โรงเรียนบ้านคลองบอน สถาปัตยกรรมแห่งการเรียนรู้บนเกาะยาวใหญ่ - room
โรงเรียนบ้านคลองบอน

BARN KLONG BON SCHOOL & ART SPACES

อาคารเรียน โรงเรียนบ้านคลองบอน (Barn Klong Bon School & Art Spaces) สถาปัตยกรรมแห่งการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและชุมชนมุสลิมบนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา สถานศึกษาที่ได้รับการสานฝันให้เป็นจริงโดยกลุ่มคนใจกว้างที่มุ่งหวังจะเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้ใช้งานกลับมาเป็นผลตอบแทน

โครงการไม่แสวงผลกำไรนี้ริเริ่มขึ้นโดย The Build Foundation โดยมีทีมผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects (VVA) และเหล่าพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันจน โรงเรียนบ้านคลองบอน ประสบผลสำเร็จตามความตั้งใจในวันนี้

โรงเรียนบ้านคลองบอน

ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ Vin Varavarn Architects เล่าว่า “VVA นั้นเคยร่วมมือกับ The Build Foundation มาตั้งแต่ปี 2018 ในโปรเจ็กต์โรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พวกเราเข้าไปช่วยเหลือหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยเอาอาคารเรียนจากห้องเรียนพอดีพอดี มาปรับแบบและสร้างขึ้น  ในปีนี้ทางThe Build Foundation มีความสนใจที่จะลงมาช่วยโรงเรียนทางภาคใต้บ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์นี้”

โรงเรียนบ้านคลองบอน

อาคารเรียนหลังใหม่โรงเรียนบ้านคลองบอน หมายมุ่งให้เกิดความสมดุลระหว่างขนาดพื้นที่ใช้งานกับจำนวนของนักเรียนทั้งในระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่เหมาะสำหรับการเรียนการสอนได้เต็มศักยภาพ ทั้งยังสามารถรองรับกิจกรรมด้านศิลปะสำหรับนักเรียนและชุมชน เพื่อผลักดันให้อาคารหลังนี้พัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปจากนี้

เนื่องจากตัวอาคารเรียนหลังเดิมมีสภาพทรุดโทรม และมีห้องเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มจำนวนขึ้น หลังจากลงสำรวจพื้นที่แล้ว ม.ล.วรุตม์ เล่าว่า “สิ่งที่เราคุยกันแล้วเห็นตรงกันว่าน่าสนใจ คือ โรงเรียนนี้มีคุณครูสอนศิลปะอยู่หนึ่งคน ชื่อคุณครูไข่  สอนที่นี่มากว่า 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมฯ แล้วเด็กโรงเรียนนี้ได้รับรางวัลด้านศิลปะเยอะมากทั้ง ๆ ที่โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็เลยเป็นจุดที่เรามองกันว่าอยากจะทำอาคารที่เป็นมากกว่าอาคารเรียน เราอยากเอาศิลปะมาเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะเด็กมีความสามารถพิเศษในด้านศิลปะ” 

โรงเรียนบ้านคลองบอน

ข้อคำนึงหลักในออกแบบครั้งนี้ คือความต้องการพื้นที่ใช้สอยหลักของโรงเรียนที่แบ่งย่อยออกเป็นห้องเรียน จำนวน 4 ห้อง ห้องพักครู จำนวน 1 ห้อง รวมถึงห้องสมุด ห้องน้ำ และพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมด้านศิลปะซึงจะเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเด่นสำค้ญของอาคารหลังนี้ สถาปนิกออกแบบให้พื้นที่ชั้นบนเป็นส่วนของห้องเรียนทั้ง 4 ห้องและห้องพักครู ส่วนพื้นที่ศิลปะและห้องสมุดนั้นวางแปลนให้อยู่ชั้นล่าง โดยออกแบบให้เกิดความต่อเนื่องและยืดหยุ่นในการใช้งานให้ได้มากที่สุด

โรงเรียนบ้านคลองบอน

“ตอนที่โรงเรียนให้บรีฟกับเรา เขาวาดแปลนมาให้เรียบร้อยว่าเขาอยากได้แปลนอาคารประมาณไหน ซึ่งเป็นแปลนอาคารเรียนที่ถูกแบ่งห้องออกเป็นจำนวนมาก แยกชั้น1 และ ชั้น 2 กันชัดเจน  เป็นลักษณะอาคารเรียนที่เราเห็นโดยทั่วไป เราเลยลองปรับระเบียงทางเดินชั้นสองไปอยู่ด้านหลัง และลองหมุนห้องเรียนบนชั้นสองให้หันออกมาด้านหน้า90 องศา

“สังเกตว่าห้องเรียนจะยื่นออกมาด้านหน้าเล็กน้อย ทำให้เกิดสเปซที่คล้ายกับมันถูกคว้านเป็นช่องขนาดใหญ่เว้นระยะห่างจากกัน พื้นที่ระหว่างชั้น 1 กับชั้น 2 เกิดความต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ศิลปะชั้นล่างมีดับเบิ้ลสเปซให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้มากขึ้น มีการไหลเวียนอากาศที่ดี และเหมาะกับการทำงานสร้างสรรค์”  

โรงเรียนบ้านคลองบอน

“เรามองว่าการปรับในลักษณะนี้ก็ทำให้เกิดพื้นที่การเรียนการสอนที่น่าสนใจมากขึ้น และไม่เกิดความอุดอู้ ในขณะเดียวกันการจัดวางห้องเรียนก็ยังคงเป็นไปตามความต้องการเดิมของทางโรงเรียน เพราะจากเดิมที่เขาสเก็ตช์พื้นที่มาให้ ห้องเรียนศิลปะจะแยกตัดขาดกับห้องสำหรับทำเวิร์กช้อป สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือทำให้ห้องสองห้องสามารถควบรวมเป็นพื้นที่เดียวกันได้กลายเป็นพื้นที่เดียวกัน แล้วใช้วัสดุเบาๆมากั้นแบ่งพื้นที่แทนผนัง ซึ่งเราเลือกใช้เชือกที่สื่อถึงความเป็นวัสดุพื้นบ้านและทะเล” 

โรงเรียนบ้านคลองบอนโรงเรียนบ้านคลองบอน

“ส่วนช่วงคอบันไดตรงกลางอาคาร ด้วยพื้นที่เดิมนั้นเป็นจุดเปลี่ยนระดับของพื้นที่ที่ดิน เรามองว่าในเมื่อพื้นที่มันต่างระดับกัน แทนที่มันจะทำเป็นบันไดธรรมดา เราก็มาปรับเป็นอัฒจันทร์เล็ก ๆ ที่เด็ก ๆสามารถนั่งชมการฉายโปรเจ็กเตอร์สื่อศิลปะบนผนังได้ หรือใช้ในการพรีเซนท์งานต่างๆ เพราะเรามองว่าศิลปะในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่การวาดภาพอย่างเดียว ยังมีทั้ง animation และ digital medias อีกมากมาย เราจึงพยายามสร้างประโยชน์จากสเปซรุปแบบต่างๆของอาคารให้มากที่สุด”

“นอกจากนี้เรายังคุยกับพันธมิตรคือ โรงแรม Intercontinental Resort ที่กำลังก่อสร้างบนเกาะยาวใหญ่ในการที่จะนำนักท่องเที่ยวมาทำเวิร์กช็อปร่วมกับเด็ก ซึ่งก็น่าจะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมได้อีกรูปแบบหนึ่งได้ เราคิดว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ในการสื่อสารกับชาวต่างชาติหรือได้ทำงานร่วมกันโดยตรง ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และอยากให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นในอนาคต เราจึงสร้างพื้นที่ให้เด็กสามารถทำงานหรือแปะผลงานให้ชาวต่างชาติสามารถเดินเข้ามาดูหรือซื้อกลับไปได้ หรือในห้องสมุดนั้นก็สามารถปรับพื้นที่เป็นตลาดนัดชุมชนเล็กๆ ที่นำงานคราฟต์ของคนในชุมชนมาวางจำหน่ายได้ ”   

โรงเรียนบ้านคลองบอน

 

“ในโครงการนี้ เรานำเสนอไอเดียใหม่ๆ สำหรับพื้นที่ศิลปะได้อย่างค่อนข้างอิสระเนื่องจากมันอาจเป็นพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบการเรียนการสอนแบบปกติมากนัก อีกทั้งเขาต้องการพื้นที่ตรงนี้ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย

“ส่วนการแบ่งพื้นที่ห้องเรียนปกตินั้นขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของแต่ละโรงเรียน ถ้าเราออกแบบโดยหลุดจากกรอบมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกับระบบวิธีการสอนของโรงเรียน

“ดังนั้นจุดสมดุลย์ระหว่างรุปแบบดีไซน์ที่เรานำเสนอ กับการใช้งานจริงของคุณครูจึงเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามคิดอย่างรอบคอบ”

– ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Vin Varavarn Architects –

Conceptual design

โครงการนี้มีการปรับรูปแบบของการออกแบบโครงสร้างไปจากแบบเดิมเนื่องจากปัญหาในเรื่องระยะเวลาและแรงงาน โดยสุดท้ายจึงเป็นอาคารที่สร้างด้วยโครงสร้างระบบคอนกรีตสำเร็จรูป และทำให้มีการปรับรูปแบบไปจากเดิม

ม.ล.วรุตม์ ย้ำว่า “ ผมคิดว่าคนทุกคนควรมีโอกาสได้ใช้งานสถาปัตยกรรมที่ดี ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีโอกาสเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราเข้ามาช่วยเพราะอยากจะช่วยให้เด็กๆที่ขาดโอกาสได้มีพื้นที่ที่ใช้งานได้ดีเท่าเทียมกับเด็กที่อื่นๆ ส่วนความสวยงามและสมบูรณ์แบบของผลงานของเรานั้นถือเป็นเรื่องรอง หากรูปแบบมันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยความจำเป็นที่เกิดขึ้น ทั้งการก่อสร้าง งบประมาณ และระยะเวลา เราก็มีหน้าที่ช่วยกันประคับประครองให้มันดีให้ได้มากที่สุดในสถานการณ์ที่มันเป็น

“เมื่อต้องปรับระบบโครงสร้างเป็น Precast concreteรูปแบบอาคารและช่องเปิดต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไปจากแบบที่เราออกแบบไว้เดิมพอสมควร แต่เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นปัญหา หากพื้นที่ภายในยังคงสื่อในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกอยู่ เมื่อโครงสร้างทั้งหมดถูกปรับเป็น Precast การขนย้ายขึ้นเรือมาประกอบต่อกันเหมือน LEGO มันก็สามารถสร้างเสร็จภายในระยะเวลาสองเดือนเท่านั้น ”

Details

 

ภาพวาดและกราฟิกบนผนังอาคาร เป็นผลงานจากความร่วมมือของอาสาสมัครที่ถูกเชิญมาร่วมกันทำกิจกรรมในช่วงโค้งสุดท้ายของการก่อสร้าง
ภาพวาดและกราฟิกบนผนังอาคาร เป็นผลงานจากความร่วมมือของอาสาสมัครที่ถูกเชิญมาร่วมกันทำกิจกรรมในช่วงโค้งสุดท้ายของการก่อสร้าง
ภาพวาดและกราฟิกบนผนังอาคาร เป็นผลงานจากความร่วมมือของอาสาสมัครที่ถูกเชิญมาร่วมกันทำกิจกรรมในช่วงโค้งสุดท้ายของการก่อสร้าง
ภาพวาดและกราฟิกบนผนังอาคาร เป็นผลงานจากความร่วมมือของอาสาสมัครที่ถูกเชิญมาร่วมกันทำกิจกรรมในช่วงโค้งสุดท้ายของการก่อสร้าง
ผนังอาคารทั้งภายในและภายนอกตกแต่งด้วยไม้ไผ่ วัสดุที่ใช้ต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา และขนย้ายง่าย แต่ช่วยให้เกิดผิวสัมผัสและแพตเทิร์นที่น่าสนใจได้เช่นเดียวกัน
ผนังอาคารทั้งภายในและภายนอกตกแต่งด้วยไม้ไผ่ วัสดุที่ใช้ต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา และขนย้ายง่าย แต่ช่วยให้เกิดผิวสัมผัสและแพตเทิร์นที่น่าสนใจได้เช่นเดียวกัน
 ประตูและหน้าต่างเลือกใช้โพลีคาร์บอร์เนตแทนกระจก
ประตูและหน้าต่างเลือกใช้โพลีคาร์บอร์เนตแทนกระจก
ห้องสมุดสเปซสูงโปร่งตามลักษณะของที่ดินซึ่งอยู่ในระดับต่ำว่าห้องเวิร์กช็อป ออกแบบพื้นที่โดยใช้เฟอร์นิเจอร์แบบมีล้อเลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย เพื่อการปรับเปลี่ยนโหมดการใช้งานตามความต้องการ
ห้องสมุดสเปซสูงโปร่งตามลักษณะของที่ดินซึ่งอยู่ในระดับต่ำว่าห้องเวิร์กช็อป ออกแบบพื้นที่โดยใช้เฟอร์นิเจอร์แบบมีล้อเลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย เพื่อการปรับเปลี่ยนโหมดการใช้งานตามความต้องการ
เสื่อลวดลายต่าง ๆ ที่สถาปนิกเลือกใช้ในห้องสมุด เป็นงานจักสานจากวัสดุท้องถิ่นภาคใต้อย่าง “เตยปาหนัน” ซึ่งเป็นงานฝีมือจากภูมิปัญญาดั้งเดิม นี่เองก็เป็นการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนที่ยังคงสืบสานงานหัตถกรรมพื้นถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
เสื่อลวดลายต่าง ๆ ที่สถาปนิกเลือกใช้ในห้องสมุด เป็นงานจักสานจากวัสดุท้องถิ่นภาคใต้อย่าง “เตยปาหนัน” ซึ่งเป็นงานฝีมือจากภูมิปัญญาดั้งเดิม นี่เองก็เป็นการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนที่ยังคงสืบสานงานหัตถกรรมพื้นถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

Plan, Section, and Elevation

ผู้ริเริ่มโครงการ: The Build Foundation
ผู้สนับสนุน: Intercontinental Yao Yai Resort
ก่อสร้าง: OK19 Construction Company
ออกแบบ: Vin Varavarn Architects
ผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ในงานก่อสร้าง: Suntech roof, Boonthavorn, Trusol 
เรื่อง: นวภัทร
ภาพ: Ketsiree Wongwan

ชมผลงานของ Vin Varavarn Architects เพิ่มเติมได้ที่
Desinger Directory  | Vin Varavarn Architects