นอกเหนือไปจากสเปซและฟังก์ชันการใช้งานที่ดี เอื้อให้ที่พัก โฮสเทล และโรงแรมแต่ละที่น่านอนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละที่ที่เราจะเลือกเข้าพักนั้น เราดูรูปลักษณ์ภายนอกเป็นอันดับแรก และสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ก่อนสิ่งอื่นใด นั่นก็คือ “ ฟาซาด ” หรือ “เปลือกอาคาร”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: A Millimetre
โฮสเทลหลาย ๆ แห่งจึงเลือกให้ความสำคัญกับ ฟาซาด เพื่อสร้างรูปลักษณ์อาคารให้น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัว พรางงานระบบต่าง ๆ ที่ไม่น่ามองไปในตัว room จึงรวบรวมที่พักที่มีการคำนึงถึงการออกแบบฟาซาด ตอนที่ 2 มาใช้ชมกันอย่างจุใจ
ย้อนดู 5 ที่พักฟาซาดเด็ด ตอนที่ 1 ได้ที่นี่
ย้อนดู 5 ที่พักฟาซาดเด็ด ตอนที่ 2 ได้ที่นี่
01 | SAMSEN THE STREET
สถาปนิกหยิบ “นั่งร้าน” อุปกรณ์ชิ้นสำคัญในงานก่อสร้าง และเป็นหน้ากากของงานสถาปัตยกรรมที่เราเห็นกันจนชินตาในเมืองไทย มาใช้เป็นพระเอกคนสำคัญของงานออกแบบ ผนวกรวมกับแนวคิดตั้งต้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานจากที่เคยซ่อนกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ภายในอาคารแบบปิด ครั้งนี้สถาปนิกพยายาม ‘ตลบ’ พื้นที่ปิดซ่อนให้เปิดออกสู่สาธารณชนและชุมชนที่อยู่รายรอบ เพื่อใช้งานสถาปัตยกรรมสร้างกิจกรรมทางสังคม (Social Activities) ให้เกิดขึ้นในย่านสามเสนสถานที่ตั้งของโรงแรม
โดยมีนั่งร้านเปรียบดังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรม คอยทำหน้าที่แสดงบุคลิกของโรงแรม เป็นลูกเล่นทั้งด้านภาพลักษณ์และการใช้งาน รวมถึงบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นเมืองแบบสตรีท ๆ ของกรุงเทพฯ โดยนั่งร้านที่เห็นได้รับการออกแบบให้เรียงต่อกันแบบแนวตั้ง เพื่อใช้เป็นทั้งฟาซาดและระเบียงนั่งห้อยขาได้
ออกแบบ : CHAT Architects
02 | IRON
โรมแรมใจกลางสุขุมวิทที่โดดเด่นด้วยเปลือกอาคารที่มีเอกลักษณ์สะดุดตา เกิดจากการผสมผสานความเป็นไทยของแพตเทิร์นเหล็กดัด เข้ากับความโมเดิร์นสมัยใหม่ของลวดลายเรขาคณิต รวมถึงการเลือกใช้วัสดุอย่าง “เหล็ก” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ IR-ON Hotel โดยฟาซาดของอาคารได้แรงบันดาลใจจากลูกกรงเหล็กดัดของบ้านไทยสมัยโบราณ ผสมผสานกับการขึ้นแพตเทิร์นของโครงเหล็กรูปทรงเรขาคณิตทำสีธรรมชาติแบบสนิม และเพิ่มสวนแนวตั้ง ทำให้เกิดสมดุลระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม
โรงแรมแห่งนี้เกิดจากการรีโนเวตเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ขนาด 8 ชั้น โดยออกแบบสะท้อนผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ดูดิบเท่ด้วยการทุบโครงสร้างผนังบางส่วนทิ้ง เหลือไว้เพียงคานและเสา ทำให้เกิดสเปซที่น่าสนใจระหว่างชั้นของอาคาร
ออกแบบ : Hypothesis
03 | BUSABA AYUTTHAYA
ชุบชีวิตเรือนไทยหลังเก่าริมน้ำอายุร่วม 50 ปี ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กลายเป็นเรือนไทยร่วมสมัยในรูปแบบ CONCEPTUAL HOTEL ที่ไม่เพียงแต่จะนำเสนอความเป็นไทยผ่านทางด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตคนกับเรือนไทยดั้งเดิมผ่านฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ โดยมีโจทย์ในการคงองค์ประกอบเดิมของเรือนไทยไว้ให้ได้มากที่สุด หลังจากทำงานกันอย่างหนัก ผ่านการทดลองทั้งเรื่องของสัดส่วนและองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรือนไทย ผู้ออกแบบจึงเลือกดึงความเป็นไทยออกมาให้ร่วมสมัยผ่านฟาซาดที่นำมาครอบเรือนเดิมอีกครั้ง
รายละเอียดลวดลายที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงความเป็นไทย โดยผู้ออกแบบเลือกใช้ลวดลายของฝาปะกนที่อยู่บนผนังเรือนเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในลวดลายดั้งเดิมที่นิยมใช้กับฝาผนังเรือนไทยส่วนใหญ่ ด้วยการดึงลักษณะเส้นสายของลูกตั้ง-ลูกนอนที่วิ่งชนกันของฝาปะกนมาเรียงจังหวะใหม่ แล้วประกอบเข้ากับสัดส่วนใหม่ของเปลือกอาคารโครงสร้างเหล็กภายนอก
ออกแบบ : TIDTANG STUDIO
04 | BOXPACKER
โฮสเทลย่านเสาชิงช้าในสไตล์สแกนดิเนเวียนผสมกับองค์ประกอบความเป็นไทย อาทิ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมของงานฟาซาด หรือเปลือกอาคาร ที่เลือกใช้เหล็กฉีกทำสีขาวมาสร้างแพตเทิร์นสะดุดตา เช่นเดียวกับงานตกแต่งภายในที่สร้างความแตกต่าง ด้วยการใช้โทนสีสไตล์สแกนดิเนเวียนอันเป็นเอกลักษณ์ อย่างเฉดที่ฟ้าอ่อน และสีน้ำเงินเข้ม ไปจนถึงเฉดสีแดง มาช่วยสร้างบรรยากาศภายในให้ดูผ่อนคลายและสนุกสนานในเวลาเดียวกัน
ออกแบบ : A Millimetre
05 | PA PRANK
โฮสเทลสีดำสุดเท่ที่ตั้งอยู่ในแพร่งสรรพศาสตร์ ไม่ไกลกับเสาชิงช้า เดิมทีนั้นเป็นตึกแถวสองคูหาติดกันตามรูปแบบที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ชุมชน แต่เนื่องจากเจ้าของตั้งใจจะให้ที่นี่เป็นมากกว่าโฮลเทลปกติธรรมดา ผู้ออกแบบจึงเพิ่มฟังก์ชันของคาเฟ่ โคเวิร์กกิ้งสเปซ และพื้นที่แสดงงานศิลปะเข้ามาไว้ด้วยกันในพื้นที่เดียว แล้วแก้ปัญหาความทึบตันของตึกแถวที่แสงธรรมชาติไม่สามารถส่องถึงได้ด้วยการเปิดพื้นที่ด้านข้าง
ฟาซาดของอาคารสีเข้มขรึมนี้ดูเผิน ๆ เสมือนบานเฟี้ยมแบบโบราณที่มักพบเห็นจากบ้านในย่านนี้ นำมาดัดแปลงใช้เหล็กเป็นวัสดุหลัก ดูโมเดิร์นมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ดูเเลรักษาง่ายกว่าไม้
ออกแบบ : IDIN Architects
เรียบเรียง : Woofverine
ภาพ : แฟ้มภาพนิตยสาร room