CREATIVE CREWS OFFICE รีโนเวทตึกแถวเก่า เป็นออฟฟิศย่านตลาดน้อย
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว

CREATIVE CREWS OFFICE ผลลัพธ์เชิงทดลองจากประสบการณ์บนตึกแถวเก่าย่านตลาดน้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดการพัฒนาโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ลุกล้ำเข้าถึงบางพื้นที่ โดยเฉพาะย่านชุมชนเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กระจายตัวอยู่ตามเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิทัศน์แวดล้อมโดยปริยาย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีการตั้งกฏเกณฑ์ที่เราเรียกกันว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ. 2542 ว่าด้วยการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภทขึ้นมา เพื่อควบคุมสภาพผังเมืองและลักษณะอาคารโดยรวมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในทิศทางเดียวกัน

“ตลาดน้อย” นับเป็นแขวงหนึ่งร่วมกับอีกหลาย ๆ แขวงที่มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคารดังกล่าวคุ้มครอง หากยังคงอนุญาตให้มีการซ่อมแซมอาคารเพื่อคงสภาพเดิม หรือสามารถดัดแปลงภายในตัวอาคารโดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกของตัวอาคารเดิมได้ ด้วยปัจจัยเหล่านี้เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญให้ คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ และคุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ สองหัวเรือใหญ่แห่ง Creative Crews ตัดสินใจซื้อตึกแถวเก่าความสูง 6 ชั้น (+1 ชั้นลอย) จำนวน 2 คูหาติดกันในย่านตลาดน้อย เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นฐานทัพหลังใหม่ของพวกเขาอย่างถาวร แทนที่บ้านหลังแรกที่เช่าอยู่ในย่านเอกมัย ที่จะว่าไปแล้วค่าเช่าย่านนั้นเข้าขั้นแพงหูฉี่

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว

ตึกแถวคูหาลึกสุดในตรอกเล็ก ๆ ที่มีตึกแถวจำนวน 2-3 ตึกเรียงกันอยู่ เราเดินถัดเข้ามาจากศาลเจ้าในพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ห่างนักจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง ภายในชุมชนโชฎึกที่เงียบสงบจนเราเองก็แอบหวั่นว่านี่เรามาผิดที่หรือไม่ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่ดูไม่น่าจะมีออฟฟิศสถาปนิกตั้งอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งภาพที่เราคิดไว้ในหัว คือบริเวณชั้นล่างของออฟฟิศต้องมีพนักงานนั่งทำงานอยู่แน่ ๆ แต่หารู้ไม่ นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง

“ไม่ใช่แค่เฟี้ยต (ผู้เขียน) หรอก คนอื่น ๆ ที่เขาเดินเข้ามาโดยเฉพาะลูกค้าที่เข้ามาประชุม หรือน้องนักศึกษาที่ต้องมาเรียนกับเราก็ถามว่านี่ว่าตึกเก่าของพ่อหรอ (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ มันคือความตั้งใจ แล้วก็พยายามมากกว่าจะหาที่ตรงนี้มาได้” คุณปุยฝ้าย บอกกับเราในช่วงเริ่มต้นของบทสนทนาภายในห้องประชุมบนชั้น 2

“ตอนที่แบงค์ (คุณเอกฉันท์) เกริ่นตอนแรก ก็คือตอนที่แบงค์ไปเรียนแล้วกลับมา เราวางแผนกัน กาง Map พื้นที่ของกรุงเทพฯ ตาม criteria (บรรทัดฐาน) ที่เราวางแผนกันมา คือต้องอยู่ในระยะที่เดินได้จากรถไฟฟ้า หรือ Mass transit (ระบบขนส่งสาธารณะ) และอยู่ในส่วนของย่านนี้ซึ่งเราคิดว่ามีความน่าสนใจ มีความผสมผสานระหว่างส่วนเก่ากับส่วนใหม่ แล้วก็ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อให้เนื้อเมืองมันยังคงมีความน่าสนใจไปอีกได้ในระยะเวลาหนึ่ง”

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
คุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ และคุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์

บ้านหลังใหม่ของ Creative Crews หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CC Office มีพื้นที่ใช้สอยรวม 650 ตารางเมตร โดยฟังก์ชันในแต่ละชั้นแบ่งออกเป็นพื้นที่ปล่อยเช่าบนชั้น 1 และชั้นลอย (Mezzanine), ส่วนของห้องประชุม มุมปาร์ตี้บาร์บีคิว และพื้นที่ปลูกต้นไม้บนชั้น 2, ส่วนของสำนักงานบนชั้น 3-5 ที่รองรับพนักงานกว่า 30 ชีวิตได้อย่างไม่อึดอัด และชั้น 6 ชั้นบนสุดของตึกปรับปรุงเป็นส่วนห้องพักสำหรับพนักงานประจำ และดาดฟ้า

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
ชั้น 2 ของอาคารออกแบบในลักษณะคอร์ตยาร์ดที่มีเพดานสูงโปร่งแบบดับเบิ้ลวอลลุ่ม พร้อมปลูกต้นลำดวน ให้กลายเป็นมุมสังสรรค์บาร์บีคิวในพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
ห้องประชุมบนชั้น 2 มาพร้อมฟังก์ชันแบ่งเป็นสองห้องย่อยหรือควบรวมเป็นหนึ่งห้องใหญ่
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
สำนักงานชั้น 3 กับมุมมองที่สามารถเห็นยอดของต้นลำดวนบนชั้น 2 ได้
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
สำนักงานชั้น 4
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
แพนทรีและมุมรับประทานอาหารสำหรับพนักงานบนชั้น 4
CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว
มุมรับประทานอาหารสำหรับพนักงาน และระเบียงบนชั้น 4

ในการปรับปรุงตึกแถวครั้งนี้ คุณปุยฝ้าย และคุณเอกฉันท์ เลือกเก็บเอกลักษณ์ของความเป็นตึกแถวเอาไว้อย่างครบถ้วน เหล็กดัดเดิมที่เก่าจนสนิมเกาะถูกปล่อยไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ, หน้าต่างบานเกล็ด อยากเปิดหรือปิดก็แค่หมุนปรับองศา ช่วยประหยัดเนื้อที่ไปได้อีกโขเมื่อเทียบกับหน้าต่างเฟี้ยมหรือบานกระทุ้ง รวมถึงเลือกใช้ประตูเหล็กยืด ที่ฟังก์ชันยืด-หดได้ของประตูเหล็กอเนกประสงค์ ทำหน้าที่ป้องกันขโมย มอบความเป็นส่วนตัวได้ดี แถมตัวมันเองก็ไม่ได้ปิดทึบจนสร้างความอึดอัดให้กับพื้นที่ในองค์รวม

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว

ในขณะเดียวกันรายละเอียดของสีทาผนังเดิมที่ทาไว้อย่างไรก็คงมันไว้อย่างนั้น หรือจะเป็นร่องรอยของการทุบพื้นและผนังบางส่วนก็ปล่อยให้เห็นผิวหยาบกร้านดิบ ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตึกที่เปลี่ยนผ่านกาลเวลาและหน้าที่ที่ต่างออกไปจากเดิม ตลอดจนการต่อเติม ตกแต่ง หรือแบ่งพื้นที่บางส่วนด้วยวัสดุง่าย ๆ บ้าน ๆ อย่างไม้อัด การกรุผิวเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินด้วยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่เข้ากันดีกับบรรยากาศตึกแถว การเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ทนทานและใช้งานได้จริงอย่างโต๊ะสเตนเลส จับคู่กับเก้าอี้สตูลร้านก๋วยเตี๋ยว อาจรวมไปถึงการทุบบันไดคอนกรีตอันเป็นทางสัญจรหลักแล้วแทนที่ด้วยบันไดเหล็กทั้งหมด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์เชิงทดลองจากประสบการณ์ที่ Creative Crews สั่งสมมาตลอดการทำงานในหลายปีที่ผ่านมา

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว

“การออกแบบออฟฟิศของเราเอง ความมั่นใจในการออกมาตามหาอาคารเก่า แล้วออกแบบหรือปรับปรุงอาคารให้มันเป็นไปตามที่เรานึกคิด ก็เป็นความมั่นใจที่เราได้มาจากการทำโครงการในหลาย ๆ ประเภท ที่เราทำหรือมีประสบการณ์ตั้งแต่เราเริ่มทำงานมา เราเช่าพื้นที่ทำงานเปิดออฟฟิศร่วม 10 ปี ถ้าซื้อป่านนี้เราได้ตึกนั้นไปแล้ว แต่ว่าตอนนั้นความมั่นใจหรือความกล้าหาญที่จะทำอะไรแบบนี้มันยังไม่มี” คุณปุยฝ้าย อธิบาย

“เรามองว่าเป็นการทดลองมากกว่า เพราะโปรเจ็กต์แบบนี้ไม่น่าจะมีลูกค้าให้ทำเท่าไหร่” คุณเอกฉันท์ ให้เหตุผล “เราก็เลยลองดู มันเป็นเลเยอร์ที่อยู่ระหว่างเก่า-ใหม่ แนวคิดของเราคือเมืองมันไม่ควรจะทุบแล้วสร้างใหม่ตลอด แต่มันควรจะมีการต่อยอดพื้นที่เดิม เราเลือกพื้นที่ตรงนี้เพื่อทำให้คนเห็นว่าเราทำอะไรกับอาคารเก่าได้บ้าง หรือพัฒนามันอย่างไรได้ เช่น นำต้นไม้มาปลูกกับอาคารเก่าได้”

CREATIVE CREWS OFFICE แบบสำนักงาน รีโนเวตตึกแถว

Creative Crews Ltd
177, 39-40 ซอยโชฎึก (เจริญกรุง 31) ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100
โทร.09-7238-3714
อีเมล [email protected]
http://creative-crews.com


เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา
อ่านต่อบทความแนะนำ


AHSA FARMSTAY ฟาร์มสเตย์ไม้เก่า คลุกเคล้าวัฒนธรรมล้านนา

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
BOT LEARNING CENTER ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย