“ไม้ไผ่เป็นวัสดุใช้งานชั่วคราว ราคาถูก มอดกิน” ความเข้าใจเช่นนี้ กลายเป็นความท้าทายของ คุณอมรเทพ คัชชานนท์ ในการพัฒนาวัสดุธรรมชาติให้ตอบโจทย์เรื่องของคุณภาพวัสดุ ใช้ทนทานและใช้งานได้ดี
จากการปัญหาเบื้องต้น Bambunique ยังพัฒนาไม้ไผ่ในมิติของความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ได้อย่างน่าชื่มชม ด้วยเทคนิคเฉพาะที่เหมาะกับวัสดุ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไม้ไผ่ในระดับสากล ทั้งงานแฟร์ในฝรั่งเศส และไทย ได้รางวัลทั้งจากไทยและญี่ปุ่น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานตกแต่งโรงแรมระดับไฮเอนท์ ร้านอาหารในต่างประเทศ และคอนโดหรูกลางย่านสาทร
room: จุดเริ่มต้นของ Bambunique
“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของ Passion ผสมกับความท้าทายมากกว่า คือผมมีความรู้สึกว่าทำไมไม่ค่อยมีคนนำวัสดุธรรมชาติที่มาจากท้องถิ่นของไทยมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสักเท่าไหร่ ผมจึงคิดว่าน่าจะนำวัสดุเหล่านี้มาลองทำอะไรสักอย่าง เลยคิดว่าน่าจะนำงานไม้ไผ่มาแปรรูปเพื่อเป็นวัสดุที่สามารถสร้างมูลค่าได้”
room: วัสดุธรรมชาติก็มีหลายตัว ทำไมถึงเจาะจงว่าเป็นไม้ไผ่
“ตอนแรกผมก็ศึกษาหลายตัวเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หวาย หรือไม่ว่าจะเป็นวัสดุไฟเบอร์ต่างๆ ก็ดี ซึ่งไม้ไผ่เป็นอย่างแรกที่ผมหยิบมาใช้ เนื่องจากมันค่อนข้างจะใกล้ตัวและหาได้ง่าย จากที่ผมทดลองและค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับไม้ไผ่ไปเรื่อยๆ ทำให้ผมรู้ว่าไม้ไผ่มีคุณสมบัติที่ดีและน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับว่าประเทศไทยมีไม้ไผ่อยู่เยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีคนนำมาใช้สักเท่าไหร่ เลยคิดว่าน่าจะเริ่มจากไม้ไผ่”
room: พบปัญหาในการทำงานช่วงเริ่มต้นบ้างไหม
“คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ดูราคาถูก ไม่น่าจะทน และรู้สึกว่าต้องมีปัญหาในเรื่องมอด และแมลงกินแน่นอน ซึ่งผมคิดว่านี้แหละคือความท้าทายที่เราจะหาทางแก้ปัญหาอย่างไร ผมจึงค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการทำทรีนเม้นต์ต่างๆ การแช่น้ำยา การอบเพื่อป้องกันมอด ก็คือต้องแก้ปัญหาในส่วนที่คนส่วนใหญ่กังวลก่อน พอผ่านจุดนั้นไปได้ก็จะรู้สึกว่าเราสามารถก้าวไปอีกขั้นหนึ่งที่คิดว่างานไม้ไผ่จะตอบโจทย์ของการนำไปใช้ได้อีกระยะหนึ่งและเป็นการพัฒนาการแปรรูปได้มากขึ้น”
room: ศักยภาพของไม้ไผ่ที่ค้นพบมีอะไรบ้าง
“จากการทดลองผมพบว่า ไม้ไผ่มีความยืดหยุ่นที่ค่อนข้างสูงและไฟเบอร์ที่ค่อนข้างเยอะ สามารถเอามาดัดได้ ทำเรื่องของการอัดผสานได้ หรือว่าจะนำมาทำเป็นคว้านรัดก็ได้ มันก็เป็นการทดลองเทคนิคใหม่ๆมาเรื่อยๆ ตรงนี้แหละที่เราจะนำมาต่อยอดเป็นงานดีไซน์และการออกแบบที่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เพื่อทดแทนการใช้ไม้จริงหรือไม้เบญจพรรณที่ใช้เวลาในการปลูกประมาณ 20-30 ปีถึงจะนำมาใช้ได้ แต่ไม้ไผ่ใช้เวลาเพียง 3-4 ปี ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย ผมคิดว่ามันตอบโจทย์ของการนำมาเป็นวัสดุทดแทนในปัจจุบันได้ อย่างที่เราเรียกว่า Sustainable Material ไม้ไผ่จึงตอบโจทย์ในด้านการใช้ตรงนี้”
room: ตอนนี้ Bambunique สินค้ามีอะไรบ้าง
“เริ่มแรกเราทดลองนำไม้ไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ก่อน สักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่ามันน่าจะสามารถนำใช้ในงานตกแต่งเพิ่มเติม หรือใช้ทดแทนวัสดุปิดผิวได้ เช่น Wall Decorative Ceiling รวมถึงวัสดุที่เป็นงานตกแต่งภายในต่างๆ ในส่วนของ Bamboo Board, Bamboo Curb หรือแม้แต่องค์ประกอบต่างๆ ของงานดีไซน์ที่มาจากงานไม้ไผ่ ที่ทำให้เกิดมิติใหม่ๆ และการนำไปใช้ให้เกิดมูลค่ามากขึ้น”
room: ต้องทำการการตลาดอย่างไรบ้าง
“เราจะเน้นการนำเสนอในลักษณะที่เป็น Exhibition และ Trade Fair ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่างานไม้ไผ่มีศักยภาพอะไรบ้าง เพราะถ้าเราแค่พูดว่าเราเป็นงานไม้ไผ่คนอาจจะนึกภาพไม่ออก หรืออาจจะยังคิดว่างานไม้ไผ่เป็นงานที่ล้าหลังและไม่มีความทันสมัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการให้คนรู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นก็คือ การทำให้ลูกค้าเห็นถึงการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับการใช้เทคนิค ที่มีความร่วมสมัยและทำให้งานไม้ไผ่ดูแตกต่างจากเดิมได้”
room: มีการจัดการแสดงที่ไหนบ้าง
“ในต่างประเทศตอนนี้ก็จะมีงาน Maison & Object ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานแฟร์แสดงสินค้าและดีไซน์ที่ติดอันดับโลก ซึ่งเราก็เป็นแบรนหนึ่งที่นำเอาวัสดุธรรมชาติของไทย ไปสู่สายตาของชาวต่างชาติ ให้เขารู้ว่าไม้ไผ่ของไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด”
room: เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการงานออกแบบแล้ว เป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างไร
“ผมมองว่า Bambunique อยากจะช่วยผลักดันงานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะไม้ไผ่ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในลักษณะที่กว้างขว้างมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราต้องการให้คนมองเห็นถึงการใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความยากของตลาดในต่างประเทศคือ คนรู้จักงานไม้ไผ่ก็จริง แต่พวกเขายังไม่มั่นใจกับคุณภาพไม้ไผ่เอเชียของเรา ว่ามาตรฐานของเราจะสามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานของสากลได้รึเปล่า เราจึงต้องใช้เวลาถึง 2-3ปี ในการสร้างผลงานและการยอมรับให้มากขึ้น”
“จนถึงปัจจุบันเราก็ยังเจอความท้าทายที่เข้ามาเรื่อยๆ แต่จะเป็นความท้ายที่ขั้นหนึ่ง ไม่ใช่การทักทายของการสร้างความยอมรับ แต่คือการท้าทายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวไปสู่สิ่งที่คนคาดไม่ถึงว่าไม้ไผ่จะสามารถทำได้ จุดเด่นที่ทำให้เราแตกต่างคือ งานดีไซน์และงานคราฟท์ ที่มีศักยภาพพอที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และต่อยอดไปถึงการควบคุมการผลิตที่ไม่ใช่แค่งานคราฟท์หรืองานฝีมือ แต่คือการทำธุรกิจ เพื่อเป็นจุดแข็งที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้”
“เราต้องการให้แบรนด์ไปถึงจุดที่แค่บอกว่า เราเป็นแบรนด์ที่ผลิตวัสดุจากไม้ไผ่แล้วทุกคนอ้าแขนยอมรับโดยไม่เกิดคำถาม เราแค่อยากจะสื่อให้ทุกคนรู้ว่า งานไม้ไผ่สามารถเป็นได้มากกว่าที่ทุกคนคิด”
เรื่อง: สมัชชา
ภาพ: อนุพงษ์