วัดป่าวชิรบรรพต เชื่อมมนุษย์ ธรรม และธรรมชาติ ผ่านสถาปัตยกรรม

อาคารปฎิบัติธรรมวัดป่าวชิรบรรพต เชื่อมมนุษย์ ธรรม และธรรมชาติผ่านสถาปัตยกรรม

งานสถาปัตยกรรมที่พักดีๆ ไม่ได้มีแค่โรงแรมหรือโฮลเทลเท่านั้น อาคารที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าวชิรบรรพต จ.ชลบุรี จัดได้ว่ามีความงามในความเรียบง่ายอันน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากความน้อย ดิบ และสะอาดตา มีรายละเอียดของงานดีไซน์ซึ่งขัดแย้งแต่เชื่อมประสานกันเป็นเรื่องราวเดียว ของตัวตนกับธรรมชาติที่อยู่รายรอบ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Walllasia

หากมองจากภายนอกไกลๆ เข้ายังอาคารปฏิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต แห่งนี้ อาคารคอนกรีต 4 ชั้นแห่งนี้ ช่างดูธรรมดาเหลือเกิน ออกจะดูนิ่งและดิบไปเสียด้วยซ้ำหากใช้แว่นตาของผู้คนซึ่งยังไม่ได้เข้ามาสัมผัสถึงภายใน ความซ้ำ สัดส่วน ช่องแสง เสาอาคาร ดูไม่ได้บอกเอกลักษณ์หรือสร้างเส้นสายอะไรให้ได้จดจำ

แต่เมื่อเดินเข้าสู่ภายใน ทอดสายตาไปยังทางเดินตามแนวอาคาร มองไปยังช่องเปิดรับวิวและลมจากทิวเขาสีเขียวภายนอก เหลือบมองผืนระเบียงน้ำที่สะท้อนวิวกลับมา แล้วก้มดูขอบกั้น ช่องลม รอยกรีดที่พื้น รวมไปถึงการทาสีของอาคาร เรากลับหลงรักอาคารหลังนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น เสมือนความดีงามที่เปล่งรัศมีมาจากภายในซึ่งผ่านกระบวนการคิดมาอย่างถี่ถ้วน

ตัวอาคารปฏิบัติธรรมของวัดป่าวชิรบรรพต อยู่ภายในพื้นที่วัดใกล้กับภูเขา ด้านหน้าและด้านหลังยังเป็นเนินป่าขนาดไม่สูงมากนักทำให้เหมือนมีวิวสีเขียวโอบล้อมอยู่ถึง 3 ด้าน บ่อน้ำที่เห็นถูกขุดขึ้นมาเพื่อให้กักเก็บน้ำใช้สอยภายในวัด

คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกผู้ออกแบบแห่ง Walllasia เล่าให้เราฟังถึงงานโครงการนี้ว่า “จริงๆ ผมเป็นลูกศิษย์ของวัดนี้อยู่แล้วราว 15 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีออกแบบอาคารหลังหนึ่งของทางวัดมาก่อน ภายหลังมีคนมาปฏิบัติธรรมเยอะขึ้นเรื่อยๆ ท่านเจ้าอาวาสก็เลยมีไอเดียที่จะมาทำตรงนี้ ใช้เวลาออกแบบราว 5 ปีนะ เพราะเปลี่ยนโลเคชั่นไปหลายที่มาก บ่อน้ำด้านหน้านี่ก็ต้องขุดด้วยเพราะแต่ก่อนนี้วัดไม่มีน้ำของตัวเองใช้ เคยเขียนแบบหลายตัวที่จะทำอาคารหลังนี้ ตั้งแต่เป็นเหล็ก อยู่ในน้ำ อยู่บนบก ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา แต่โจทย์หลักคือต้องมี 100 ห้อง ฉะนั้นจึงต้องสูง 4 ชั้น ซึ่งผมว่ามันสูงเกินไป แต่ด้วยความยาวตึกที่ 150 เมตรมันยาวมาก เวลามองมามันจะไปบังภูเขา สุดท้ายเราก็มาวางอาคารตรงนี้”

ซึ่งเป็นการวางอาคารไว้ให้เป็นเส้นสายตาไปสู่ภูเขา มีระดับต่ำกว่าเนินดินด้านหน้าเล็กน้อย พร้อมมีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า การวางผังได้ถูกคิดจากช่องเปิดภายในเป็นหลัก ตั้งแต่หินก้อนใหญ่ตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่เดิมถูกครอบด้วยกล่องอาคารที่บรรจุการใช้งานของชั้น 2-4 ส่วนชั้นล่างเป็นลานโล่งอเนกประสงค์ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของทางวัด ช่องว่างเปิดโล่งทั้งด้านบนเพดานหลังคา ด้านข้างที่เป็นคอร์ตทั้ง 2 คอร์ตในทุกชั้น ถูกเปิดมารับแสง ลม และวิวธรรมชาติอย่างงดงาม

วัดป่าวชิรบรรพต สถานปฏิบัติธรรม อาคารปูนเปลือย
ช่องเปิดภายในอาคาร เป็นลานโปร่งโล่งเสมือนกรอบที่สดชื่นท่ามกลางความสงบนิ่งของอาคาร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่รับแสงและลม ช่วยให้อาคารมีการไหลเวียนของอากาศที่ดี ชายคาใหญ่เป็นผืนน้ำช่วยลดอุณหภูมิลงได้ด้วย
วัดป่าวชิรบรรพต สถานปฏิบัติธรรม อาคารปูนเปลือย
ทุกองค์ประกอบของอาคารปฏิบัติธรรมแห่งนี้แม้จะดูเรียบง่ายแต่ก็ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดี เสาด้านนอกไม่ทาสีเพื่อเชื่อมบรรยากาศแบบภายนอกมาไว้ภายใน ปูนสีขาวเน้นฉาบเนี๊ยบสร้างความสงบให้กับพื้นที่ ชายคาเป็นพื้นน้ำส่วนสะท้อนวิวเข้ามาและยังสร้างริ้วความเคลื่อนไหวของน้ำไปยังบนเพดานอีกด้วย
วัดป่าวชิรบรรพต
ผังของอาคารถูกกำหนดให้มีช่องเปิดจากตำแหน่งของหินก้อนหินที่อยู่ในพื้นที่เป็นกล่องครอบเอาไว้ ที่เห็นถัดเข้าไปเป็นสุดทางเดินของชั้น 2 ออกแบบราวกันตกให้ดูเบา เหมือนแผ่นสีขาวลลอยอยู่บนอากาศ
วัดป่าวชิรบรรพต สถานปฏิบัติธรรม อาคารปูนเปลือย
จากมุมนี้จะเห็นเสาบางส่วนทำเป็นย่อมุม โดยคุณสุริยะได้แรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศของโบสถ์และเจดีย์ในวัด

ทางเดินในอาคารออกแบบให้มีขนาดกว้างถึง 4 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการก่อสร้างในพื้นที่และประหยัดในเรื่องราคา โครงสร้างจึงเป็นงานคอนกรีต เป็นเสา พื้นแบบ Post-tension และงานก่ออิฐมวลเบา ตามทักษะของช่างในพื้นที่ที่คุ้นเคย ขนาดความกว้างก็ใช้ตามพิกัดปกติของวัสดุ แต่คุณสุริยะได้เลือกว่าจุดใดของงานควรจะเก็บให้เนี๊ยบหรือส่วนใดควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของวัสดุ อาทิ เสาต้นด้านนอกเลือกที่ไม่ทาสีขาว ขณะที่เสาต้นอื่นและการตกแต่งด้านในเป็นสีขาวสะอาดตา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงธรรมชาติภายนอกและหินสีเทาที่อาคารครอบไว้ ให้ดูเป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของความเป็นวัดที่ถูกนำมาแฝงไว้ในอาคาร ได้แก่การทำเสาสูงและย่อมุมแบบเจดีย์ในเสาส่วนด้านหน้า ให้บรรยากาศเสมือนการเดินอยู่ในโบสถ์ ลูกเล่นการกรีดเพดานและพื้นคอนกรีตให้เป็นเส้นผังตามแบบแปลนของวัดโบราณ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาษาที่สื่อสารอยู่ในความน้อยแต่มากในกระบวนการคิด เช่นเดียวกับการกำหนดมุมมองให้พอเหมาะพอดีด้วยช่องเปิดต่างๆ ฉากท้องฟ้าและภูเขาสีเขียวขจีซึ่งสะท้อนบนชายคาผืนน้ำจึงมิใช่แค่เป็นภาพที่กระทบสายตาแต่เพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดซึ่งเชื่อมโยงตัวตนของคน อาคาร และธรรมชาติ ให้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วย

วัดป่าวชิรบรรพต สถานปฏิบัติธรรม อาคารปูนเปลือย
ทางเดินตรงกลางอาคารชั้น 3 มีช่องแสงต่อลงมาจากชั้น 4 เป็นระยะๆ ระนาบต่างๆ มีการจัดจังหวะให้เหมาะสมด้วยความเรียบง่าย ปลายอาคารเปิดเป็นช่องแสง ทำให้ไม่ดูทึบตัน
เพดานเปิดจากหลังคาวางในตำแหน่งให้ตรงกับก้อนหินด้านล่างและช่องเปิดด้านหน้ารับวิวของอาคาร ทำให้ผู้อยู่ภายในรับรู้ความเป็นธรรมชาติภายนอกได้อย่างปลอดโปร่ง
มุมมองจากป่าอีกด้านกลับไปยังอาคาร สถาปนิกกล่าวว่าอาคารนี้ไม่ได้มีหน้าตา ทั้งหมดถูกคิดจากการใช้งานเป็นหลัก
วัดป่าวชิรบรรพต
บันไดคอนกรีตไม่ได้วางชิดติดผนัง แต่มีเว้นไว้เป็นช่องแสงให้ทะลุมาจากด้านบน จากจุดนี้จะเห็นพื้นคอนกรีตที่ถูกกรีดเป็นเส้นได้ชัดเจน ซึ่งเส้นสายนี้มาจากแปลนวัดโบราณ
วัดป่าวชิรบรรพต
ภายในห้องพักของผู้มาปฏิบัติธรรมประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น
วัดป่าวชิรบรรพต
บรรยากาศยามพลบค่ำเมื่อเปิดไฟบริเวณชั้น 2 ไฟถูกวางไว้ด้านล่าง ให้บรรยากาศแบบตะเกียง หรือจะเลือกเปิดไฟติดผนังด้านบนก็ได้
วัดป่าวชิรบรรพต
แสงภายในช่วงหัวค่ำ มีการฝังไฟเอาไว้ตรงชายคาที่เป็นพื้นน้ำให้บรรยากาศสวยงามไปอีกแบบ
วัดป่าวชิรบรรพต
บนหลังคาของอาคาร เมื่อมองออกไปจะสามารถเห็นตัวเมืองชลบุรีที่อยู่ด้านล่างถัดออกไปได้ไม่ไกลนัก

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์แห่ง WALLLASIA ผู้มีทางเดินของการทำงานที่ไม่เหมือนใคร

เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข