สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ในทุกส่วนของโรงแรม คือความกำกวม หนึ่งคือความกำกวมของการเข้าถึงห้องพักที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นเส้นตรงอย่างโรงแรมทั่วไป (เช่น จากที่จอดรถ เข้าสู่ล็อบบี้ในอาคาร ขึ้นลิฟต์ตรงไปยังห้องพัก) ในที่นี้แขกต้องเดินเข้าสู่ใจกลางอาคาร (หรือในแง่หนึ่งคือใจกลางเขาวงกต) ก่อนจะกระจายผู้เข้าพักผ่านสวนวงกตต่างๆ ออกไปยังห้องของตัวเอง
ในหลายส่วน ยังถูกออกแบบให้กำกวมระหว่างพื้นที่ข้างนอกกับข้างใน โดยเฉพาะในส่วนใจกลางเขาวงกตที่อาคารล็อบบี้ตั้งอยู่ ในที่นี้ ห้องล็อบบี้จะไม่ได้อยู่ในอาคารปิดทึบ แต่อยู่ในโถงโปร่งและมีพื้นที่รอบๆ เป็นลานเว้นระยะไปสู่ประตู 48 บาน ของห้องพัก 48 ห้องที่ล้อมกรอบอาคารล็อบบี้เอาไว้
เมื่อไขกุญแจผ่านประตูทั้ง 48 บานนี่เอง ที่ผู้เข้าพักจะได้เข้าสู่ “เขาวงกต” ที่แท้ อันเป็นช่องทางเดินผ่านพุ่มไม้สูง หักเลี้ยวแตกต่างกันไป 48 แบบ ในขณะที่อยู่ในพื้นที่นี้ ผู้เข้าพักจะยังอยู่ “ข้างนอก” อาคาร แต่ในขณะเดียวกันก็หมายถึงการได้อยู่ “ข้างใน” ห้องพักของตัวเองเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เปิดประตู ก่อนจะเดินถึงอีกประตูซึ่งจะเข้าสู่ภายในห้องจริงๆ เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น Type ของห้องพัก 48 ห้องที่จะไม่มีห้องใดซ้ำกันเลย
“เพราะเราไม่อยากให้เขาวงกตเป็นแค่ของตกแต่ง” คุณฉัตรพงษ์กล่าว “จะใช้แนวคิดอะไร สำหรับเรามันต้องโดนใช้จริงๆ มันต้องสร้างผลกระทบในสเปซ ไม่ใช่เป็นแค่มุกหรือกิมมิค ถ้าเขาวงกตจะเป็นคอนเซ็ปต์ของเรา ผมต้องสามารถ “ผสมพันธุ์” ห้อง กับเขาวงกต ให้ออกมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้”
หรือกล่าวอีกแบบ เขาวงกตสำหรับสถาปนิกนั้น จะไม่ใช่เขาวงกตที่วางอยู่มุมใดมุมหนึ่งของโรงแรมเพื่อให้คนเข้าไปเพียงเดินเล่นหรือถ่ายรูป โดยแนวคิดการ “การผสมพันธุ์” กันนี้ สถาปนิกกล่าวว่านับเป็นรากฐานของแนวทางในการทำงานทั้งหมดของเขา อันยังนำมาซึ่งความกำกวมอีกอย่าง คือหน้าตาอาคารที่จะว่าดูเป็น “ตะวันตก” เลยเสียทีเดียว ก็ดูจะไม่เชิง
“ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เขาใหญ่เป็นยังไง” สถาปนิกว่า “อย่างแรกคือ เขาใหญ่เป็นอุทยาน เป็นป่า ธรรมชาติ เราจะไม่ลืมอันนี้ ส่วนในเชิงสถาปัตยกรรมท้องถิ่น จริงๆ มันน้อยมาก เพราะในป่าเมื่อก่อนมันไม่มีชุมชนอะไร เมื่อก่อนเป็นชุมโจร มีคนลักลอบตัดไม้ต่างๆ แต่ล่าสุด ถ้าพูดถึง สถาปัตยกรรมเขาใหญ่ ก็จะมีจากยุโรป จากอเมริกา เวลาเรามองของพวกนี้ เรามักจะคิดว่ามันผิดที่ผิดทาง แต่มันก็เป็นสภาพแวดล้อมจริงๆ ที่เกิดขึ้น”
ยกตัวอย่าง อาคารส่วนห้องพักหลักที่มีหน้าตาคล้ายปราสาท ได้ที่มาจากการหยิบรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมตะวันตกที่พบเห็นได้จนเกลื่อนในเขาใหญ่ มาวางเรียง เคียงไปกับรูปลักษณ์เรือนไทย ที่มักถูกยกให้เป็นรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น รูปด้านหน้าจากวิธีคิดนี้ ผสานไปกับโครงสร้างของตัวอาคารอย่างแนบเนียน
ซึ่งหากมองเผินๆ ก็จะดูไม่ออกว่า
“มันคือตึกแถว 2 คูหา หันหน้าเข้าหากันนั่นเอง” สถาปนิกว่า “ขนาดของอาคารมันมาจากขนาดห้องตึกแถว คูหาละ 5 เมตรครึ่ง คูณ 12 เมตร ทั่วไปเลย ซึ่งมันคือเรื่องราวของท้องถิ่นไทยอีกแบบหนึ่ง ซื่อบื้อๆ แต่ว่าใช้ง่าย ซึ่งผมชอบเรื่องราวเหล่านี้
“ผมพยายามจะตีความว่า คำว่า “ท้องถิ่น” ต่างออกไป คือเราต้องดึงตัวเองออกมาจากความ Nostalgic หรือรำลึกถึงแต่อดีต “ท้องถิ่น” ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านเรือนไทย “ท้องถิ่น” มันเป็นคำเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ มันคือสถานที่ คือตำแหน่ง แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับสไตล์”
อาคารที่ว่าดูตะวันตก ที่แท้จึงประกอบจากเรื่องราวของท้องถิ่นหลายแบบ โดยแนวคิดนี้ยังถูกใช้นอกเหนือจากอาคารปราสาท แต่ยังเช่นเดียวกับอาหารห้องอาหารที่ชิดติดเชิงเขาด้านใน
ดังที่สถาปนิกว่า “เรื่องตามนิทาน คืออาคารนี้จะเหมือนหมวกพ่อมด แต่จริงๆ มันก็คือรูปลักษณ์ของเรือนไทย นำมาเรียงเป็นขบวน แล้วลดทอน ส่วนอีกความหมายหนึ่ง คือผมต้องการสร้างมุมมองไปสู่ต้นยางนาใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง รวมถึงฉากของภูเขาข้างหลัง อาคารนี้จะเหมือนกับภูเขาย่อยที่กำหนดมุมมองไปสู่ภูเขาใหญ่”
กระบวนการ และผลลัพธ์เหล่านี้เอง คือสิ่งที่เรียกว่า “Multiple Narrative” หรือการเล่าเรื่องหลายเรื่องทับซ้อนกัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว สถาปนิกกล่าวว่า วิธีการออกแบบและการพร่าเลือนความหมายในงานสถาปัตยกรรมเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เขาสนใจและพยายามใช้โดยตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ดังที่เขากล่าวว่า “มันมีความเป็นตะวันตก แต่เราจะทำยังไงให้มันไม่ตื้น เราก็อยากใส่เรื่องท้องถิ่นโดยทั่วไปเข้าไป แต่เราก็ต้องเชี่ยวชาญ แล้วในขณะที่เราผสมผสาน มันต้องช่วยเราแก้ปัญหาโดยที่เราไม่รู้สึกว่ามันเสแสร้ง ผมชอบความก้ำกึ่ง ที่นึกไม่ออก ตีความไม่ได้ชัดเจนว่าอันนี้สไตล์อะไร ถ้ามันชัด มันมุกเดียวจบ มันไม่ยั่งยืน”
ความกำกวม ไม่บอกชัดว่าอะไรเป็นอะไร และทับซ้อนเรื่องราวไปมาชวนให้ผู้คนสงสัย เป็นคุณสมบัติความ “กวน” ของสถาปัตยกรรมที่ CHAT Architects ต้องการจงใจสร้างวิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่าง
ในแบบที่ตัวสถาปนิกเองยกย่องสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ว่าเป็น สิ่ง “สารเลว” กลางหุบเขา อย่างให้เกียรติสูงสุด
DID YOU KNOW?
สถาปัตยกรรมสารเลว
คุณฉัตรพงษ์ใช้งานวิจัยที่เขาทำด้วยตัวเองอยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นรากฐานของกระบวนการออกแบบ เป็นงานวิจัยซึ่งเข้าไปศึกษาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย อย่างในชุมชนริมคลอง หรือบ้านชั่วคราวของกลุ่มคนงานก่อสร้างในกรุงเทพ โดยคุณฉัตรพงษ์มองว่าสิ่งเหล่านี้ ในสายตาของเขา เป็นเรื่องราวของ “ท้องถิ่น” ที่แท้ ที่เกิดขึ้นจริง มีพลวัต แต่ขาดการให้ความสำคัญ คุณฉัตรพงษ์ตั้งชื่องานวิจัยว่า “Bangkok Bastards” หรือเปรียบอาคารเหล่านี้ว่าเป็น “สิ่งสารเลว” ที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ค่า
วิธีการมองเรื่องราวท้องถิ่นเช่นนี้ ถูกปรับใช้ใน Hotel Labaris Khaoyai (คุณฉัตรพงษ์ว่า “เราจะใช้วิจัยนี้ สร้าง Bastard Hotel หรือสถาปัตยกรรมสารเลวในหุบเขาอย่างไร”) ซึ่งเป็นการเล่นล้อกับปรากฏการณ์การเอารูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้อย่างทื่อๆ ทั่วเขาใหญ่ หรือเป็นเรื่องราว “สารเลว” ของท้องถิ่นเขาใหญ่ ที่คุณฉัตรพงษ์สนใจอย่างยิ่ง และกล่าวว่า
“อย่าอคติกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันก็เป็นบริบทจริงๆ ต้องหาวิธีที่ไม่ดูถูก และก็พยายามใช้ภาษานี้อย่างฉลาด รวมถึงผสานความเป็นท้องถิ่นทั่วไปเข้าไปในขณะเดียวกัน โดยที่ให้มันเป็นลูกผสม”
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข
ออกแบบสถาปัตยกรรม: CHAT Architects
ออกแบบภูมิทัศน์: Shma
ที่ตั้ง
9/9 ถนนธนะรัชต์ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
โทร.06-3190-1900
อ่านต่อ
BUNJOB HOUSE สะท้อนเรื่องราวของธรรมชาติเขตร้อนผ่านสถาปัตยกรรมโมเดิร์น