ประภากร วทานยกุล การได้ทำงานคือความสุข และความสนุกทำให้ A49 ไม่หยุดนิ่ง - room
A49

ประภากร วทานยกุล การได้ทำงานคือความสุข และความสนุกทำให้ A49 ไม่หยุดนิ่ง

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน บริษัทออกแบบในประเทศไทยมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ทั้งยังเป็นยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักบทบาทที่แท้จริงของสถาปนิก นอกเสียจากความเข้าใจว่าคนออกแบบนั้นก็คือผู้รับเหมา บริษัท สถาปนิก A49 จึงเปรียบเสมือนผู้บุกเบิกยุคแรก ที่เริ่มต้นมาจากการรับออกแบบบ้าน จนปัจจุบันมีงานออกแบบหลากหลายสเกลให้เลือกท้าทาย

A49 ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2526 โดยคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (ร่วมสมัย) ประจำปีพ.ศ.2544 ซึ่งน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งนี้ที่เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ ทำงานมาแล้วอย่างยาวนาน และมีบริษัทแยกย่อยออกไปมากมายในนาม 49Group ปัจจุบันมีหัวเรือใหญ่อย่างคุณประภากร วทานยกุล รับหน้าที่เป็นผู้บริหาร โดยเขาเคยเป็นหนึ่งในทีมงานของ A49 มาตั้งแต่สมัยที่วัยยังไม่แตะเลขสาม เรียกว่าช่วงนั้นสำนักงานสถาปนิกแห่งนี้ถือเป็นสำนักงานของคนรุ่นใหม่ที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน และเมื่อต้องมารับหน้าที่ขับเคลื่อน A49 และ 49Group ให้ก้าวไปข้างหน้า เขาได้แสดงแนวคิดที่ค่อนข้างถ่อมตนในแง่มุมของผู้ทำงานอย่างทุ่มเท และร่วมฟันฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ร่วมกับพี่น้องชาว  A49 มาแล้วอย่างโชกโชน

ประภากร วทานยกุล A49

ความเป็นพี่ใหญ่คงเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ผมอยากให้ลูกค้าจำเราในแง่การให้บริการ ให้ความคิด หรือทำงานให้เขามากกว่า ซึ่งเราทุ่มเทให้จริง ๆ

จากบรรทัดนี้นี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ A49 และ 49Group จากปากของสถาปนิกรุ่นใหญ่ ผู้เชื่อว่าบ้านหลังหนึ่งไม่ว่าจะใช้เวลาสร้างนานแค่ไหน หรือจะทำกำไรแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่ากับผู้ออกแบบทำบ้านด้วยความตั้งใจและออกมาจากแพสชั่นจริง ๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเขา จากบริษัทออกแบบขนาดเล็กที่เริ่มตั้งไข่ ค่อย ๆ ก้าวข้ามช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แล้วมายืนหยัดเป็นพี่ใหญ่ที่น่าเคารพของวงการสถาปนิกอย่างในปัจจุบัน ซึ่งมีพนักงานกว่า 600 ชีวิต ทำงานอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแค่ในสำนักงานใหม่ที่ Warehouse 26 ที่เรามาเยือนในวันนี้เท่านั้น 

room: ช่วยเล่าถึงการก่อตั้ง 49 Group ให้ฟังหน่อยครับ

49 Group ก่อตั้งมาแล้ว 36 ปี แต่เดิมคือ A49 ที่ก่อตั้งโดยพี่เต้ย – นิธิ สถาปิตานนท์ ซึ่งแยกออกมาจาก Design 103 แล้วมาตั้ง A49 โดยที่มาของเลข 49 นี้ คือตั้งของออฟฟิศในขณะนั้น ซึ่งอยู่ภายในซอยสุขุมวิท 49 จากนั้นก็ย้ายไปหลายแห่ง เท่าที่จำได้ก็ 3 แห่ง แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนชื่อไปตามสถานที่ที่ย้ายไปได้หมด เพราะ 49 กลายเป็นโลโก้ไปแล้ว”

ประภากร วทานยกุล A49

room: การทำงานในแต่ละยุคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว บริษัทออกแบบใหญ่ ๆ มีอยู่ไม่กี่แห่ง สมัยก่อนตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือตึกโชคชัย หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าเอ๊ะ! ตึกโชคชัยคือตึกไหน เพราะเพิ่งถูกรื้อทิ้งไปเมื่อปี 2560 (ตึกโชคชัย ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทในย่านพร้อมพงษ์ มีความสูง 26 ชั้น ออกแบบโดย อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เจ้าของโครงการคือคุณโชคชัย บูลกุล) จะเห็นว่างานออกแบบสถาปัตยกรรมในเมืองไทยสมัยก่อนมีน้อยมาก และเมื่อมองย้อนกลับไปคำว่า “สถาปนิก” ยังเป็นคำที่ใช่ว่าทุกคนจะรู้จัก ถือเป็นคำเฉพาะจริง ๆ เวลาคนจะสร้างบ้าน เขาจะมองว่าทำไมไม่เรียกผู้รับเหมามาดู น้อยคนที่จะบอกว่าเราต้องจ้างสถาปนิกให้มาช่วยออกแบบบ้าน ส่วนงานสเกลใหญ่  ๆ แบบตึกโชคชัยก็มีไม่เยอะ ส่วนเราเองก็เน้นงานออกแบบบ้าน หรือต้องบอกว่าความชำนาญของ  A49 คือการออกแบบบ้าน และเราก็ทำอย่างนั้นมาโดยตลอด  ปัจจุบันเราก็ยังทำงานออกแบบบ้านอยู่ แต่ปัจจุบัน A49 แยกออกไปแล้ว เพราะงานออกแบบบ้านเป็นงานพิถีพิถัน และต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนี้มีบริษัท A49 HD คอยดูแลอยู่

ประภากร วทานยกุล A49

“สเกลของบ้านยุคก่อนไม่ใช่แบบในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนมีงบประมาณมากถึง 10-20 ล้านถือว่าใหญ่มาก ค่าแบบบ้านเราพูดกันเป็นหลักหมื่น ห้าหมื่น เจ็ดหมื่น เรียกว่าเราเริ่มจากงานบ้านจริง ๆ ตั้งแต่บ้านเดี่ยว บ้านจัดสรร และทาวน์เฮ้าส์ ผมจำได้ว่างานออกแบบสำนักงานชิ้นแรกของ A49 คือบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ตอนที่ผมมาร่วมงานกับ A49 ออฟฟิศน่าจะมีพนักงานอยู่ประมาณ 10 คน และ A49 ยังรวมกับ P49 ซึ่งเป็นบริษัทอินทีเรียร์ที่ใช้คำว่า 49 เหมือนกัน แล้วตอนหลังก็แยกออกไป

“สมัยก่อนเราเรียก A49 ว่าเป็นออฟฟิศของคนรุ่นใหม่ พี่เต้ยเองขณะนั้นมีอายุประมาณ 30 ปีกว่า ซึ่งถือว่าเด็กมากในการตั้งบริษัท น้อง ๆ อย่างผมก็มีอายุประมาณ 20 ปลาย ๆ เราทำงานกันมาเรื่อย ๆ ทั้งสร้างคน รับคนเข้ามา ขยายพื้นที่ จนดำเนินมาถึงเวลา 33 ปี เราถึงได้ย้าย A49 จากซอย 15 มาอยู่ที่ซอย 26 จำได้ว่าตอนนั้นเรามีพนักงานอยู่ 28 คน จากนั้นก็คิดว่าเราควรทำงานครอบคลุมหลาย ๆ สาขา และดีที่สุดก็คืองานโครงสร้างและงานระบบ จึงเป็นที่มาของการตั้ง CM49 แล้วตามมาด้วยแลนด์สเคปในชื่อ L49 และงานเอ็นจิเนียริ่ง E49 ซึ่งเราขยายงานมาเรื่อย ๆ ทุกวันนี้เรามีอยู่ประมาณ 14 บริษัท กับ 4 สาขา กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ  เช่น  A49 เชียงใหม่ A49 ขอนแก่น และ A49 ภูเก็ต ทั้งหมดเรามีพนักงานเกือบ 600 คน ถือเป็นกรุ๊ปที่ใหญ่ที่สุดในด้านการบริการออกแบบครอบคลุมทุกสาขา พนักงานเฉพาะ A49 ที่กรุงเทพฯ วันนี้ รวม 200 กว่าคน ส่วน A49 HD น่าจะ 40-50 คน”

ประภากร วทานยกุล A49

room: ลูกค้าคาดหวังอะไรในการทำงานกับบริษัทใหญ่อย่าง 49Group

“วัฒนธรรมของเรา คือเราทำงานอย่างมืออาชีพ ย้อนกลับไปคำถามก่อนหน้านี้ เราเติบโตมาด้วยงานออกแบบบ้านจริง ๆ และงานบ้านเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยาก เพราะความต้องการที่เกิดขึ้นในบ้านหนึ่งหลังนั้น มีความหลากหลายมาก ตามสมาชิกของครอบครัว อย่างบ้านหนึ่งหลังมีคุณพ่อ คุณแม่  ลูกชาย และลูกสาว เราก็ต้องมานั่งพูดคุยกันว่าแต่ละคนมีความต้องการอะไรบ้าง ทำให้ต้องใช้เวลาในการออกแบบและก่อสร้างค่อนข้างนาน อาจทำกำไรหรือไม่ทำกำไรมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า A49 ทำบ้านด้วยความตั้งใจ น้อง ๆ ทุกคนที่สอนกันมา เขาจะทำบ้านด้วยแพสชั่น หรือทำบ้านด้วยความรัก อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้คือ บ้านแต่ละหลังจะได้รับการสร้างและรังสรรค์ด้วยสิ่งที่แตกต่างกัน ฉะนั้นเจ้าของบ้านที่มาหา A49 HD เขาจะไม่มีวันได้แบบที่เหมือนกัน เพราะหลักการคิดของเราคือทุกการออกแบบต้องเป็นตัวของตัวเอง ส่วน A49 หลักก็ทำงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นออกแบบโรงพยาบาล โรงงาน สถานการศึกษา และสำนักงาน”

ประภากร วทานยกุล A49

room: ถึงวันนี้ 49Group เหมือนเป็นพี่ใหญ่ของวงการ รู้สึกอย่างไรบ้างกับการถูกเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่

“ความเป็นพี่ใหญ่คงเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ผมอยากให้ลูกค้าจำเราในแง่การให้บริการ ให้ความคิด หรือทำงานให้เขามากกว่า ซึ่งเราทุ่มเทให้จริง ๆ เราชอบงานประกวดแบบ เพราะภายใต้การประกวดมันมีความชัดเจน โปร่งใส เมื่อถามว่าทำไมเราถึงชอบ นั่นเป็นเพราะทำให้น้อง ๆ ในสำนักงานมีความกระตือรือล้น ได้ลับสมองตลอดเวลา และสนุกมากในการทำงานประกวด งานประกวดที่ใสสะอาด ถึงแม้จะแพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้ระดมสมองเต็มที่แล้ว พวกเราคิดกันอยู่เสมอว่าถ้าทำงานอุดรูรั่วทั้งหมด มีการวิเคราะห์ที่ดี มีการทำรีเสิร์ช มีการจัดการกับปัญหาที่ดี โอกาสที่เราจะชนะงานประกวดก็มีมาก หลัง ๆ เราเข้างานประกวดที่ชัดเจนเกือบทุกงาน และเราก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานเยอะมาก”

ประภากร วทานยกุล A49

room: มีช่วงที่ยากลำบากของทางบริษัทไหมครับ

36 ปี ก็ต้องมีลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันบ้างละครับ มีสมัยที่เงินเดือนขาดมือ แล้วต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร ยุคที่วิกฤตที่สุดสะเทือนทุกบริษัท ทุกภาคส่วนของประเทศและของโลก นั่นคือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2539 – 2540 เป็นปีที่ฟองสบู่แตกจริง ๆ ก่อนหน้านั้นน้อง ๆ ที่จบออกมามีงานทำกันทุกคน เรียกร้องเงินเดือนได้ตามที่ต้องการ เราพูดถึงเรื่องโปรเจ็กต์ เรื่องของการซื้อขายที่ดิน เราพูดกันเป็นนาที ผู้ประกอบการจะมาหาเรา แล้วเราจะแนะนำกลับไปว่านาทีนี้ที่ดินตรงนี้ต้องรีบซื้อแล้วนะ ชั่วโมงหน้าราคานี้ไม่ได้แล้วนะ คนก็จะรู้สึกว่าโอ้โหสนุก ผมรับโทรศัพท์ที่มีอยู่ 3 เครื่อง แทบไม่หวาดไม่ไหว เพราะแต่ละคนต่างโทรมาทวงงานที่เราไปรับออกแบบไว้

“ความเฟื่องฟูในยุคก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ทำให้เรารับคนเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่เชื่อไหมพอปลายปี 2539 จากโทรศัพท์ที่วันหนึ่งดังกันอย่างต่อเนื่อง จู่ ๆ ก็เงียบ ไม่มีโทรศัพท์เข้ามาเลย เป็นสัญญาณที่บอกว่ามันดิ่งลง เรามีพนักงาน 170 ชีวิตที่ต้องแบกไว้ แล้วเราจะทำอย่างไรกับพวกเขา นโนบายของเราเรารับไม่ง่าย แต่เชิญออกเนี่ยยากกว่า ทางออกคือต้องตัดรายรับของพนักงานและผู้บริหารออก โดยตัดรายรับของพนักงานไป 30 เปอร์เซ็นต์ ตัดรายรับของผู้บริหาร 40 เปอร์เซ็นต์ และให้หยุดวันศุกร์ 1 วัน นั่นหมายความว่า 4 วันที่เหลือคุณทำงาน อีก 3 วันที่เหลือคุณจะไปทำอาชีพอะไรก็ได้ บริษัทยินดีส่งเสริม เรายืนยันว่าใครก็ตามที่จะออกไปผจญภัย สร้างตัวเอง เราพร้อมสนับสนุน เพื่อแบ่งเบาภาระ ปีนั้นเป็นปีที่วิกฤตมากจริง ๆ  จนเราต้องบอกน้อง ๆ ว่า เราไม่มีปัญญาที่จะจ้างต่อแล้ว เราย่อยยับเหมือนกันทุกภาคส่วน เราเหลือโปรเจ็กต์อยู่ 2-3 โปรเจ็กต์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ของมหาลัยกรุงเทพ และนั่นทำให้เรามีลมหายใจต่อกันมาได้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มอยู่กันแบบจำศีล ทำงานเท่าที่ทำได้ ตัดรายจ่ายทุกอย่าง

“วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างไร ถ้าเล่าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ขณะที่ A49 มีพนักงานอยู่เพียง 20 คน พี่เต้ยจะเชิญน้อง ๆ เข้าไปพบ หรือเรียกว่าเข้าห้องเย็น แล้วถามว่าเฮ้ย! เป็นไงบ้าง ชีวิตอยู่ที่นี่แล้วเป็นไง พร้อมซองเงินปันผล ซึ่งการเข้าพบผู้บริหารและถามไถ่กันแบบนี้ถือเป็นประเพณีที่ทำต่อเนื่องกันเรื่อยมา แม้จะมีพนักงานกว่าหลายร้อยชีวิตแล้วก็ตาม แต่ในปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นกลับเป็นซองที่เชิญออก เลิกสัญญาจ้าง คุณจะเห็นน้ำตาของเด็ก ทำให้เราเหี่ยวมากเลย

“หลังจากปี 2540 เราก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา และตั้งเป้าไว้ว่าเราจะมีพนักงานไม่เกิน 75 คน เพราะว่ามันมีบทเรียนจาก 170 คน เวลาเจ็บ เวลาล้มแล้ว มันเจ็บหนัก หลังจากนั้นก็ทำงานมาเรื่อย ๆ เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กรุงเทพฯ มีการพัฒนาและเติบโต พร้อมโครงการต่าง ๆ มากมาย โดยมีอินทีเรียร์ แลนด์สเคปดีไซน์ เอ็นจิเนียร์ ไลท์ติ้งดีไซน์ และกราฟิกดีไซน์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของอาชีพสถาปนิกมากขึ้น ตั้งแต่รับงาน ตามคน หมายความว่าคนมีแค่ไหนเราก็รับงานแค่นั้น มาวันนี้ A49 เริ่มไม่เข็ดอีกแล้ว ปัจจุบันมีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 200 คน และงานก็ถือว่ายังเยอะ อาจจะเป็นเพราะว่าเรายืนหยัดมานานพอสมควร”

ประภากร วทานยกุล A49 ประภากร วทานยกุล A49

room : การที่สถาปนิกต้องขึ้นมาทำงานบริหารเยอะๆ ทำให้เราเบื่อไหมที่เราได้ทำงานออกแบบน้อยลง

“ผู้บริหาร ไม่ได้บริหารอย่างเดียว ตัวอย่างอย่างผมเป็นต้น ผมมีความสุขมากในการทำงานประกวด เกณฑ์การทำงานของ A49 ในการทำงานประกวดคือ หนึ่งเมื่อที่ไหนมีงานประกวดก็จะมี TOR ออกมา เราจะมีแผนกหนึ่งไปรับ TOR มาตรวจสอบ เราหลีกเลี่ยงการประกวดที่ไม่เคารพวิชาชีพ คือการประกวดที่มาซื้อความคิดของคุณไปอย่างเดียว แล้วไม่มีผลตอบแทน อันนี้เราจะไม่เข้าร่วม งานเล็กงานน้อยไม่ว่า ขอให้มีผลตอบแทนทางวิชาชีพ ผลตอบแทนไม่ทำให้รวย แต่ผลตอบแทนทำให้คุณเห็นความสำคัญในวิชาชีพของเรา ฉะนั้นจึงต้องมีค่าใช้จ่ายให้แสดงว่าคุณซื้อไอเดียมาแล้ว ตรวจสอบว่างานเป็นอย่างไร เป็นไปตามข้อแนะนำของสมาคมวิชาชีพไหม จากนั้นก็ส่งทีมผู้บริหารไปดูว่าน่าเข้าร่วมประกวดหรือไม่ พอเห็นแล้วว่าชัดเจน โปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝงก็จะเข้าร่วม

“พอเข้าร่วมแล้ว จะมีทีมรีเสิร์ช นั่งสุมหัวกันเต็มโต๊ะไปหมด เพื่อเบรนสตรอมกันว่างานประกวดชิ้นนี้เกี่ยวกับอะไร ถ้าเกี่ยวกับโรงพยาบาลเด็ก อะไรเป็นหัวใจของเด็กกับโรงพยาบาล โรงพยาบาลสมัยนี้มีเทรนด์เป็นอย่างไร เราจะไปทำรีเสิร์ชมาหมด แล้วมาเบรนสตรอมกันจนได้บิ๊กไอเดีย ได้คีย์ของแนวคิดนั้นออกมา แล้วค่อยมาตั้งกลุ่มทำงาน ใน A49 เรามี 3 สตูดิโอ ทั้งหนึ่ง สอง สาม ปริมาณการทำงานเท่ากัน ไม่ได้มีใครพิเศษเฉพาะทาง เห็นเป็นเลา ๆ เฉย ๆ ว่า กลุ่มนี้เก่งมากในเรื่องทำคอนโดฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำงานอย่างอื่นไม่ได้ หรือทีมนี้เก่งมากเลยในการออกแบบศูนย์การค้า แต่เขาก็ทำโรงแรมได้นะ เราดูกันที่ปริมาณงาน แล้วจึงค่อยไปจัดทีม

ประภากร วทานยกุล A49

“ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งอย่างของกลุ่ม 49 คือเราเคารพความคิดของเด็ก ๆ เพราะถือว่ามีความสดใหม่กว่าเรา แต่ประสบการณ์เขาสู้คนแก่ ๆ อย่างพวกเราไม่ได้ แต่ความคิดเขาเนี่ยบางครั้งอาจดีกว่าเราด้วยซ้ำไป เราทำทุกอย่างให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ บางทีเราประกวดในบริษัทก่อน พอพัฒนาได้ตรงนี้แล้ว ก็จะไปพัฒนาเรื่องการนำเสนอผลงาน เพื่อให้เกิดความประทับใจแล้วกรรมการคัดเลือกเรา นี่คือรูปแบบของเรา ย้อนกลับไปที่คำถาม “ความสนุก” นี่อย่างไรละครับที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่ง

“วันนี้ถามว่าผมยังทำงานกับน้อง ๆ ไหม เต็มมือเลย ผมยังออกแบบสำนักงานขนาด 6,000-7,000 ตารางเมตร นั่งประกบกับน้อง 3-4 คน หรือทำโรงแรมที่กระบี่ ก็จะนั่งดูรายละเอียดทั้งหมด สปา ทรีทเม้นท์รูมว่าจะเป็นอย่างไร มีลูกเล่นอะไร ไอเดียเป็นอย่างไร นี่คือความสุขของสถาปนิก จะจบลงก็ต่อเมื่อวันที่เราอยู่ในโลงแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ได้ผมว่า ไม่เบื่อหรอก”

ประภากร วทานยกุล A49

room: มีอะไรอยากฝากให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ไหมครับ

“ในคนรุ่นผมเราถูกอบรมสั่งสอนมาในยุคที่ไม่ใช้ไอที แต่เราใช้มือ เราใช้การสเก็ตช์ ถ่ายทอดแนวคิดของเราด้วยมือและใจที่ส่งมา ซึ่งมีทั้งความฉับพลันและนิ่มนวล ปัจจุบันนี้เด็กทุกคนเขาแอดวานซ์มาก สิ่งหนึ่งที่ผมพูดเสมอเลยคือมือของคุณเป็นเครื่องมือ (Tool) ที่ดีที่สุด คุณไม่ได้พกอะไรไป แค่คุณพกมือ ปากกา และหัวใจไป เพียงเท่านี้คุณก็สามารถทำงานได้เยอะเลย แม้พวกเราจะอายุมากแล้ว แต่ก็ต้องตามให้ทัน ต้องรู้ว่าซอฟต์แวร์ตัวไหนเหมาะนำมาใช้กับงานอะไร เราควรจะสนับสนุนอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากฝากถึงน้อง ๆ ก็คือถ้าอยากมาทำงานในกลุ่ม 49 ทุกคนมีโอกาสที่จะบอกว่า โอ้ย! เข้ายาก ๆ บางคนไม่กล้าเข้ามาเหยียบเลย แต่ผมอยากบอกว่าที่นี่เป็นเวทีที่ให้อิสระกับทุกคน ที่จะเข้ามาหาความท้าทาย แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะเป็นวัฒนธรรมเลยว่าทุกคนทำงาน ทุกคนมีความสุขกับแบบ มีความสุขกับวิชาชีพ มากกว่าที่จะล่องลอยอย่างหรู ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ข้อสำคัญคือเราทำงานทั้งในวิชาชีพและทำงานเพื่อสังคม”

ประภากร วทานยกุล A49

ผลงานการออกแบบจาก ARCHITECTS 49 LIMITED

D’LUCK CINEMATIC THEATRE เสกโรงละครให้ลอยตัว ด้วยเวทมนตร์แห่งสถาปัตยกรรม

A49

PERFECT INTERWEAVE บ้านสไตล์โมเดิร์นในบรรยากาศรีสอร์ต

https://www.baanlaesuan.com/138756/design/property-review/santiburi-the-residences

SANTIBURI THE RESIDENCES ให้ธรรมชาติของการอยู่อาศัยเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว


เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ :  สิทธิศักดิ์ น้ำคำ