Covid19 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนทั้งโลกไปในเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน และไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งในช่วงแรกนั้นต้องบอกเลยว่าทุกๆคนต่างก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก
อ่าน : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับงานสถาปัตยกรรมและผังเมือง
แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มดีขึ้น เราก็ได้เห็นว่ามีหน่วยงานหนึ่งได้นำเสนอ “มาตรการการออกแบบวางผังพื้นที่อาหารของเมือง” ให้ร้านอาหารและแหล่งอาหารได้นำไปใช้ ด้วยรูปแบบและวิธีคิดที่น่าสนใจ วันนี้เราจึงได้ขอพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลัง และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ Covid19 โดย คุณปูน ปรีชญา นวราช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่าย urban design and development ของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) หรือที่เรามักจะได้ยินในชื่อ UDDC นั่นเอง
room : จากตัวอย่างแนวทางมาตรการการออกแบบวางผังพื้นที่อาหารของเมือง 4 รูปแบบนั้น อยากทราบถึงแนวคิดเบื้องหลัง หลักคิด ก่อนที่จะกลายมาเป็นแนวทางทั้ง 4 ของ UDDC
UDDC : ต้องเกริ่นก่อนว่า UDDC นั้นมีความสนใจในการออกแบบเมืองอยู่แล้ว มันคือการออกแบบเพื่อคนที่อยู่อาศัยในนั้นจริงๆ ยกตัวอย่าง บ้านเดี่ยวเราออกแบบให้คน สองถึงสามคน ห้าหกคนสำหรับครอบครัวขยายที่จะรองรับการใช้ชีวิต แต่เมื่อมันเข้าสู่เรื่องของเมืองมันก็คือที่อยู่อาศัยที่มีคนอยู่ข้างในมากกว่า การที่มีคนมากขนาดนี้จึงมีประเด็นของความหลากหลายเพิ่มเข้ามาจนไปถึงความเหลื่อมล้ำ และด้วยเหตุการณ์ Covid-19 ที่ได้มีการปิดเมือง Lock Down ก็ทำให้ประชากรเมือง โดยเฉพาะประชากรแฝนเกิดปัญหา ซึ่งกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเดินทางได้ หรือเศรษฐกิจที่กระทบไปหมดทั้งรายใหญ่รายย่อย ก็ทำให้ทีมมองว่า เรื่องแรกเลยที่คนต้องกระทบแน่ๆคือเรื่อง “ปากท้อง” UDDC ก็เลยมานั่งวิเคราะห์กันถึงหนทางแก้ปัญหาจากตัวเลือกของการบริโภคในเขตเมืองว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง
เราได้นำเอารูปแบบของตัวเลือกต่างๆมาจับกับพฤติการการรับประทานอาหารของคนไทยที่เน้นการแชร์พื้นที่ระหว่างกัน แล้วแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ก็ได้ออกมาเป็น 4 แหล่งด้วยกันนั่นก็คือ ตลาด และ ฟู๊ดคอร์ท ซึ่งส่วนนี้มันช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีเพราะเป็นการรูปแบบที่อิงกับความเป็นย่านและชุมชน ทำให้คนไม่ต้องวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางของเมือง รูปแบบถัดมาก็คือ ร้านอาหารขนาดเล็ก อย่างพวกห้องแถว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ จะสามารถอยู่รอดกับข้อจำกัดด้วยขนาดและปริมาณที่นั่งที่น้อยลงได้หรือเปล่า ซึ่งรูปแบบสุดท้ายคือ แผงลอย ที่เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนเมืองจริงๆ กลุ่มคนในส่วนต่างๆของประชากรแฝงล้วนต้องใช้บริการแผงลอยเหล่านี้
ถ้าถามว่าทำไมเราถึงนำเสนอเรื่องแหล่งอาหารก่อน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็ฯเรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องที่ชัดเจน ตรงนี้ก็เลยเป็นเหมือน “สารตั้งต้น” ที่จะทำให้ทุกๆคนตระหนักมากขึ้นกับการออกแบบที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ในระดับเมือง และไม่ใช่แค่นักออกแบบที่จะมีส่วนทำให้เมืองสามารถเดินต่อไปได้ การปรับตัวของคนอย่างการเลือกใช้บริการแหล่งอาหารในย่านชุมชนของตัวเองโดยไม่เดินทางเข้าเมืองก็เป็นสิ่งช่วยได้เช่นกัน
room : ถ้าหากว่าการออกแบบวางผังพื้นที่อาหารของเมือง 4 รูปแบบนั้นกลายเป็นมาตรฐานใหม่แล้ว UDDC คิดหรือไม่ว่า ต่อไปในอนาคตรูปแบบของการวางผังต่างๆนี้ จะเปลี่ยนไปตลอดกาล
UDDC : ตอนนี้เราพูดถึง New Normal กันอยู่ตลอดเลย แต่มันเป็นเรื่องของพฤติกรรม และพฤติกรรมของเมืองนั้นเป็นธรรมชาติที่จะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา Covid-19 เป็นเพียงเหมือนสารกระตุ้น อย่างตัวปูนเองที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่ UDDC ทุกวัน ปกติเรารู้สึกว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพคือการที่จะต้องเข้าออฟฟิสถูกต้องไหมคะ การมาออฟฟิสเพื่อพบปะกันเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่พอช่วงที่ต้อง Work From Home ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าวิธีการนี้ไม่ได้ลด Productivity ของเราลงเลย ทุกคนยังทำงานได้อย่างดี พฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของเมืองในระยะยาวได้ ซึ่งจะไปส่งผลกับการรวมเข้าสู่ศูนย์กลางที่เคยเป็นกระจุกของความหนาแน่นให้เริ่มกระจายออกเป็นย่านแทน
ซึ่งถ้าจะพูดว่าจะมาตรฐานเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบในอนาคตไปตลอดกาลเลยไหม…ปูนคิดว่า มันเป็นคำถามที่ตอบได้ยากมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้ คือถ้าจะบอกว่า “ตลอดกาล” เลยก็ปูนว่าคงจะไม่ใช่ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Resilience หรือความยืดหยุ่นในการออกแบบ เช่นเมื่อคนเริ่มกระจายออกไปอยู่ชานเมือง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีกำลังมากพอจะเป็นเจ้าของอสังหาฯอย่างบ้านเดี่ยวได้ จึงต้องกลับมามองถึงเรื่องความหนาแน่นของเมือง การออกแบบเมืองและเรื่องเศรษฐกิจมันผกผันขมวดกันอยู่มาก แต่ ณ วันนี้ทุกๆคนก็เริ่มตระหนักและสนใจกันมากขึ้นแล้ว มันอาจไม่ได้เปลี่ยน Norm ใดๆในระยะยาว แต่ก็เปิดทางไปสู่มุมมองใหม่ๆมากขึ้น
ปูนเคยได้คุยกับอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ที่มีวิกฤติ Pm2.5 เราก็เลือกที่จะให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ในอาคารกัน แต่พอมีเรื่อง Covid19 เราก็พยายามให้คนเปิดรับอากาศจาก Outdoor ฟังดูแล้วเหมือนมันย้อนแย้ง แต่ถ้ามองว่าการออกแบบเป็นเรื่องของฤดูกาล เราจะเห็นพลวัตรที่ทำความเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งการออกแบบจะต้องมองหาพื้นที่ “กึ่ง” กันมากขึ้น พื้นที่ซึ่งยืดหยุ่นในการรองรับปัญหาเหล่านี้ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้
เพราะฉะนั้นแล้ว มันคงไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบไปตลอดกาล ปัจจัยมันมีมากกว่านั้น แต่เราคงได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว และมีความ “ยืดหยุ่น” ในการออกแบบมากกว่าเดิม
room : การออกแบบพื้นที่อาหารที่ UDDC ได้ทำนั้น ได้มีการนำไปใช้จริงในพื้นที่ใดบ้างหรือยังครับ มีต้นแบบหรือการทดลองที่พิสูจน์ผลลัพธ์ได้บ้างหรือไม่?
UDDC : เรื่องของผลลัพธ์ต้องบอกก่อนว่าในการจัดทำมาตรฐานสำหรับร้านเหล่านี้ เราได้เก็บข้อมูลและลงพื้นที่จริงๆจากหลายแหล่ง ทั้งมาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุข และการลงไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และศึกษาพฤติกรรมจริงๆจากสามแหล่งด้วยกัน คือย่านตลาดพลู ศูนย์อาหารต่างๆ และผู้ประกอบการอาหารแบบแผงลอย เรามีเครือข่ายที่อ่อนนุช 69 กับบางขุนเทียน 70 ซึ่งพอเราลองเสนอวิธีการเหล่านี้ลงไปเค้าก็ตอบรับกลับมามันคือการ “ประนีประนอม” เพื่อให้การใช้งานรูปแบบมาตรฐานใหม่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ เค้าถอยได้แค่ไหน ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน งานออกแบบนี้ระยะมันค่อนข้างสั้น เพราะจุดประสงค์หนึ่งนอกจากความปลอดภัยแล้วคือการ “กระตุ้นสังคม” และที่สำคัญคือ “สร้างความเชื่อมั่น” ให้ลูกค้ากลางที่จะกลับมาใช้บริการร้านอาหาร ให้เค้ามั่นใจความปลอดภัยว่าถูกสุขลักณะจริงๆ
ปูนเลยมองว่าสิ่งที่เราทำมันคือ Design Intervention นะคะ คืออย่างน้อยมันได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ร้านค้าต่างๆเริ่มปรับตัว แล้วสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจของคนในละแวกได้มากขึ้น
room : คิดว่านอกจากมาตรการใหม่เกี่ยวกับ “พื้นที่อาหารของเมืองแล้ว” ต่อไปพื้นที่อื่นๆจะต้องเกิดการปรับตัวแล้วกลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้วยหรือไม่? เช่นพื้่นที่ทำงาน หรือ พื้นที่ทางการศึกษา
UDDC : เรื่องนี้จริงๆเป็นงานวิจัยของ UDDC อยู่แล้ว แต่ที่เราโฟกัสเรื่องตลาดก่อนเพราะมันเป็นเรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องที่เห็นผลชัดเจนเมื่อปล่อยออกไปแล้วมันสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งในอนาคตก็จะมีในส่วนอื่นๆ เช่นในทางการศึกษา…อย่างปูนเองได้มีโอกาสไปตรวจงานวิทยานิพนธ์ของคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อช่วงที่ผ่านมา พอมีเหตุการณ์ Covid19 ก็ทำให้ไม่สามารถจัดขึ้นในแบบเดิมได้ การใช้โปรแกรมประชุมระยะไกลอย่าง Zoom ก็เข้ามามีบทบาท แต่ปรากฏว่าพอได้ลองทำไปแล้วมันได้รับ Positive Feedback ที่ค่อนข้างดี เพราะสิ่งนี้ได้พิสูจน์ว่าการเรียนรู้หรือการเข้าถึงระบบการศึกษานั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่การลงทะเบียนเรียนอีกต่อไป เราเห็นคนเข้ามาดู Live ของการนำเสนอวิทยานิพนธ์เยอะมาก แล้วคนจากนานาประเทศโดยเฉพาะกรรมการวิทยานิพนธ์ก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมา ปรากฏการณ์ที่เกิดจาก Covid19 ได้ทำให้เรารู้ว่าอิสระแห่งการเรียนรู้โดยไม่ได้ถูกจำกัดด้วยรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเข้าไปเปลี่ยน Norm เปลี่ยน Mindset ของการเรียนรู้ได้ในที่สุด ซึ่ง UDDC เองก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับ “พื้นที่เรียนรู้แห่งอนาคต” เอาไว้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำงานในอนาคต การมาถึงของ VR AR หรือ MR สิ่งเหล่านี้จะเริ่มเข้าไปเปลี่ยนไม่ใช่แค่เพียงสำนักงานที่เราทำงาน แต่ Co-Working Space ที่เคยเป็นผังเปิดแบบ Open Plan ก็อาจต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
เหมือน Covid19 มันไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนเรา แต่เป็นสิ่งที่มากระตุ้นให้ได้ลองปรับ ลองเปลี่ยน แล้วทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะมีหลายอย่างที่จะเปลี่ยนไป แต่เป็นเพราะว่าได้เริ่มได้ลองแล้วเห็นว่าดีมากกว่า
room : สุดท้ายแล้ว Covid19 ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เราบ้างในความคิดของคุณปูน
UDDC : สิ่งที่ Covid19 ได้บอกกับเราคือ เมื่อเป็นเรื่องของเมืองแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องของทุกคน วันนี้ทุกคนต่างมีบทบาทในการปรับตัว และฟื้นฟูเศรฐกิจเมืองขึ้นมาอีกครั้ง UDDC เองก็สวมหมวกของนักออกแบบ ก็มีหน้าที่ออกแบบกายภาพ สร้างแรงบันดาลใจต่างๆ นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำ แต่สิ่งที่มันมากกว่านั้นคือการที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันในบทบาทของตัวเองเพื่อให้เศรฐกิจมันฟื้นกลับมาอีกดครั้ง ความยากตรงนี้คือการลงไปสู่ความเป็นจริง มันเป็นเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่เพียงระยะสั้นๆ แต่คือการร่วมใจของทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยกันทั้งฟื้นฟู และพัฒนาต่อไป
ตัวอย่างใกล้ตัวก็อย่างเช่นเรื่องของร้านแผงลอยที่ถ้าเค้ามาเปิดบนทางเท้า เค้าก็ผิด ภาครัฐก็ต้องไปจับเค้า แต่ให้เค้าทำยังไง? เรามีพื้นที่รองรับให้เค้าหรือเปล่าในกรณีนี้ นี่คือตัวอย่างของการบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างความประนีประนอมและทางออกที่เป็นไปได้อย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น
ซึ่งสุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ Covid19 ได้ทำให้เรารู้ว่า เมืองกับเศรษฐกิจและผู้คนนั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันหมด แต่ทุกๆอย่างสามารถปรับตัวได้ บางครั้งเราก็ได้พบกับวิธีการใหม่ๆจากวิกฤติ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดีในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สุดท้ายเราเอง UDDC เองเมื่อได้ปล่อย “มาตรการรูปแบบของแหล่งอาหาร” ทั้งสี่แบบออกไปแล้วเป็นประโยชน์กับสังคม เราก็รู้สึกดีที่ช่วยอะไรกลับไปสู่สังคมได้บ้าง
และนี่ก็คือแนวคิดดีๆจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) หรือ UDDC ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพาสังคมไปสู่ทางออกร่วมกันกับเหตุการณ์ Covid19 ในครั้งนี้
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพประกอบ : UddC
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center -UddC)
มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านยุทธศาสตร์เมือง (Urban strategies) ให้บริการคำปรึกษาด้านการพัฒนาเมืองแบบครบวงจร ที่ตั้งอยู่บนฐานหลักแห่งวิทยาการวางผังที่ล้ำหน้า ประกอบด้วย การมองภาพอนาคต (Foresight technic) การวางแผนแบบร่วมหารือ (Deliberative planning) และวิทยาศาสตร์การข้อมูล (Data science) เพื่อตอบสนองความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเมืองแห่งอนาคต อันจะนำไปสู่ข้อเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม