NIRAN APARTMENT “นิรันดร์” อพาร์ตเมนต์ติดถนนทรงพล ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เกิดจากความตั้งใจของคุณเฟิด-คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ หรือ “เฟิด Slot Machine” และน้องสาว คุณเฟิร์น-นิรินทร์ษฬา ดุรงค์จิรกานต์ ที่อยากให้งานศิลปะเข้ามาแทรกซึมอยู่ใกล้ตัว ด้วยการสร้างหมุดหมายใหม่ให้ชุมชนบ้านเกิด และจังหวัดนครปฐมไม่เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ผ่านการออกแบบสถานที่เเบบมัลติฟังก์ชัน ควบรวมสองพื้นที่ใช้งานซึ่งไม่น่ามาจับคู่กันได้ ให้กลายเป็น “หอพักกึ่งอาร์ตมิวเซียม” บรรยากาศสีขาวสะอาดตา เเต่ทว่าเท่สุดล้ำเหนือคำบรรยาย
NIRAN APARTMENT มีที่มาจากแรงบันดาลใจระหว่างการได้ออกไปท่องโลกและเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในยุโรปของคุณเฟิด ประกอบกับการได้ใช้ช่วงชีวิตหนึ่งเรียนต่อปริญญาอีกใบที่มิลานของคุณเฟิร์น กลายเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองพี่น้องกลับมาปลุกพลังศิลป์ในชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิด ดังคำที่คุณเฟิดบอกว่า “อยากทำที่ที่คนมาเสพงานศิลปะได้ และเป็นที่พักอาศัยด้วย”
ถอดบทสนทนาจาก เฟิด Slot Machine นักร้องเจ้าของหอพักที่อยากให้ผู้อาศัยอยู่สุขนิรันดร์
“เมื่อก่อนครอบครัวเราทำธุรกิจปั๊มน้ำมันที่ใครชอบเรียกกันติดปากว่าปั๊มน้ำมันหน้ามอ (ศิลปากร) เมื่อเศรษฐกิจเริ่มซบเซา คุณพ่อคุณแม่เลยติดสินใจเลิกกิจการ ประกอบกับจังหวะที่น้องสาวเรียนจบกลับมาจากมิลาน ก็เลยตัดสินใจสร้างนิรันดร์ขึ้นมา”
“นิรันดร์ เป็นชื่อที่ผมเคยนำไปตั้งเป็นชื่อเพลงของ Slot Machine แต่ที่เลือกใช้เพราะพ่อแม่ ครอบครัวของเราชอบคำนี้ มันนิ่ง ๆ แต่เราก็บอกว่า ชื่อนี้มีคนใช้เยอะนะ ไม่ใหม่นะ อาจจะมีกลิ่นเก่า ๆ เป็นคำเชย ๆ ด้วยซ้ำ แต่เป็นคำที่มีความหมาย ทำนองว่าอยากให้คนมาอยู่แล้วมีความสงบสุขเป็นนิรันดร์ มีความสบายใจ ห้องพักที่นี่จะให้เป็นความรู้สึกเหมือนการอยู่คอนโด ฯ อยู่โรงแรม เพื่อให้คนที่เข้ามาพักอาศัยรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน หรือรู้สึกว่าห้องนี้เป็นห้องของเขาจริง ๆ ไม่ใช่เพียงมาอยู่ชั่วคราว เหมือนความรู้สึกของเราตอนอยู่คอนโดฯ ตอนเราเคยเป็นเด็กหอช่วงไปเรียนที่กรุงเทพฯ เราจึงคิดว่าน่าจะดีถ้าได้ผสมผสานทุกสิ่งรวมกัน”
“ภาพลักษณ์แรกที่เราอยากให้คนเข้ามาเห็นคือ ห้องโถง ตอนแรกเราอยากทำเป็นอีเว้นต์ปาร์ค มีพื้นที่สีเขียว แต่เราทำไม่ได้ (หัวเราะ) เลยกลายมาเป็นลานโล่งที่คนเข้ามา เหมือนได้มาเห็นยานแม่รูปทรงสามเหลี่ยมที่ค่อย ๆ สูงขึ้นไป”
“ส่วนห้องพักนั้น เราก็เลือกจากการถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเราเราจะต้องการห้องพักแบบไหน คำตอบคือเราก็ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง โดยแบ่งขนาดเป็น 3 รูปแบบ S M L อย่างตัวผมก็มีความสันโดษเหมือนกัน เป็นคนอยู่ติดห้อง อยากอยู่คนเดียว แต่น้องเป็นคนเพื่อนเยอะ ก็คงอยากมีการสร้างคอมมูนิตี้ หรือมีคนมาจอย มาอยู่เป็นเพื่อน ก็จะผสมผสานระหว่างผมกับน้อง”
ในอนาคตอันใกล้ นิรันดร์จะเปิดให้ร้านค้า คาเฟ่ และร้านอาหารได้มาเช่าพื้นที่รอบโถงอาคาร นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้พื้นที่ส่วนกลางของอาคารที่เป็นลานโล่งกว้าง กลายเป็นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ หรือธีสิสของนักศึกษา รวมถึงตลาดนัดงานศิลปะที่จัดขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในละแวกชุมชน และนักศึกษาได้มาช่วยกันขับเคลื่อนให้นครปฐมเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่มีศิลปะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
“การที่คนจะเสพงานศิลป์ คุณต้องพาตัวเองไป หรือตั้งใจไป แต่ที่ตรงนี้เหมือนผมเป็นฝ่ายพางานศิลปะมาให้ นำมาตั้งอยู่ตรงนี้ ในที่ที่มีคนอยู่อาศัย ใกล้ชุมชน ใกล้มหาวิทยาลัย ต่อไปเมื่อมีร้านอาหาร คุณคงไม่สามารถเดินหลับตามากินข้าวได้ใช่ไหม ฉะนั้นแม้ผมจะเข้าใจว่าธรรมชาติของคน เช่น อย่างผมเองถ้าไม่ชอบอะไรก็คงไม่สนใจ แต่ผมก็คิดว่าถ้าได้ผ่านตาบ้าง อย่างน้อยเดินผ่านงานศิลปะไปเข้าห้องน้ำ แล้วรู้สึกบางอย่างกับงานนั้นก็คงดี เหมือนว่าเราค่อย ๆ สอดแทรกศิลปะเข้าไปทีละน้อย”
เจาะแนวคิด คุณปูน-ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบหอพักให้เป็นนิรันดร์
สิ่งใดที่เจ้าของกับสถาปนิกเห็นพ้องต้องกันในการออกแบบอาคารหลังนี้ จนนำมาสู่รูปแบบของอาคารที่เห็นในปัจจุบัน
“เรื่องของการสร้างอาคารและพื้นที่ว่างบางอย่างที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษามหาวิทยาศิลปกร และชาวนครปฐม ทั้งในแง่ของการพักอาศัยในรูปแบบหอพักที่พักได้จริง เหมือนอยู่บ้าน หรือคอนโด มิเนียม รวมถึงการมีพื้นที่ที่สามารถกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนนครปฐม รวมถึงมีอัตลักษณ์โดดเด่นมากพอจะทำให้นครปฐมไม่เป็นแค่เมืองทางผ่านอีกต่อไป”
ลักษณะของพื้นที่และบริบทที่ตั้งซึ่งล้อมไว้ด้วยตึกแถวด้านหน้า และบ้านเรือนทางด้านหลัง มีผลกับการออกแบบอาคารหลังนี้อย่างไรบ้าง
“จากบริบทรอบ ๆ ที่ตั้ง ถือว่าเป็นที่ตั้งที่มีทำเลที่ค่อนข้างเหมาะแก่การสร้างอาคารที่มีการใข้สอยประเภทพักอาศัยรวมจำพวกอพาร์ตเมนต์ หรือหอพักนักศึกษามาก เพราะอาคารจะมีความเป็นส่วนตัวแยกออกมาจากถนนใหญ่ แถมยังไม่ไกลจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปกร แต่อย่างไรก็ดีการจัดการกับความเป็นส่วนตัวของบ้านของเจ้าของโครงการด้านใน และการมองเห็นจากภายนอก (ถนนใหญ่) ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย เป็นโจทย์ที่ต้องใช้การออกแบบมาช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น การใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางอย่าง ที่ช่วยนำสายตาในเชิงจิตวิทยา ให้ต้องแหงนมองขึ้นไปมากกว่าจะมองลงไปยังบ้านด้านหลัง เป็นต้น”
แนวคิดในการออกแบบโถงอาคารของนิรันดร์ เกี่ยวโยงกับถิ่นที่ตั้งในจังหวัดนครปฐมหรือไม่ และในมุมมองของสถาปนิกมองว่างานออกแบบอาคารจำเป็นไหมที่จะต้องมีจุดเชื่อมโยงบางอย่างกับบริบท เช่น สัญลักษณ์ของจังหวัดนครปฐมอย่าง องค์พระปฐมเจดีย์
“ถ้าจะออกแบบอาคารเพื่อสาธารณะ นักออกแบบที่ดีควรเข้าใจสาธารณะ ในที่นี้ก็คือชุมชนชาวนครปฐม รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปกร ที่เราต้องเข้าใจทั้งในด้านกายภาพ ความต้องการพื้นฐานของบุคคล รวมถึงความต้องการทางสังคม การอยู่ร่วมกันของชุมชนที่กอปรเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม เป็นบริบทของจังหวัดนครปฐมที่มีองด์พระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กลาง การออกแบบนิรันดร์ ได้เเสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจทั้งในเชิงสัญญะของรูปทรงองค์พระปฐมเจดีย์อันโดดเด่น โดยนำมาประยุกต์เเบบอุปมาอุปไมย กลายเป็นพื้นที่ว่างหรือเอเทรี่ยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และในเชิงฟังก์ชันที่นี่เปรียบเสมือนลานกิจกรรม เป็นศูนย์รวมของคนเช่นเดียวกันกับตัว ‘องค์พระ’ ของคนนครปฐมเช่นเดียวกัน”
โครงสร้างเหล็กทำสีขาวในโถงอาคาร ทั้งช่องของตารางที่มีขนาดต่างกัน และหยักไปมาเหมือนคลื่นนั้นมีที่มาอย่างไร
“หน้าที่หลักโดยฟังก์ชันของโครงเหล็กสีขาวคือ ทำหน้าที่เป็นแผงกันตกในทุก ๆ ชั้น เนื่องจากโถงเอเทรี่ยมตรงกลางเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแบบเจดีย์ ทำให้ผนังในแต่ละชั้นมีลักษณะลาดออก เมื่อผู้ใช้อาคารอยู่ที่โถงทางเดินหน้าห้องพักในแต่ละชั้นจะรู้สึกเหมือนถูกสะกดให้มองลงมาที่ลานกิจกรรมด้านล่างโดยอัตโนมัติ นั่นเองจึงทำให้มีการทำช่องเปิดในแต่ละชั้น เพื่อให้ผู้ใช้อาคารเป็นกลุ่มสามารถมองลงมาด้านล่างได้อย่างสะดวกและควบคุมบริเวณได้ กลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นเเละมีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น
“โดยช่องเปิดขนาดต่าง ๆ นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนโปรแกรมทางสถาปัตยกรรมเพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลเองโดยอัตโนมัติ (SCRIPT) ตามสมการที่ตั้งไว้ ซึ่งสมการดังกล่าวในที่นี้ก็คือ โมดูลตะแกรงเหล็กพับจะมีขนาดเล็กและถี่เมื่อตำแหน่งของตัวมันเองอยู่ใกล้กับช่องเปิด เพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยมั่นใจในจุดที่คนยืนอยู่ และขนาดที่ใหญ่ของตาตะแกรงที่ห่างขึ้น เมื่ออยู่ห่างจากช่องเปิดยังช่วยเปิดมุมมองได้มากกว่าเมื่อเดินอยู่ที่ทางเดิน
“เทคนิคดังกล่าวเรียกว่า สมการแรงดึงดูด (ATTRACTOR) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงตัวแปร (PARAMETRIC ARCHITECTURE)”
แนวคิดหรือวิธีการออกแบบห้องพักขนาด S M L โดยการวางแปลน หรือเลย์เอ๊าต์ของห้องให้เหมาะกับเด็กหอ หรือผู้ที่จะมาอาศัย จำนวนหลาย ๆ คนพร้อมกันในห้องเดียวอย่างไรให้อยู่สบาย ไม่รู้สึกอึดอัด
“การออกแบบห้องทั้ง 3 แบบ คำนึงอยู่สองส่วนที่สวนทางกัน ก็คือการใช้งานที่ดีเสมือนอยู่บ้าน หรืออยู่คอนโดฯ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำกำไรและได้จำนวนห้องที่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ห้องขนาดเล็ก 25 ตารางเมตร ที่เป็นทรงผอมและยาว เป็นห้องที่สามารถทำจำนวน มียูนิตสำหรับให้เช่าจำนวนมาก แต่ยังสามารถจัดพื้นที่ใช้สอยและเทคนิคทางการตกแต่งภายในที่ทำให้ดูไม่อึดอัด พร้อมฟังก์ชันการใช้สอยที่สะดวกสบายเป็นสัดส่วน
“ห้องแบบสองห้องนอน ก็เป็นอีกห้องที่ขายดีที่สุด ซึ่งห้องนี้เป็นการเจาะตลาด (เดิม) แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เด็กหอจำนวนไม่น้อยที่อยู่กับรูมเมท หอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงจุดนี้ อย่างมากก็ทำห้องให้ใหญ่เพื่อวางเตียงได้สองเตียง แต่การออกแบบที่นิรันดร์มองให้เป็นการมีห้องนอนสองห้องนอนแยกกัน ให้ความเป็นส่วนตัวไปเลย และมีส่วนกลางนั่งกินข้าว ทำการบ้าน เเละทำงานร่วมกันได้”
เรื่อง: นวภัทร
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์: พระจันทร์ดวงโบราณ
NIRAN.APARTMENT
ที่ตั้ง: 119/24 ถนนทรงพล ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม
เจ้าของ : บริษัท ดุรงค์จิรการณ์รุ่งเรือง จำกัด
ออกแบบสถาปัตยกรรม-ตกแต่งภายใน-งานวิ
ข้อมูลโครงการ
พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7400 ตร.ม.
แบ่งเป็นห้องพัก 3 ขนาด
S = 28 ตร.ม. จำนวน 28 ห้อง
M = 38 ตร.ม. จำนวน 33 ห้อง
L = 53 ตร.ม. จำนวน 9 ห้อง
พื้นที่พลาซ่าชั้น 2 และ SHOP = 1000 ตร.ม.
จอดรถภายในตึก 32 คัน