นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่าสองเดือนเศษที่ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ กลายมาเป็นจุดนัดพบของเหล่านิสิตนักศึกษา คนวัยทำงาน และชาวสามย่านแห่งใหม่ เพราะที่นี่สามารถนัดพบปะกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีพื้นที่รองรับกิจกรรมและความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเพียบพร้อมทั้งศูนย์การค้า ศูนย์อาหาร และบริการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องเวลา การเดินทาง และทำเลที่ตั้งที่เข้าถึงได้โดยระบบขนส่งสาธารณะ
room ร่วมพูดคุยกับคุณวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการสายงาน โครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้พัฒนาโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ร่วมด้วยทีมออกแบบส่วนต่าง ๆ ของอาคารสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเจาะลึกเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นโครงการมิกซ์ยูสในแนวคิด “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้” หรือ Urban Life Library บนพื้นที่กว่า 220,000 ตารางเมตร หัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 ซึ่งประกอบด้วย โซนพลาซ่า ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ (Samyan Mitrtown) โซนที่อยู่อาศัยทั้งทริปเปิ้ล วาย เรสซิเด้นซ์ (Triple Y Residence) และโรงแรมทริปเปิ้ลวาย โฮเทล (Triple Y Hotel) รวมถึงโซนอาคารสำนักงาน มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ (Mitrtown Office Tower) อย่างที่เห็นในวันนี้
- สามย่านมิกซ์ยูส บริบทอดีตในโหมดปัจจุบัน
“เพราะที่นี่มีตำนานและประวัติศาสต์ของพื้นที่ เราจึงไม่อยากทำห้าง แต่อยากทำสถานที่พบปะของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในคอนเซ็ปต์ Smart + Friendly คือมีความฉลาดสมกับการตั้งอยู่ใกล้สถาบันการศึกษาชั้นนำ มีความเป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่ายหรือ Mitr-ting (Meeting) Place for All” คุณวิทวัส กล่าวถึงแนวคิดของโครงการ
“ในการทำโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ถ้าคอนเซ็ปต์เราไม่แน่น หรือมีจุดยืนไม่ชัดเจนก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในระหว่างทางได้ แต่โครงการนี้มีจุดยืนที่ชัดเจนมาก มีการมองภาพวันที่โครงการเสร็จแล้วต้องการให้คนเห็นภาพอะไร คนจะคิดอย่างไร เพียงแต่เราจะไม่ประกาศว่าคอนเซ็ปต์ของเราเป็นแบบไหน แต่เราจะให้คนได้ลองมาเข้าถึงด้วยตัวเอง แล้วมาดูว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นเขาจะคิดตรงกันกับเราไหม”
“ด้วยขนาดที่ดินผืนนี้ การทำออฟฟิศอย่างเดียวหรือเป็นโรงแรมอย่างเดียว ผมว่ามันมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เราจึงทำโครงการมิกซ์ยูสให้มีออฟฟิศ โรงแรม คอนโด และศูนย์การค้าเพื่อเชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกัน จะเห็นว่าโครงการในอนาคตบนถนนพระราม 4 นั้นจะเป็นโครงการมิกซ์ยูสแทบทั้งหมดเลย”
- สถาปัตยกรรมตั้งเฉียงตามแนวถนนหลักรอบสามย่าน
“จากภาพเปอร์สเปคทีฟ เราพัฒนาแบบกันมามากกว่า 20-30 รอบ จนสุดท้ายได้ภาพจบของการออกแบบในลักษณะโครงการผสมผสาน เพราะฟังก์ชันการใช้งานแต่ละส่วนนั้นแตกต่างกัน เราจึงออกแบบให้แต่ละส่วนได้แสดงคาแรกเตอร์ของตัวเองที่แตกต่างกัน” คุณประดิชญา สิงหราช สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Innovative Design & Architecture Co., Ltd. ผู้ออกแบบภาพรวมโครงการส่วนอาคารสำนักงาน โรงแรม และคอนโดมิเนียม ร่วมกับ Plan Associates Co., Ltd. อธิบายถึงการออกแบบโครงการสามย่านมิตรทาวน์
ในส่วนอาคารโรงแรมและคอนโดของโครงการ มุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้สามารถใช้งานและทำกิจกรรมได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาเรื่องขนาดห้องพักในเมืองที่ค่อนข้างจำกัดในปัจจุบัน ในขณะที่ผังห้องพักทั้งหมดออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้สอยที่ยืดหยุ่นและการอยู่อาศัยร่วมกันได้หลายคนโดยไม่อึดอัดจนเกินไป พร้อมเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อาศัยโดยการปรับองศาของหน้าต่างและระเบียงให้เป็นแนวเฉียงทแยงมุมกับตัวอาคารสำนักงาน
ซึ่งจากมุมมองบนถนนพระราม 4 จะเห็นว่าตัวอาคารในส่วนทาวเวอร์ หรือส่วนยอดของอาคารสำนักงานจะมีเส้นสายเฉียงไปกับแนวที่ดินที่ขนานกับแนวถนน เนื่องด้วยถนนในกรุงเทพฯมักจะตัดเฉียงไปมาโดยไม่ตรงกับแนวที่ดิน คุณประดิชญา บอกว่า เขาจึงออกแบบรูปฟอร์มของอาคารที่สะท้อนความเฉียบคมและยืดหยุ่นออกเป็นสามระดับ โดยระดับแรกจะขนานกับถนนพระราม 4 ระดับที่สองจะขนานกับตัวที่ดิน และระดับที่สามจะกลับไปขนานกับถนนพระราม 4 อีกครั้งโดยที่ส่วนพื้นที่ค้าปลีกนั้นออกแบบส่วนหน้าอาคารให้โค้งรับกับหัวมุมถนน ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนพญาไทกับพระราม 4 ตามหมายและทิศทางของเมือง หรือ Urban Orientation
“ตึกสูงในเมืองมักเป็นแลนด์มาร์กที่คนมองเห็นในระยะไกล เพราะฉะนั้นเมื่อเรามองจากระยะไกล เราจะสัมผัสได้ว่าอาคารนี้ตั้งขนานกับถนนเส้นหลัก” คุณประดิชญา กล่าวสรุป
- มิตรทั้งต่อผู้ใช้ ชุมชนสามย่าน และประวัติศาสตร์ของที่ตั้งที่เป็นตลาดเก่า
“เวลาเราออกแบบพื้นที่ค้าปลีก เราจะคิดถึงสามหัวใจหลัก สำคัญเลยคือ Approach ของโครงการ ซึ่งโจทย์ที่ได้รับจากโครงการนี้นั้นค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่นแต่ว่าน่าสนใจ อย่างที่สองเราจะคำนึงถึงว่า User หรือผู้ใช้งานของเราคือใคร เราจึงมองไปถึง End-User จริงๆ คือคนที่เข้ามาใช้งาน ช้อปปิ้ง ใช้ชีวิตประจำวันในนี้นั่นคือนักเรียน นักศึกษา ซึ่งโจทย์ที่น่าสนใจอีกอย่างคือที่นี่เป็นคลังอาหารและเรียนรู้ เราจึงคิดว่ามันไม่ใช่แค่นักศึกษาแล้วที่จะมาเรียนรู้ เพราะไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้เปลี่ยนไป เกิดการเรียนรู้ไม่รู้จบ เหมือนที่เราพูดกันตั้งแต่วันแรกว่าจะให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่รู้จบของคนทุกวัย และสุดท้ายคือ context บริบทของชุมชนสามย่านนั้นมีเรื่องราวที่ไม่มีวันตาย เราจึงนำกลับมาถ่ายทอดในอีกมุมมองผ่านงานออกแบบ” คุณวาลุกา โรจนภิรมย์ ดีไซน์ไดเร็กเตอร์แห่ง Urban Architect Co., Ltd. ผู้ออกแบบส่วนศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ค้าปลีกจากตรอกซอกซอยในอดีตสู่รูปแบบชุมชนแนวตั้ง ประกอบด้วย
โซนศูนย์การค้ากึ่งเอ๊าต์ดอร์และอินดอร์ เริ่มจากโซนสาธารณะกึ่งเอ๊าต์ดอร์ในชั้น G ที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ออกแบบโดยคำนึงถึงช่องเปิดอาคารที่สอดรับกับทิศทางลมเพื่อช่วยประหยัดพลังงานโดยไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ออกแบบให้มีอาคารเล็กซ้อนอยู่ในอาคารใหญ่คล้ายกับมันเป็นตึกแถวดั้งเดิมที่เคยตั้งอยู่ในชุมชนสามย่าน ในส่วนของฟาซาดยังมีการนำบล็อกช่องลมจากยุค Mid-Century มาออกแบบเป็นลวดลายอาคารเพื่อระลึกถึงองค์ประกอบของตึกรามบ้านช่องในอดีต
นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ค้าปลีกในส่วนของศูนย์การค้าออกเป็นสามย่านใน 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ชั้นใต้ดินและชั้น G ที่เชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบโครงการด้วยทางเดินและอุโมงค์ใต้ดินซึ่งเป็นโซนซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร ถัดมาคือโซนที่ 2 กระจายตัวอยู่ตามชั้น 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นส่วนของร้านค้าแนวไลฟ์สไตล์ และพื้นที่เรียนรู้ไม่รู้จับอย่าง Samyan CO-OP Co-learning space ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ปิดท้ายด้วยโซนที่ 3 บนชั้น 4 และ 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ของศูนย์อาหาร โรงภาพยนตร์เฮ้าส์สามย่าน (House Samyan) และพื้นที่จัดอีเว้นต์ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ และสวนดาดฟ้า (Rooftop Garden)
- Main Street ใต้ตึก ที่คนเมืองสามารถเดินลอดผ่านใต้ตึกแบบไม่ติดรั้วกั้น
อีกจุดที่สังเกตได้ว่าทั้งยังเป็นโครงการนั้นไร้รั้วกั้นระหว่างที่ดินกับบาทวิถี เรียกได้ว่าเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่เชื่อมเมืองและผู้คนเข้าหากันอย่างฉันมิตรโดยแท้ ซึ่งคุณธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Landscape Collaboration Ltd. ทีมผู้ออกแบบพื้นที่สวนส่วนกลางของชั้น G พื้นที่โดยรอบโครงการ และสวนดาดฟ้า หรือ Rooftop Garden บนชั้น 5 อธิบายว่า “โจทย์ของเราคือการพยายามสืบสานความเป็นย่านเดิม นั่นคือ ‘ตลาดสามย่าน’ และวัฒนธรรมคนไทยมักใช้ถนนหรือ Street เป็นที่ซื้อขายของกันริมถนน เราจึงสานต่อความเป็นถนนคนเดินเข้าไปภายในโครงการและในส่วนแลนด์สเคปทั้งหมด โครงการนี้จึงไม่มีรั้ว ทำให้คนสามารถเชื่อมต่อกับเมืองได้ เราออกแบบเป็นทางลาดให้ทุกคนก้าวเข้าโครงการโดยไม่ต้องมีระดับขั้นบันได ตอบรับกับความ Smart + Friendly ด้วยดีไซน์ที่เน้นการใช้งานแบบเปิดกว้างและหลากหลาย”
- มิตรแท้คนรักต้นไม้ ความสดชื่น และพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง
นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวทั้งหมดของโครงการยังออกแบบภายใต้แนวคิด Friendly & Space Sharing for Everyone เน้นการเข้าใช้พื้นที่ได้ง่ายและเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน โดยบริเวณสวนรอบอาคารชั้น 1 ฝั่งถนนพญาไท เน้นการจัดสวนและสร้าง canopy ที่สามารถให้คนมาใช้งานหรือนั่งได้จริง รวมถึงเลือกชนิดของพรรณไม้ที่สูงโปร่งและมีพุ่มหนาอย่างต้นยางนา เพื่อสร้างร่มเงาให้กับผู้ใช้งาน
“เราออกแบบโดยลดความหวือหวาลง และทำให้เรียบง่ายแต่ตอบโจทย์การใช้งานจริง” คุณธัชพล อธิบายเหตุผล “เราพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดโดยใช้ต้นยางนา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เหมาะกับพื้นที่ลุ่ม เหมาะกับสภาพแวดล้อมเดิม ลำต้นสูงชะลูด ให้ร่มเงากับคนใช้งานได้ ลานส่วนนี้ยังออกแบบเป็นทางลาดทั้งหมดในลักษณะ Universal design เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานพื้นที่ได้ง่าย”
ในบริเวณพื้นที่ดาดฟ้าบนชั้น 5 ได้รับการออกแบบให้เป็นจุดชมวิวและทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีอัฒจันทร์ หรือ Amphitheater ที่ตั้งใจให้สามารถใช้งานยืดหยุ่นเป็นพื้นที่นั่งชมภาพยนตร์กลางแจ้ง จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษ เน้นการเลือกชนิดของต้นไม้ลำต้นตรงสูง และแตกพุ่มด้านบน รวมถึงพืชพรรณที่หลากหลายเพื่อให้ต้นไม้ทำหน้าที่กรองแสงและฝุ่นให้กับอาคารด้วยในตัว
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดเบื้องหลังที่กว่าจะมาเป็นโครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานโดยมีไฮไลต์อย่างโซนที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง พื้นที่ Samyan CO-OP และอุโมงค์คอนกรีตเปลือยโครงสร้างที่เชื่อมต่อโครงการสามย่านมิตรทาวน์ กับ MRT จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการอื่นโดยรอบ ที่ในอนาคตภายในอุโมงค์จะจัดเป็น Art Gallery แสดงงานศิลปะซึ่งสามารถเข้าถึงผู้ชมทุกเพศทุกวัยอีกด้วย
เรื่อง: ND24
ภาพ: ศุภกร, เอกสารประชาสัมพันธ์
อ่านต่อบทความแนะนำ: