PHTAA Living Design
สิ่งที่กวนใจสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน PHTAA ในช่วงหลัง คือประเด็นว่าด้วยเรื่อง “สัจวัสดุ” ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต ไม้ เเละหิน วัสดุที่ถือครองความงามอย่างมี “สัจจะ” ที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เเต่เนื่องจากวัสดุเหล่านี้อาจติดปัญหาเรื่องงบประมาณที่ค่อนข้างสูง หรือมีข้อจำกัดเรื่องศักยภาพการใช้งาน ทำให้ปัจจุบันวงการออกแบบและก่อสร้างพยายามที่จะคิดค้นนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อทดแทนวัสดุเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งความสวยงาม เสมือนจริง เเละตอบโจทย์การใช้งานได้ดีกว่า
“เราเชื่อมาตลอดว่า สัจวัสดุ ที่เราจะได้ใช้เนี่ย คือต้องเป็นคนที่โชคดี” คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHTAA กล่าว “ต้องเป็นคนที่โชคดี ถึงจะได้ใช้สัจวัสดุนั้นจริง ๆ ถ้าสักวันหนึ่ง งานของเราสร้างขึ้นมาไม่ได้ เพราะถูกล้มด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น ความเชื่อของเราที่ว่ามันต้องเป็นวัสดุนี้เท่านั้น มันน่าเสียดาย เราคิดว่ามันน่าจะถูกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม เพื่อทำให้งานของเราได้ถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ ”
จากประสบการณ์การออกแบบหลายโครงการที่มีรูปลักษณ์แปลกตาตามเอกลักษณ์ของสำนักงาน คุณพลวิทย์พบว่าวัสดุทดแทนโดยเฉพาะ “โฟมอัด” นั้น ช่วยให้งานที่หวือหวาจนดูเหมือนจะสร้างไม่ได้จริง สามารถเกิดขึ้นได้จนสำเร็จภายใต้ข้อจำกัดด้านการก่อสร้าง โดยเขาพบว่า โฟมอัด (ในที่นี้คือโฟมเกรดที่ใช้ในงานก่อสร้าง) แม้จะดูไม่ “จริง” เท่าวัสดุก่อสร้างเดิมอย่าง คอนกรีต แต่ด้วยน้ำหนักที่เบา และตัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้อิสระ โฟมอัดจึงเป็นวัสดุที่ช่วยอุดช่องโหว่เรื่องไอเดีย และเพิ่มอิสระทางความคิดได้มากขึ้นกว่าที่เคย
“หน้าตามันก็เหมือนกันนะ คือจะบอกว่าของผมเป็นของปลอมก็ได้ เป็น Architecture สไตล์ K-pop ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ มันทำให้งานที่คุณคิดอยู่ในหัวสามารถถูกสร้างออกมาได้จริง พอออกมาได้จริงปุ๊บ มันก็เป็นโอกาสให้คุณนำไปต่อยอดสู่เรื่องอื่น ๆ ได้อีก”
จากเเนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่งานอินสตอลเลชั่นอาร์ตในครั้งนี้ คุณพลวิทย์เลือกสถานที่ติดตั้งเป็นบ่อน้ำหน้าคณะฯ ซึ่งมีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่เก่าเเก่ มีเรื่องราว จนถึงมีพิธีกรรม หรือความ “แท้” ในตัวเอง แล้วใช้โฟมอัดเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีแนวคิดคือการคำนวณปริมาตรน้ำในบ่อ แล้วนำปริมาตรดังกล่าวมาแทนค่าด้วยโฟมอัดทรงกลมขนาดตั้งแต่ 1 นิ้ว ไปจนถึง 24 นิ้ว ปักลอยอยู่เหนือบ่อน้ำ
ประโยชน์อย่างหนึ่งคือหลังจากจบงาน โฟมอัดเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้นักศึกษาใช้ตัดแบบจำลองต่อได้ แต่นอกจากนั้นยังเป็นการส่งต่อแนวคิดที่สรุปรวมจากประสบการณ์การทำงานที่อยากบอกกับรุ่นน้องของเขาว่า
“ในอนาคตเราต้องรู้จักพลิกแพลงการใช้งานวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้งานของเราเกิดขึ้นได้จริง ๆ ผมคิดว่าอย่าให้อีโก้ของตัวเองมาทำให้งานของเราไม่ได้ถูกสร้าง
“เพราะเราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นเลยสักนิดเดียว”