อีกฝั่งในส่วนของห้องครัว เลือกใช้สีแดงและสีเขียว ซึ่งเป็นสีที่พบเห็นเป็นเอกลักษณ์จากองค์ประกอบงานตกแต่งของบ้านแบบบาบ๋า-ย่าหยา โดยเลือกมาใช้ทาเป็นสีผนังบางส่วน ในส่วนของเสากับคานไม้ที่ใช้แบ่งกรอบเพดานยังทำหน้าที่เป็นรางเดินสายไฟและท่อต่าง ๆ ในขณะที่บันไดที่นำขึ้นไปสู่ชั้นห้องพักมีรายละเอียดเรียบง่าย หัวเสาตัดเป็นทรงหกเหลี่ยม ราวจับและระแนงเป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาตามแบบบันไดบ้านไม้ท้องถิ่น
เรื่อยไปจนถึงส่วนของผนังที่ติดกับระเบียงบันได ทำเป็นฝาไหลหรือฝาบ้านไม้สองชั้น เจาะช่องสลับกันที่เลื่อนปิดเปิดเป็นช่องแสงช่องลมได้เมื่อต้องการ ผนังทางเดินเข้าห้องพักทั้งสองข้างจัดแสดงภาพข้อมูลวัฒนธรรมและความเชื่อในท้องถิ่นแทรกกับป้ายบอกเลขห้องพัก
ภายในห้องพักใช้องค์ประกอบการตกแต่งและเครื่องเรือนที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านท้องถิ่น เช่น การใช้พื้นหินขัดกรอบด้วยโลหะ ผนังไม้มีคิ้วตกแต่ง ระแนงเหล็กใช้กับกรอบหน้าต่าง มือจับและกลอนประตูที่ใช้การล็อคขัดไม้ รูปแบบของเตียงสี่เสา และอ่างดินเผาลวดลายวาดมือ
อีกหนึ่งภูมิปัญญาที่ถูกนำมาใช้คือการถนอมเนื้อไม้แบบโบราณ คือการใช้น้ำมันเครื่องมาย้อมเนื้อไม้ธรรมชาติ ช่วยให้ได้ผนังอาคารสีดำเต็มแผงดูเข้มขรึม ทั้งนี้ยังเป็นแผงที่ใช้ปกปิดท่องานระบบต่าง ๆ ที่ตั้งใจเดินออกนอกอาคารเพื่อลดการเสียพื้นที่ความสูงระหว่างชั้นอีกด้วย
ที่นี่จึงเป็นผลลัพธ์ของความภาคภูมิใจในการส่งต่อวัฒนธรรมในฐานะบาบ๋า-ย่าหย๋า และสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ โดยมีอาคารสถาปัตยกรรมเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว พร้อม ๆ ไปกับการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยววิถีชุมชน และการให้ประสบการณ์ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเจ้าของที่จะคอยให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยตนเอง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนตะกั่วป่าได้ทางตรง จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
เจ้าของโครงการ : ครอบครัวอนุศาสนนันท์
ผู้ออกแบบ : Studio Locomotive
เรียบเรียง : Woofverine
ภาพ : Beer Singnoi