ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ นครสวรรค์ “บ้านแห่งการบำบัดรักษา” ที่ปลูกแบบเรือนขยาย โดย สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์
ในยามที่ผู้คนเจ็บป่วย จิตใจมักถดถอยตามไปด้วย การรักษาที่ดีจึงช่วยบำบัดรักษาในทุกมิติ โดยเริ่มต้นที่การออกแบบโรงพยาบาลให้เป็นสถาปัตยกรรมที่รักษาจิตใจได้ด้วย ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์ แห่งนี้ ออกแบบโดยสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จึงมุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้
“เราจะทำอย่างไรให้อาคารนี้เป็นสถานที่เยียวยารักษาสภาพจิตใจให้ไม่ป่วยตามร่างกายไปด้วย เมื่อเขามาที่นี่ ‘แม้กายจะป่วย แต่ใจต้องไม่ป่วย’ เราจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเยียวยา โดยให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นเหมือน ‘บ้านแห่งการบำบัดรักษา’”
ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ เป็นโรงพยาบาลที่เริ่มต้นเปิดให้บริการ 60 เตียง และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ (คือบริการรักษาโรคโดยแพทย์เฉพาะทาง สาขาต่อยอด ซึ่งมี 4 ศูนย์หลัก คือ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์อุบัติเหตุ และ ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อมุ่งสู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงอายุภายในปี 2571
เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่สร้างพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตเขาทอง อาคารจึงถูกกำหนดภายใต้แนวความคิดของการวางผังและสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้เป็นหนึ่งเดียวและกลมกลืนไปกับชุมชน จึงมีความสูงของอาคารเพียง 2 – 3 ชั้น และเป็นอาคารที่ถ่อมตัวไปกับธรรมชาติ มีการออกแบบโรงพยาบาลให้มีเรือนเป็นหลัง ๆ เพื่อความสอดคล้องกับงบประมาณที่จะได้รับเป็นระยะ ๆ เป็นการค่อย ๆ สร้างไปจนกว่าจะสมบูรณ์ครบทั้งหมด ซึ่งคล้ายกับความเป็นอยู่ของชุมชนเขาทอง หรือลักษณะแบบไทย ๆ ที่มีการปลูกเรือนและขยายเรือนไปได้เรื่อย ๆ โดยเชื่อมกันด้วยชานหรือระเบียง ซึ่งออกแบบด้วย 6 แนวความคิด คือ
1. บ้านในสวน สวนในบ้าน (ธรรมชาติบำบัด)
จากลักษณะอาคารที่ แยกเป็นเรือน ๆ ต่อเชื่อมด้วยชานและระเบียง ทำให้มีพื้นที่ระหว่าง อาคารที่กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้มากมาย รวมถึงตั้งใจสร้างพื้นที่คอร์ตธรรมชาติ ทั้งคอร์ตน้ำล้น ขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่ต้อนรับ คอร์ตต้นไม้บริเวณ แผนกผู้ป่วยนอก ทำให้กลายเป็นบ้านที่แวดล้อม ไปด้วยพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ธรรมชาติในทุกจุด
2. บ้านที่มีห้องรับแขกสำหรับ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่น้อง และเพื่อน (มิตรภาพบำบัด)
ความเป็นคนไทยคือความเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่คนหนึ่งคนมักมาพร้อมด้วยญาติมิตรอีกหลายคน เชื่อมโยงกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (โครงการ Harvard Study of Adult Development) ที่บอกว่า ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ใช่ชื่อเสียง หรือเงินทอง แต่กลับเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน มนุษย์และญาติพี่น้อง การออกแบบจึงเตรียมพื้นที่ รองรับญาติและมิตรสหาย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับ ปฏิสัมพันธ์ “ปรับทุกข์ผูกมิตร” เป็นพื้นที่พักผ่อน ปล่อยใจ คลายทุกข์ ใกล้ชิดธรรมชาติ รองรับวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่
3. ห้องพระในบ้าน (จิตวิญญาณบำบัด)
ห้องพระในบ้านคือพื้นที่ให้พลังใจ เป็นศูนย์รวมใจของผู้คน ผู้ออกแบบได้ตีความว่า เป็นพื้นที่ที่มีรูปเคารพหรือมีข้อความที่สร้าง แรงบันดาลใจได้ ใช้สัญลักษณ์อันเป็นที่ยึดเหนี่ยว ของชาวมหิดลด้ว ยการประดิษฐานพระรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผน ปัจจุบันของไทย ณ ใจกลางพื้นที่ต้อนรับ และ เตรียมพระพุทธรูปสำหรับประดิษฐานตามที่ต่างๆ
4. ทำโรงพยาบาลให้เป็นบ้าน บ้านของชาวบ้าน บ้านที่พวกเขาคุ้นเคย (สถาปัตยกรรมบำบัด)
ใช้ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมมา เยียวยาผ่านการใช้สัดส่วนอาคารที่สัมพันธ์กับ มนุษย์ (Human Scale) ใช้วัสดุ รูปแบบ และ สัดส่วนที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึก แปลกแยก และเกิดความอบอุ่นเสมือนว่าอยู่ที่บ้าน
5. เราไม่เคยหลงทางในบ้านของเรา
ออกแบบเส้นทางสัญจรให้มีความชัดเจน เข้าใจง่าย โดยการกำหนดคอร์ตต่างๆ ที่เรียง ต่อกันในทิศทางยาวซึ่งสามารถมองเห็นไปได้ พร้อมๆ กัน เมื่อเข้ามาภายในอาคารจะรู้ตำแหน่ง ของตัวเองและรู้ทิศทางเข้า-ออกที่ชัดเจน
6. บ้านที่อยู่สบาย
การกำหนดให้วางอาคารเป็นเรือนแยกกัน เป็นหลังๆ เชื่อมกันด้วยชานและระเบียง ช่วย ทำให้มีการระบายอากาศที่ดี มีลมโชยเข้ามาได้ ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็วางอาคารทางยาวให้ หลบแดด อาคารจึงมีลักษณะโปร่งโล่งอยู่สบาย และประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ มากเกินจำเป็น รวมถึงไม่ต้องเปิดไฟให้แสงสว่าง ตอนกลางวันในหลายพื้นที่
ผู้ออกแบบ งานสถาปัตยกรรม : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์
ที่ปรึกษา : คุณธีรพล นิยม
สถาปนิกผู้ออกแบบ : คุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
สถาปนิกผู้ช่วย : คุณวิศรา ผดุงสัตย์
งานสถาปัตยกรรมภายใน : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ โดยคุณณัฐติยา ประภาศิตศิลป์, คุณกีรติกา ดาวเวียงกัน, คุณอดิศักดิ์ โกเมฆ และคุณชวณัฐ ปัญญาใหญ่
เรื่อง: ศรายุทธ ทิพย์อาสน์
ภาพ: สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ และ WISON TUNGTHUNYA & W WORKSPACE