“ร้านเรามีคำว่า Normal อยากทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่เราจะใช้ชีวิตแบบ Zero Waste การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฟังดูยากใช่ไหมแต่มันง่ายนะ เพราะเรามองคำว่า “สิ่งแวดล้อม” นั้นหมายถึง “คน” คนเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็คือการเป็นมิตรกับคน” Normal Shop
Normal Shop : zero waste community ไลฟ์สไตล์ช้อปที่เป็นเหมือนกับ one stop service ของคนสายเขียว สไตล์แบบไร้ขยะบนถนนนางลิ้นจี่ ถนนสองเลนบรรยากาศเย็น ๆ ที่ยังถูกเงาต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่เป็นระยะ คุณต้อง-กรวรรณ คันโธ ตัดสินใจเปิดร้านที่เน้นเรื่อง Zero Waste เป็นสาขาที่ 2 หลังเปิดสาขาแรกที่เชียงใหม่
“ทำตัวให้กลมกลืน”
ตึกแถวหน้ากว้าง 3 เมตร ดูสว่างด้วยการเลือกใช้สีขาวทากรอบประตู กรอบหน้าต่าง กระจกใสบานโตทำให้บรรยากาศด้านในและด้านนอกเชื่อมต่อกันได้แบบไม่สะดุด ช่วงสายจนถึงบ่ายแก่ ๆ ของวัน แสงแดดที่รอดผ่านต้นไม้ริมทางพาดผ่านลงมาเป็นดวงกลม ๆ วิ่งไป วิ่งมาอย่างอิสระอยู่ในร้าน เกิดเป็นการแสดงชุดเล็กของธรรมชาติ
“ ตอนแรกที่เปิดร้าน ตรงนี้คนก็ยังงง ๆ สรุปร้านนี้ขายอะไร ใช่ร้านกาแฟหรือเปล่า ร้านลักษณะนี้ในบ้านเราก็ยังไม่แพร่หลายนัก เรารู้สึกดีนะที่มีคนผลักประตูเข้ามาถาม มันก็สะท้อนว่าร้านเราดูเป็นมิตรพอให้คนที่ไม่รู้จักเข้ามาคุยแบบไม่เกร็ง สิ่งที่เราตั้งใจไว้ก็คือการทำให้ร้านดูอ่อนน้อมกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ”
ภายในร้านมีมุมเติมน้ำยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเรียงกันยาวจนสุดผนัง โดยวางแยกเป็นหมวดหมู่ทั้งแชมพู สบู่ ครีมนวด น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้าหลากหลายสูตร โดยนำขวดมาเติมน้ำยาที่ต้องการ ในปริมาณที่ต้องการ แล้วนำไปชั่งน้ำหนัก คิดราคาเป็นตามน้ำหนัก โดยน้ำยาทุกสูตรเป็นสูตรธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน ปรุงสูตรให้ลดการใช้สารเคมี ปลอดภัยสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีโซนบำรุงผิว ของใช้เล็ก ๆ ยาสีฟันแบบเม็ด สำลีแบบซักได้ แปรงสีฟัน ชุดช้อนส้อม กล่องข้าว หลอดแบบใช้ซ้ำรูปแบบต่าง ๆ เย้ายวนให้นำกลับบ้านไปเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม
“ชีวิตที่เรียบง่าย คือชีวิตที่เราใช้อย่างเป็นธรรมชาติ”
ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง แม้จะมาจากจุดเล็ก ๆ ก็มีผลกระทบต่อภาพรวมในวงกว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยแรงจากมือคนหนึ่งคนอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ แต่หากเราแค่เพียงเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง ก็เป็นเหมือนกับการสร้างแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมได้
“ เมื่อก่อนเราก็ใช้ชีวิตปกติ ก็ไม่ได้สนใจเรื่อง Zero Waste เท่าไหร่ กินอยู่แบบทั่ว ๆ ไป มีกระเป๋าหลายใบ ซื้อเสื้อผ้าบ่อย จนมีลูกก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องแนวทางการศึกษาให้เขา จนไปเจอโรงเรียนที่มีแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ ( Waldorf – การศึกษาที่มีรากฐานมาจากมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) เน้นเรื่องการพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ) สำหรับเราการเลี้ยงลูกมันไม่ใช่แค่การส่งเขาไปโรงเรียนแล้วก็จบ เรื่องสภาพแวดล้อมหลังก้าวเท้าออกจากโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เรากลับมาปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เข้ากับการสอนที่โรงเรียน กลายเป็นว่าคนที่ปรับและเรียนรู้เรื่องนี้เยอะมาก ๆ กลับกลายตัวเราเอง โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากการแยกขยะ แล้วก็ค่อย ๆ ลดการใช้ข้าวของที่ไม่จำเป็นก่อนเลย กลับมายืนมองของที่บ้าน พวกเสื้อผ้ากระเป๋ามันจำเป็นต้องมีหลายใบไหมนะ ? ต้องซื้อเสื้อผ้าบ่อยขนาดนั้นเลยหรอ ? ตั้งคำถามกับมันมาเรื่อง ๆ พอพักหลัง ๆ การซื้อของของเราแต่ละครั้ง ก็ต้องคิดให้เยอะขึ้น ซื้อเท่าที่ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น สำหรับลูก เราเริ่มประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ให้ลูกใช้ ตั้งแต่เย็บเสื้อผ้าให้ ของเล่นก็ประดิษฐ์เอง มันเป็นการฝึกให้เขารักและผูกพันกับข้าวของที่เขาได้มา ”
“ รู้จักฉัน รู้จักเธอ ”
นอกจากการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single – Use Plastic) ที่สร้างขยะจำนวนมหาศาลให้กับโลกแล้ว สิ่งของที่ดูจะสวยงามอย่าง เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หากย้อนกลับไปในอุตสากรรมของการผลิต กลับกลายเป็นหนังคนละม้วนกับความสวยงามที่เราได้รับที่ปลายทาง ทั้งการใช้น้ำจำนวนมาก การปล่อยปละละเลยต่อกระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ อีกทั้งยังมีสารเคมีที่เป็นตัวช่วยให้ต้นฝ้ายออกผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทุก ๆ ขั้นตอนต่างก็ส่งผลทำให้สภาพแวดล้อมทั้งดินและน้ำในบริเวณนั้นแย่ลงทั้งสิ้น มันน่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าหากของที่เราเสียเงินแลกมันมา ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับสิ่งที่อยู่ข้างหลัง การรู้ถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตซึ่งสิ่งของชิ้นนั้นอย่างทะลุปรุโปร่งนั้นคุ้มค่ากับมูลค่าที่เราได้ให้ไป
ชั้นสำหรับวางน้ำยาถูกออกแบบมาให้สามารถถอด และปรับเปลี่ยนรูปแบบ สามารถเพิ่ม-ลดชั้นวางได้อย่างอิสระ ความกว้างของแต่ละช่องถูกคำนวณจากพื้นที่การวางแบบพอดิบพอดี ไม่มีเศษของพื้นที่เหลือ สั่งตัดไม้จากโรงงานมาเป็นแผ่น ๆ แล้วค่อยนำมาประกอบหน้าง่าย ลดปริมาณขยะจากขั้นตอนการห่อและมลพิษจากการขนส่ง
“ ของที่เลือกนำมาไว้ในร้าน เริ่มต้นจากของที่เราและเพื่อน ๆ ใช้กันอยู่แล้วเป็นประจำ ต่อมาก็เริ่มเพิ่มน้ำยาสูตรนู้น สูตรนี้เข้ามาเรื่อย ๆ โดยเน้นหนักไปที่ต้องเป็นของที่ผลิตในบ้านเรา น้ำยาในร้านเราจึงเป็นน้ำยาจากฝีมือของคุณแม่ คุณป้าจากวิสาหกิจชุมชน มั่นใจได้เลยว่ามูลค่าที่ได้จ่ายไป มันก็กลับไปหมุนให้ชุมชนมีรายได้ มีแรงขับเคลื่อนต่อไป ”
“ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”
“ เราไม่ยัดเยียดหรือตีค่าว่าอะไรดี อะไรไม่ดี คุณสามารถถือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single – Use Plastic) เข้ามาในร้านเราได้เลย หน้าที่ของเราคือพยายามสื่อสารให้เขารู้สึกดีกับแนวทางแบบนี้ โดยเสนอทางเลือกกับเขา พอเขาได้รับพลังงานดี ๆ จากเราไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเขาก็จะเปลี่ยนในแบบของเขาเอง การปรับตัวมันเป็นเรื่องยากนะ แต่มันทำได้ สมัยก่อนเราก็หักดิบเลย แต่พอทำไปพักหนึ่งก็เริ่มท้อ วันนี้ยังทำอยู่ อีกวันก็ไม่เอาแล้ว กลับไป กลับมาอยู่แบบนี้ จนเกิดคำถามว่า แล้วทางที่มันจะยั่งยืนคืออะไร จนได้มาเปิดร้านนี้ เราว่าเติมเต็มตัวเราและกลุ่มเพื่อนรอบ ๆ ตัว เราอยากให้กำลังใจคนที่กำลังเปลี่ยนแปลงมาเป็น Zero Waste อีกอย่างคือเราอยากให้ลูกได้เติบโตมาในสังคมและบรรยากาศแบบนี้ ”
ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ ยืนอยู่เป็นยอดที่สุดบนโลกใบนี้ เราทุกคนต่างเป็นตัวละครที่เดินทางเป็นวงกลม อยู่บนดาวเคราะห์ที่น่าอยู่ดวงนี้ มีคนเคยบอกว่าการกระทำของเราเหมือนการ ” เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว “ ขยายความได้ถึง ทฤษฏีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) นั่นคือการทำลายธรรมชาติแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถส่งผลกระทบต่อโลกของเราได้ ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากตัวเรา ก็ส่งผลดีต่อโลกของเราได้เช่นกันค่ะ
Normal Shop : zero waste community
ที่ตั้ง : อยู่ระหว่างซอยนางลิ้นจี่ 3 และ 5 ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์ – วันศุกร์ 9.00 – 18.00
วันเสาร์ – วันอาทิตย์ 10.00 – 18.00
Story : ออ – ร – ญา
Photo : ศุภกร ศรีสกุล