TA.THA.TA ให้ออกมาอย่างชัดเจน เสมือนสีสันที่ถูกแต่งแต้มลงบนผืนผ้าใบ กลายเป็นผลงานที่สวยงามและลงตัว

ออกแบบ: 
คุณพุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์
บริษัท ASWA

โทร.08-5900-0747
E-Mail:[email protected]
www.aswarchitect.com

เนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Case นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562)  Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้

https://www.facebook.com/roomfan/videos/414498345988369/


เรื่อง          Ektida N.
ภาพ          นันทิยา
สไตล์         วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
อ่านต่อบทความแนะนำ

แบบสำนักงาน
BITWISE HQ เมื่อฟังก์ชันก่อตัวเป็นสถาปัตยกรรม