แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายในการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Creative Crews คืออะไร
เอกฉันท์ : “เราพยายามไม่จำกัดอยู่ที่งานรีโนเวต มันยังมีความท้ายในงานที่อยากทำและไม่เคยทำอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นโรงพยาบาล เราก็อยากทำ”
ปุยฝ้าย : “เราอยากทำงานทุกอย่างที่รู้สึกว่ามันสำคัญต่อชีวิตคน อย่างที่แบงค์ (เอกฉันท์) พูดมาคืออย่างโรงพยาบาล เราคิดว่าโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ว่าโรงพยาบาลที่มันมีอยู่ตอนนี้มันก็ขยายไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นรูปแบบโรงพยาบาลในแบบเดิม มันค่อนข้างซับซ้อน ออกแบบยาก แล้วต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่เราสนใจคือ เรื่องสุขภาพของคน อาหารการกิน หรือปัจจัย 4 พื้นฐานที่มันอยู่ในชีวิต
“จริง ๆ แล้วเมืองที่ดี หรือความเป็นอยู่ที่ดี จะมีคนบอกว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตึก แต่เราไม่เชื่อ! เราเชื่อว่าตึกมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่แค่เราออกแบบรูปร่างหน้าตาอาคาร เราต้องเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการจัดวางโปรแกรม ทำให้มันมีความสอดคล้องกันของฟังก์ชันหลาย ๆ อย่างในโครงการ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร
“อย่างที่แบงค์บอกว่าอยากทำโรงพยาบาล แต่จริง ๆ เราก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น เราอยากทำโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด ศูนย์เรียนรู้ ที่ทำงาน คือทำให้คนอยู่ได้ในที่ใดที่หนึ่ง หรือในชุมชนหนึ่ง หรือในเมืองหนึ่งให้มีความสุข ให้มีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ดี หลัก ๆ คือเราอยากทำงาน หรือช่วยทำสถาปัตยกรรมให้มันทำให้คนอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ used เดียว หรือประเภทอาคารประเภทใดประเภทหนึ่ง จริง ๆ เราอยากออกแบบเก้าอี้สวนสาธารณะ ทางระบายน้ำ เราก็อยากทำ”
ในมุมมองของคุณ อะไรคือปัญหาในเชิงผังเมืองที่บ้านเราควรแก้ไข หรือพัฒนาด้วยการออกแบบหรือโดยคนที่ประกอบวิชาชีพนักออกแบบ
เอกฉันท์ : “หลังจากไปเรียน (Urban Design ที่ ETH Zurich) แล้วทำให้เราเข้าใจว่า จริง ๆ ชุมชนแออัดเป็นอะไรที่น่าสนใจ อย่างผมไปเวิร์กช้อปที่มุมไบ อินเดีย ก็น่าสนใจมาก คนอื่นเขาอาจจะมองว่าเป็นเมืองที่คุณภาพชีวิตไม่ดี ยิ่งเป็นสลัมเขาก็พยายามจะรื้อแล้วสร้างตึกสูงขึ้นมา พอคนเข้าไปอยู่มันก็เงียบเหงา จริง ๆ แล้วมันเป็นออแกนิกมากว่า สิ่งที่มันดู Random จริง ๆ มันมีระบบของมันที่ดูเชื่อมโยงกันแล้วเขาใช้พื้นที่หน้าบ้านให้เป็นประโยชน์ พื้นที่หน้าบ้านที่เขาทำอุตสาหกรรมครัวเรือน อย่างตึกแถวในเมืองไทยก็ใช้พื้นที่หน้าบ้านทำเป็นที่ทำงาน ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความน่าสนใจของเมือง มันเป็นการ Safety ด้วย เพราะมีการ Active ตลอดเวลา”
ปุยฝ้าย : “เราคิดว่าคนที่อยู่ในเมืองหรือในพื้นที่มันต้องมีความหลากหลาย เมืองมันไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีแต่ที่พักอาศัยราคาแพงได้ เสร็จแล้วใครจะมาทำงานหละ การอยู่ด้วยกันมันต้องมีการจัดสรรที่มันเหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราพูดถึงลักษณะของชุมชน พื้นที่ หรือว่าการใช้สอย หรือการอยู่อาศัยของคนที่มีรายได้ปานกลาง
“ที่เราทำโครงการตอนนี้มันก็มีที่พักอาศัยที่หรูหราสำหรับคนที่รายได้สูง แต่โดยภาพรวมมันต้องมีระบบคมนาคม หรือสาธารณูปโภคที่มันซัพพอร์ตกัน คนที่พักอาศัยอยู่ในที่พักที่หรูหราหรือมีรายได้สูง จริง ๆ เขาอยู่เองด้วยการทำอาหารกินเองทุกมื้อตลอดเวลาไม่ได้ เนื้อเมืองมันต้องซัพพอร์ตกัน มันต้องทำให้คนอื่น หรือคนที่มีรายได้แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี หรือคนที่ทำงานด้วยกันมันก็ต้องมีคนที่เป็นผู้บริหารกับคนที่เป็นแรงงาน มันไม่สามารถอยู่ได้แบบเดี่ยว ๆ
“การพัฒนาในประเทศเรามันไม่จำเป็นต้องบนลงล่าง มันก็มีจากล่างขึ้นไปด้วยเหมือนกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะนำเสนอหรือทำให้คนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การมีชีวิตที่ดีมันทำได้ยังไง และที่สำคัญก็คือ เราเองในฐานะที่เป็นสถาปนิก หรือเป็นคนที่อยู่ในเมือง หรือไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกอย่างเดียวนะ เราเคยคิดขึ้นมาว่าจะอยู่อย่างไรให้มันดี เป็นใครก็ได้ เป็นแม่ค้า หรือทำงานอื่น ๆ มีคนอีกเยอะมากนะที่ตื่นตัวอยากจะทำนู่นทำนี่ มันต้องสร้างเน็ตเวิร์กขึ้นมา
“ที่สำคัญส่วนตัวหรือส่วนของออฟฟิศคิดว่า ต้องเตรียมความพร้อม เวลาเรามีโอกาส เราต้องพร้อมที่จะเสนอ เราต้องหาความรู้แล้วพัฒนาความสามารถของเรา เพื่อที่จะทำอะไรแบบนี้ให้ประสบความสำเร็จ เช่น สมมติว่าเราอยากจะออกแบบพื้นที่สาธาณะที่มีขนาดเล็ก ออกแบบวินมอเตอร์ไซต์ ซึ่งมีอยู่หลาย ๆ ที่ของเมือง ถ้ามีเวลา มีโอกาส มีคนที่เขาอยากให้เราออกแบบ หรือเราไปเสนอให้ลูกค้าสนับสนุนการทำอะไรแบบนี้กับกทม.ได้ เสร็จแล้วเราไม่พร้อม หรือไม่มีความสามารถที่จะออกแบบตรงนั้น มันก็จะเสียโอกาสตรงนั้นไป เราก็ไม่อยากจะทำแบบห่วย ๆ ไปให้เขา ฉะนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ก็คือฝึกฝน หาข้อมูล และเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรแบบนี้ที่เราอยากจะทำจนกว่าจะมีโอกาสเหมาะสม”
นอกจากเรื่องงาน มีวิธีการบริหารจัดการเรื่องคนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพนักงานจำนวนมาก ๆ กว่า 30 ชีวิตแบบ Creative Crews
ปุยฝ้าย : “จริง ๆ มันเป็นธรรมชาติมากเลยนะ รู้สึกว่าเราไม่ต้องใช้พละกำลังเป็นพิเศษที่จะบริหารทีมงาน เพราะว่าจริง ๆ แล้วทีมงานที่เรามีอยู่ตอนนี้ทำงานกันหนักมาก มีความตั้งใจมาก จริง ๆ ตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์งานเลยนะ”
เอกฉันท์ : “เราบอกก่อนเลยว่าทำงานหนักนะ แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันแหละ คืออยากทำงาน ที่ดี ๆ”
ปุยฝ้าย : “เราให้โอกาสตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์เลยว่า ยังอยากจะทำอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)”
เอกฉันท์ : “ก็มีคนเงียบ ๆ ไปหลายคน”
ปุยฝ้าย : “แต่ก็มีคนที่มา แล้วคนที่มาก็คงเลือกแล้ว”
เอกฉันท์ : “ว่าจะกลับบ้านดึก (หัวเราะ)”
ปุยฝ้าย : “เราว่ามันสำคัญที่จะต้องพูดอย่างจริงใจ เมื่อก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ เปิดออฟฟิศใหม่ ๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะบอกเขาดีไหม ตอนนี้มั่นใจแล้วว่าบอกไปเลย ด้วยความสัจจริงว่า พี่ทำงานหนักนะ ถ้าเรามาทำงานด้วยกันเราต้องตั้งใจ ไม่อย่างนั้นมันจะทรมาน”
พอจะบอกได้ไหมว่า Creative Crews ถือโปรเจ็กต์ในมือต่อปีจำนวนเท่าไร
ปุยฝ้าย : “ถ้านับจำนวนมันจะเยอะมาก เพราะมันจะมีโปรเจ็กต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำในระยะเวลาอันสั้นด้วย ซึ่งจริง ๆ พวกโปรเจ็กต์เล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็สำคัญกับการพัฒนาออฟฟิศนะ อย่างตอนนี้ที่ทำอยู่ก็มี โรงเรียนสอนคนตาบอด”
มีวิธีการออกแบบพื้นที่อย่างไร สื่อสารด้วยสิ่งใดเมื่อผู้ใช้งานไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เราออกแบบได้
เอกฉันท์ : “เรามองว่าคนตาบอดก็เป็นประชากรปกติเหมือนเรา ที่เราต้องสนใจคือคุณภาพชีวิตของเขา และหลักสูตรของโรงเรียนสอนคนตาบอด หรือห้องเรียนที่เขามีมันเป็นปกติอย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อดีที่ลูกค้าอยากลองสร้างห้องเรียนแบบใหม่ หรือหลักสูตรแบบใหม่ที่จะทำให้เด็กที่เรียนหนังสือนั้นได้รับการพัฒนามากขึ้น แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเจ้าหน้าที่สอนคนตาบอดชื่อพี่สา ให้คำแนะนำเราอยู่”
ปุยฝ้าย : “พอเราได้ทำงานแบบนี้มันก็ดีต่อในแง่ออฟฟิศของเราเอง หรือของทีมงานเอง คือมันไม่ใช่สิ่งที่เคยทำก่อน ถ้าเราอยากจะรู้ศักยภาพของเราในเวลาที่ต้องทำงานในเวลาจำกัด เราจะทำได้ดีแค่ไหน การเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลามันเป็นการฝึก สำหรับตัวเราเอง คือไม่ให้แก่ตายไว (หัวเราะ) หรือไม่สามารถใช้ Interface ใหม่ ๆ ได้ กับน้อง ๆ ในทีมก็ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยว่า ถ้าเกิดว่าเด็กสายตาไม่ปกติเขาจะเรียนรู้หรือทำอะไรได้บ้าง เรามีสิ่งที่อยากนำเสนอเขาเพื่อช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นยังไงบ้าง ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไปศึกษาหรือทำโปรเจ็กต์อื่น ๆ เราก็จะมีความสามารถในการนำเสนอสิ่งที่มันมีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ได้ มันก็เหมือนเป็นการฝึก”
เอกฉันท์ : “ตอนพรีเซ้นต์เราต้องพรีเซ้นต์ให้ผอ. และพี่สาที่เป็นคนตาบอดฟัง เราใช้วิธีการอธิบายเหมือนเข้าไปอยู่ในห้อง ซ้ายมือคืออะไร ขวามือคืออะไร จริง ๆ แล้วเขาเข้าใจง่ายกว่าที่เราคิดเยอะมากครับ มีศักยภาพสูงมาก”
ปุยฝ้าย : “เซ้นส์ในการเรียนรู้หรือว่าเข้าใจในคนที่ตามองไม่เห็นนั้นดีกว่าเรามาก”
/ ความตื่นเต้นหรือความอยาก
ที่จะทำอะไรในช่วงระยะเวลาอันสั้น
มันไม่ทำให้เกิดผลงานที่ยิ่งใหญ่
หรืออยู่ได้จริง
มันต้องเป็นความอดทนในระยะยาว /
อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ Creative Crews ได้เปรียบเมื่อต้องทำงานที่ท้าทาย
ปุยฝ้าย : “เรามีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำอะไรให้น่าสนใจ หรือพยายามจะแก้ปัญหา จริง ๆ แล้วความตื่นเต้นหรือความอยากที่จะทำอะไร ในช่วงระยะเวลาอันสั้นมันไม่ทำให้เกิดผลงานที่ยิ่งใหญ่หรืออยู่ได้จริง มันต้องเป็นความอดทนในระยะยาว เหมือนกับกัดไม่ปล่อย เพราะจริง ๆ แล้วการทำงานมันเหนื่อย โดยเฉพาะเวลาที่เราชอบทำอะไรที่มันท้ายทาย หรือไม่ปกติ หรือเราไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมๆ ไม่ใช่เพราะว่ามันใช้ไม่ได้นะ
“จริง ๆ แล้ววิธีการแก้ปัญหามันต้องประกอบไปด้วยวิธีหลายอย่างที่นำมารวมกัน แต่ว่าโดยข้อจำกัดที่มันมีอยู่ ถ้าหาเราใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ คนเรามันก็ไม่ดีขึ้น ในการที่จะสร้างวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ หรือคิดวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมา มันก็ต้องมีการทำงานหนัก เพื่อจะการันตีว่า มันจะแก้ปัญหาได้ และเราพร้อมโดยที่ไม่ประมาทที่จะแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะตามมา ทำให้มันสมบูรณ์แล้วก็ใช้งานได้ มันเป็นความรับผิดที่จะตั้งใจทำให้มันดี”
เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา
อ่านต่อบทความแนะนำ
รวมรายชื่อ สถาปนิก นักออกแบบ นักจัดสวน
อ่านต่อ: CC Office ผลลัพธ์เชิงทดลองจากประสบการณ์บนตึกแถวเก่าย่านตลาดน้อย
อ่านต่อ: BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านต่อ: AHSA FARMSTAY ฟาร์มสเตย์ไม้เก่า คลุกเคล้าวัฒนธรรมล้านนา
Did you know?
AHSA FARMSTAY หนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการ ASA Emerging Architecture Award 2019