MARIE ANTOINETTE
(2006)
แม้เราจะยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ววาทะเด็ด “Let them eat cake” ที่แสนโด่งดังนี้ มีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่อย่างไรเสียก็เชื่อว่าพระนาง Marie Antoinette ก็ยังคงเป็นราชินีที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์
จากเจ้าหญิงออสเตรียที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน มาสู่ราชสำนักฝรั่งเศสในวัยเพียง 14 ชันษา และกลายเป็นราชินีคู่บุญของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วยวัยเพียง 19 ชันษา ก่อนจะถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตินในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ท่ามกลางหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันน้อยนิด ที่มีทั้งเรื่องจริงและการใส่สีตีไข่ เรื่องราวของพระนางถูกคาดเดาและตีความออกมาในหลากหลายเวอร์ชั่นในรูปแบบของวรรณกรรมและภาพยนตร์ แต่เวอร์ชั่นที่ดูจัดจ้าน ร่วมสมัย และสร้างแรงบันดาลใจได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเวอร์ชั่นของ Sofia Coppola ผู้กำกับหญิงคนเก่งที่เคยฝากชื่อไว้ในผลงานคุณภาพอย่าง Lost in Translation (2003)
ในเวอร์ชั่นนี้ Marie Antoinette ได้รับการนำเสนอในแง่มุมของเด็กสาวคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดภายในพระราชวังแวร์ซาย ความกดดันจากการแบกรับภาระอันใหญ่หลวง ผสานกับอารมณ์ที่ยังไม่มั่นคงของวัยรุ่นทำให้พระองค์ชดเชยความสุขที่ขาดหายด้วยความหรูหราแฟนตาซีในแบบที่เด็กสาวทั้งโลกต้องฝันถึง (บ้างก็ว่าเหมือน Gossip Girl ภาคย้อนยุค) ผู้กำกับจงใจทำหนังให้แตกต่างจากหนังพีเรียดทั่วไป ที่มักมีบรรยากาศเคร่งขรึมราวกับภาพวาดโบราณ แต่กลับเลือกใช้โทนสีของเครื่องแต่งกาย และการตกแต่งที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของพระนางมาเรีย อ็องตัวแน็ต ในแต่ละช่วงของชีวิต ช่วงแรกของเรื่องเน้นโทนสีพาสเทลหอมหวานราวกับไอศกรีมเชอร์เบท สะท้อนถึงความสดใสของสาววัยแรกแย้ม ก่อนจะกลายเป็นโทนสีธรรมชาติที่เบาสบายเมื่อพระนางให้กำเนิดพระราชธิดา ส่วนช่วงท้ายเรื่องโทนสีในหนังกลับดูหม่นเศร้า พร้อม ๆ กับกลิ่นอายแห่งความโกรธแค้นของชาวฝรั่งเศส นำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์ในที่สุด
เป็นที่รู้กันว่าสไตล์แฟชั่นในยุคของพระนางนั้น “มหัศจรรย์เว่อร์” ซึ่งตัวหนังก็สะท้อนประเด็นนี้ออกมาได้อย่างครบถ้วน จนคว้ารางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก Academy Awards ไปครองได้แบบไม่น่าแปลกใจ ส่วนความอลังการ และสมจริงของฉากก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะแทบทั้งเรื่องล้วนถ่ายทำในสถานที่จริง อาทิ พระราชวังแวร์ซาย และปราสาทอื่น ๆ ในฝรั่งเศส ท่ามกลางบรรยากาศของหนังในช่วงครึ่งแรกที่แสนรื่นเริง เต็มไปด้วยดอกกุหลาบ และขนมหวานนานาชนิด สีสันสวยหวานแสนสะดุดตา ลวดลายดอกไม้ละเอียดอ่อนกลายเป็น “ภาพจำ” ที่ส่งอิทธิพลไปถึงวงการแฟชั่น และการตกแต่งบ้านในช่วงนั้นแบบเต็ม ๆ และก็เชื่อว่าสไตล์นี้ยังคงเป็นที่เย้ายวนใจสำหรับสาว ๆ ทั่วโลกไปอีกนาน
LE PETIT TRIANON
จากพระราชวังแวร์ซายอลังการด้วยสไตล์บาโรก (Baroque) พระนางมาเรีย อ็องตัวแน็ต ย้ายมาประทับที่ Le Petit Trianon พระราชวังส่วนพระองค์ ซึ่งที่นี่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากยุคโรโคโค (Rococo) ที่โดดเด่นมาตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสไตล์นีโอคลาสสิก (Neoclassic) ที่มีการปรับเปลี่ยนเส้นสายที่อ่อนช้อยฟุ่มเฟือยให้สง่างาม และสุขุมมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่อย่างไรก็ตามสไตล์โรโคโคที่อ่อนหวานสดใสนั้นกลับดูโดดเด่น และสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาสาวหวานทั้งหลายได้มากกว่า
แปลงโฉมสเปซส่วนตัวของสาว ๆ ให้หวานใสเกินใคร ด้วยการลดทอนสไตล์โรโคโคให้อยู่สบายยิ่งขึ้น เริ่มจากใช้ผนังโทนสีฟ้าอ่อน พร้อมกับตกแต่งรายละเอียดด้วยพาเนลไม้ กรุยเชิงหรือบัวเชิงผนังสีขาวสะอาดตา หรือจะเลือกใช้กระเบื้องลวดลายหลุยส์นูนต่ำสีขาว แซมด้วยลวดลายปิดทองคำเปลวเพื่อเพิ่มความหรูหราก็ได้ ทั้งนี้ถ้าใครชอบบรรยากาศแบบหวานสุด ๆ ลองเลือกใช้วอลล์เปเปอร์ลายกุหลาบสีชมพูก็ช่วยให้ห้องมีสีสันขึ้น ท้ายสุดถ้าจะใส่หมวกขนนกจิบน้ำชาพร้อมชิมขนมมาการองแสนหวานก็รับรองว่าเพอร์เฟ็คท์สุด ๆ