Mitr. กลุ่มนักสร้างสรรค์ที่เชื่อว่ายิ่งทดลองสิ่งใหม่ยิ่งช่วยขยายขอบเขตให้งานออกแบบ
mitr.

MITR. กลุ่มนักสร้างสรรค์ที่มุ่งหมายขยายขอบเขตแวดวงออกแบบ ด้วยการออกแบบเชิงทดลอง

Mitr. – Make it Raw กลุ่มนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ที่ลุกขึ้นมาทดลอง มองหาแนวทาง และวัสดุใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตการทำงานออกแบบอยู่เสมอ

Mitr. ย่อมาจากคำว่า ‘Make it Raw’ คุณมาย-ลลิตภัทร ลิ้มรุ่งเรือง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มอธิบายว่า “ความหมายตรงตัวตามคำว่า  Make it Raw เราอยากทำงานให้มีความดิบ ความสดใหม่ พบเจอกับความท้าทายในการทำงานเเต่ละวันอยู่เสมอ พวกเราชื่นชอบการทดลอง (experiment) ที่เกี่ยวกับงานออกแบบเพราะคิดว่าเป็นเเนวทางหนึ่งที่จะพาเราไปพบกับงานดีไซน์ใหม่ ๆ  การใช้วัสดุใหม่ ๆ  หรือวิธีการออกแบบใหม่ ๆ”

  • เพื่อนกันฉันมิตร

กลุ่มนักออกแบบคลื่นลูกใหม่กลุ่มนี้เกิดจากการรวมตัวของ ‘มิตรสหาย’ ที่มีความสนใจเหมือนกัน มีเป้าหมายเดียวกันคืออยากขยายขอบเขตความหลากหลายในแวดวงที่พวกเขายืนอยู่นั้นให้กว้างขึ้น และมุ่งหวังให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการดีไซน์ได้มากขึ้น งานออกแบบของ Mitr. ส่วนใหญ่จึงเป็นงานออกแบบเชิงทดลองจากวัสดุที่หลากหลายตามความถนัดของสมาชิกแต่ละคน

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

  • วิธีการทดลองแบบมิตร

“ในการทำงานกลุ่ม เราจะคุยกันเรื่องคอนเซ็ปต์ก่อน จากนั้นจึงค่อยมองหาว่ามีวัสดุใดสามารถตอบโจทย์เรื่องที่เราอยากเล่าได้บ้าง” คุณมาย เล่าวิธีการทำงานของกลุ่มอันนำไปสู่ผลลัพธ์ในงานออกแบบเชิงทดลองหลาย ๆ โปรเจ็กต์ ที่น่าสนใจ ดังเช่นที่หลาย ๆ คนอาจเคยผ่านตากับผลงานของพวกเขามาแล้วจากนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ‘ซิ่ง สตูล’ ในโปรเจ็กต์สนุก ๆ ‘Bangkok Objects’ ของกลุ่ม Design PLANT ในงาน Bangkok Design Week 2018 และโปรเจ็กต์เชิงทดลองกับวัสดุหลากสีสันในชื่อ ‘Summer’ ซึ่งอยู่ในงานเดียวกัน หรือในโปรเจ็กต์ล่าสุด กับนิทรรศการ ‘Landscape of Things’ ในงาน Chiang Mai Design Week 2018 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักออกแบบรุ่นใหม่ 7 ท่าน ทั้งจากไทย สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น โดยร่วมกันสร้างสรรค์งานออกแบบเชิงทดลองจากเซรามิกร่วมกับวัสดุอื่น ๆ และอีกหลากหลายผลงาน

อ่านต่อ: BANGKOK OBJECTS นิทรรศการสะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ผ่านการ REDESIGN สิ่งของใกล้ตัว

  • ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS

เราชวน Mitr. มาร่วมโปรเจ็กต์ต่อยอดงานออกแบบจากผ้าเอ๊าต์ดอร์จากเเบรนด์ SOL OUT ซึ่งมีตัวแทนของทีมมาร่วมโปรเจ็กต์นี้ 2 คน คือคุณมาย และคุณเคน-พลพิศิษฐ์ พงศ์พิทยา สำหรับตัวของคุณมายเองนั้นเธอเคยทำงานเชิงทดลองจากผ้ามาก่อน เช่น  mo – ment – to ในนิทรรศการ Design PLANT 5.0 เมื่อปี 2017 กับการออกแบบม่านม้วนที่ดูคล้ายกับการดึงกระดาษทิชชูออกจากแกน อันเป็นโปรเจ็กต์แรกที่เป็นการเปิดตัวกลุ่ม Mitr. ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเธอและกลุ่มในการใช้ผ้าเอ๊าต์ดอร์ที่มีคุณสมบัติทนแดดและน้ำทะเล ซึ่งการันตีว่าสีไม่ซีดจางมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ฉีกมุมมองจากรูปแบบดั้งเดิม อย่าง ร่มชายหาด ให้กลายเป็นร่มดีไซน์แปลกตา เเถมสามารถปรับองศาได้ และ ตะกร้าปิกนิก ที่เป็นมากกว่าที่เก็บของธรรมดา

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections

“การทำงานกับ  SOL OUT น่าจะเป็นโปรเจ็กต์แรก ๆ ที่เราได้ทำผ้าเอ๊าต์ดอร์แบบเต็ม ๆ จึงค่อนข้างตื่นเต้นเหมือนกัน เริ่มแรกเราสนใจเรื่องเนื้อผ้าก่อน เพราะผ้าที่เราได้มามีสีที่สามารถมิกซ์เองได้ จากนั้นจึงมาดูว่าเราสนใจลายเเบบไหน สุดท้ายจึงได้ออกมาเป็นลายเส้นตัด เพราะรู้สึกว่าพอมาอยู่กับทะเลเเล้วจะช่วยให้ผลงานดูโดดเด่นขึ้น

Mitr. - Make it Raw room X SOL OUT Collaborative Collections
ตัวต้นแบบของตระกร้า

“ตะกร้า กับ awning (ผ้าบังแดด) สองตัวนี้เราพยายามเล่าถึงการใช้งานของผ้าเอ๊าต์ดอร์ให้มากที่สุด โดยใช้ผ้ามา cover ส่วนท็อป เพราะอยากให้รู้ว่าสามารถทำความสะอาดได้ (ด้วยคุณสมบัติของผ้าที่สามารถเช็ดคราบสกปรกได้ง่าย ๆ เพียงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกเบา ๆ ) ส่วนตัวผ้าที่ใช้กับร่มบังเเดด เราอยากสื่อว่ามันทนแดด ทนฝน ใช้งานเอ๊าต์ดอร์ได้ดี  โดยมีไอเดียมาจากรูปทรงของกิ่งไม้หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทะเล มีโครงสร้างยื่นออกมา 3 กิ่ง กิ่งแรกไว้แขวนของใช้  ส่วน 2 กิ่งด้านบนสามารถปรับเปลี่ยนองศาตามทิศทางของเเสงเเดดได้ ก่อนออกแบบเราได้รีเสิร์ช มาว่าส่วนใหญ่เวลาคนไปชายทะเลบางทีเขาไม่ได้ต้องการบังแดดทั้งตัว เเต่แค่ต้องการบังแดดบริเวณตา เราเลยเอาตัว shading บังแค่บางส่วน”

mitr.
โครงและฐานใช้เหล็กทำสีพาวเดอร์โค้ตดิ้ง
mitr.
(ซ้าย) ส่วนวงแหวนสำหรับแขวนของใช้หุ้มด้วยเชือกไนลอนเพื่อลดความแข็งกระด้างของงานเหล็ก และให้ความนุ่มขึ้นขณะสัมผัส | (ขวา) ส่วนของกิ่งที่ 2 และ 3 ออกแบบให้สามารถหมุนปรับองศาได้ตามทิศทางของแดด

“การทำงานร่วมกับ SOL OUT ทำให้เราได้รู้กระบวนการทอลายผ้าในแนวตั้งเเละแนวนอนว่าทอได้เหมือนกัน แต่พอลายตะแคงมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทอออกมา แนวตั้งกับแนวนอนตัดกันบางทีมันจะเป็นพิกเซล เราจึงต้องคุยกันเรื่องขนาดเพื่อให้เส้นออกมาดูสมูทที่สุด  ทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องแพตเทิร์น และสีใหม่บางสีที่โรงงานของ Gold House ก็ไม่เคยผสมมาก่อน เรามีการทำงานร่วมกันเรื่องสี เเละเรื่องผ้าว่าสีไหนดูเหมาะสมที่สุด ส่วนใหญ่ที่เลือกมาจะเป็นสีที่สว่าง อย่าง สีเบจ  เมื่อใช้สีที่เด่นกว่ามาคาดทับลงไปจะช่วยให้ลวดลายมีมิติโดดเด่นขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงงานว่าจะใช้สีตัดกี่เปอร์เซ็น ใช้สีลายกี่เปอร์เซ็นต์ให้ออกมาเด่นที่สุด”

ชมภาพแฟชั่นสวย ๆ ในโปรเจ็กต์พิเศษ ‘room X SOL OUT Collaborative Collections’ (ที่นี่) ก่อนไปชมผลงานจริงในบู๊ธกิจกรรม room showcase ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019 “Hand & Heart” วันที่ 3 – 11 สิงหาคม นี้ 2562 ที่ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98 – 104

ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS
ROOM X SOL OUT COLLABORATIVE COLLECTIONS


เรื่อง: ND24
ภาพ: นันทิยา, ณัฐพงศ์ กิตติวรพงษ์กิจ